ปริหานสูตร - การเสื่อมจากกุศลธรรม - ๐๓ พ.ค. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 เม.ย. 2551
หมายเลข  8464
อ่าน  2,264

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๓ พ.ค. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๓. ปริหานสูตร

ว่าด้วยการเสื่อมจากกุศลธรรม

[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๖๒


[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๖๒

๓. ปริหานสูตร

ว่าด้วยการเสื่อมจากกุศลธรรม

[๑๔๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปริหานธรรม อปริหานธรรม และอภิภายตนะ ๖ แก่เธอทั้งหลายเธอทั้งหลายจงฟังเถิด ก็ปริหานธรรมมีอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย มีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ถ้าภิกษุให้กิเลสนั้นครอบงำ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นไป ไม่ให้มี ข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า เราย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นความเสื่อม ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อกุศลบาปธรรมทั้งหลายมีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อกุศลบาปธรรมทั้งหลายมีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ถ้าภิกษุให้กิเลสนั้นครอบงำไม่ละ ไม่บรรเทาไม่ทำให้สิ้นไป ไม่ไห้มี ข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า เราย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นความเสื่อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปริหานธรรมมีอย่างนี้แล.

ว่าด้วยความไม่เสื่อมจากกุศลธรรม

[๑๔๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อปริหานธรรมมีอย่างไร อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย มีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ถ้าภิกษุไม่ให้กิเลสนั้นครอบงำ ละ บรรเทา กำจัดให้สิ้นไป ไม่ให้มี ข้อนั้นภิกษุทราบว่า เราย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นความไม่เสื่อม ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย มีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะได้ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อกุศลบาปธรรมทั้งหลายมีความ ดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ ถ้าภิกษุไม่ให้กิเลสนั้นครอบงำละ บรรเทา กำจัดให้สิ้นไป ไม่ให้มี ข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า เราย่อมไม่เสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นความไม่เสื่อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อปริหานธรรมมีอย่างนี้แล.

ว่าด้วยอภิภายตนะ ๖

[๑๔๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อภิภายตนะ ๖ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลบาปธรรมทั้งหลาย มีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า อายตนะนี้เราครอบงำแล้ว อายตนะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นอภิภายตนะ ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อกุศลบาปธรรมทั้งหลายมีความดำริแล่นไป เป็นฝ่ายสังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ. ข้อนั้นภิกษุพึงทราบว่า อายตนะนี้เราครอบงำแล้ว อายตนะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าเป็นอภิภายตนะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะเหล่านี้ เรากล่าวว่าอภิภายต-นะ ๖.

จบ ปริหานสูตรที่ ๓


อรรถกถาปริหานสูตรที่ ๓

ในปริหานธรรมสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ปริหานธมฺมํ ได้แก่ มีความเสื่อมไปเป็นสภาพ. บทว่า อภิภายตนานิ ได้แก่ อายตนะอันอบรมยิ่งแล้ว. ในบทว่า สรสงฺกปฺปา นี้มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ . ชื่อว่า สราเพราะ ซ่านไป อธิบายว่า แล่นไป. ความดำริเหล่านั้นด้วย ซ่านไปด้วย ชื่อ สรสังกัปปา. บทว่า สญฺโญชนิยา ได้แก่ อกุศลธรรมอันเป็นเครื่องผูก คือ เป็นปัจจัยแก่การผูกสัตว์ไว้ในภพ. บทว่า ตญฺเจภิกฺขุ ได้แก่ ข้อนั้น คือ กิเลสชาตที่เกิดขึ้นอย่างนี้ หรือได้แก่อารมณ์นั้น. บทว่า อธิวาเสสิ ได้แก่ ยกอารมณ์มาให้อยู่ในจิต. บทว่า นปฺปชหติ ได้แก่ ย่อมไม่ละ ด้วยการละฉันทราคะ พึงประกอบกับบททั้งปวงอย่างนี้. บทว่า อภิภายตนํ นเหติ วุตฺตํ ภควตา นี้ตรัสว่า อภิภายต-นะนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอบรมยิ่งแล้ว. ในที่นี่พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงถามจำแนกธรรม จึงทรงแสดงถึงธรรมโดยปุคคลาธิษฐาน

จบ อรรถกถาปริหานธรรมสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 28 เม.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
spob
วันที่ 28 เม.ย. 2551

ฏีกาปริหานสูตร

ข้อที่ว่า ปริหานสภาวํ มีความเสื่อมไปเป็นสภาพ หมายความว่า มีความเสื่อมไปจากธรรมไม่มีโทษเป็นสภาพฯ

