ขณะปฏิสนธิกาลของอัณฑชกำเนิด

 
เรียนถาม
วันที่  28 เม.ย. 2551
หมายเลข  8465
อ่าน  2,129

ในปฏิสนธิกาล ปฏิสนธิจิตนั้นเกิดพร้อมกับรูป ๓ กลาปเล็กๆ คือ หทยรูป กายปสาทรูปและภาวรูป จึงถือว่ามีชีวิตเกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่มีชีวิตแล้ว ถ้าเป็นชลาพุชกำเนิดก็อาศัยครรภ์มารดานั้นเจริญเติบโตต่อไปจนกว่าจะคลอดออกมาเป็นตัว ส่วนอัณฑชกำเนิด ซึ่งก็เป็นคัพภเสยยกกำเนิดเช่นเดียวกับชลาพุชกำเนิด จะมีเปลือกไข่ห