ข้อที่ว่า อภิภวิตานิ ครอบงำ (๑) ได้แก่ อายตนะที่ถูกควบคุมได้ โดยอาการที่ไม่มีการเสพผิด (คือเห็นผิด)

ข้อทีว่า สรสงฺกปฺปา ความดำริที่แล่นไป ได้แก่ การดำริโดยความเป็นสภาพไม่ตั้งมั่นในทุกๆ อารมณ์นั้น

ข้อที่ว่า สํโยชนิยา แก้เป็น สํโยเชตพฺพา ควรแก่การผูกสัตว์ไว้ฯ

ก็ภิกษุ เมื่อให้สังโยชน์ได้โอกาสเกิดขึ้นบ่อยๆ ชื่อว่า ย่อมครอบครอง (คือถือเอา, ยึดถือ) กิเลสชาตไว้ (๒) ฯ กิเลสชาต ก็คือ กิเลสนั่นแหละ ฯ ส่วนถ้าแก้บทว่า ตํ ได้แก่ อารมณ์ จะได้ความหมายว่า ภิกษุ เมื่อกระทำอารมณ์เข้าไว้ในจิต ชื่อว่า ย่อมครอบครองอารมณ์ไว้ฯ เธอนั้น ไม่ยอมละอารมณ์ โดยการละฉันทราคะ (ในอารมณ์) , ไม่ยอมละกิเลส โดยการให้ (กิเลส) ถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา นั่นเทียวฯ

ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ตรัสว่า อภิภายตนะ (อายตนะ อันภิกษุ ควบคุมได้แล้ว) โดยคุณธรรมมีการอดกลั้นเป็นต้นฯ

ข้อความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงถามจำแนกธรรม จึงทรงแสดงธรรมโดยปุคคลาธิษฐาน ขยายความทีละบทได้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงถามข้อธรรมว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปริหานธรรมมีอย่างไร? ดังนี้แล้ว เมื่อทรงจำแนกข้อธรรมนั้น จึงทรงแสดงธรรม โดยบุคคล คือ โดยบุคคลาธิฏฐาน โดยนัยมีอาทิว่า ถ้าภิกษุให้กิเลสนั้นครอบงำ ดังนี้ฯ

ฏีกาปริหานสูตร จบ

(๑) ในอรรถกถาฉบับแปลท่านแปล อภิภวิตานิ ว่า อบรมยิ่ง ในที่นี้คิดว่า น่าจะแปลว่า ครอบงำ เพราะ ภู ธาตุที่มี อภิ เป็นบทหน้าท่านให้แปลว่า ครอบงำ , ควบคุม เป็นต้นเช่นในประโยคว่า ลาภสกฺกาเรหิ อภิภูโต ถูกลาภสักการะครอบงำ และประโยคว่า สาว อสฺสทฺธิยสฺส อภิภวนโต อธิปติยฏฺเฐน อินฺทริยํ ศรัทธานั่นเอง เป็นอินทรีย์ เพราะมีสภาพเป็นใหญ่ เพราะควบคุมความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาไว้ได้ฯ ไม่ควรแปลว่า อบรม เพราะอายตนะภายในทั้ง ๖ ตามพระบาลีนี้ ไม่ใช่ธรรมที่ควรอบรมหรือให้เจริญ แต่เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ส่วนธรรมที่ควรเจริญได้แก่ อธิศีลสิกขาเป็นต้น ที่เป็นตัวควบคุมไม่ให้อกุศลบาปธรรมเกิด เพราะการประจวบกันระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก ดังในฏีกาท่านจะแก้บทว่า อภิภวิตํ อายตนํ อธิวาสนาทินาอายตนะ ที่ถูกควบคุม ก็ด้วยการอดกลั้นเป็นต้น ซึ่งจัดอยู่ในอธิศีลสิกขานั่นเอง

(๒) หรือตามที่ท่านแปลไว้ในพระบาลีว่า ให้กิเลสครอบงำ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 29 เม.ย. 2551

ขออนุโมทนาท่าน Spob ที่แปลข้อความจากฏีกาและนำมาเผยแพร่ให้สมาชิก ได้ศึกษา เพื่อการเข้าใจสภาพธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kruphon
วันที่ 29 เม.ย. 2551

สภาพธรรมโดยทั่วไปกล่าวโดยนัยว่าเป็นดุจเดียวกันกับธรรมชาตินั่นเอง คือธรรมชาติเป็นเช่นไร สภาพธรรมก็เป็นเช่นนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 30 เม.ย. 2551

ขอเชิญคลิกอ่าน...

ธรรมะ คือ ธรรมชาติหรือ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 6 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 10 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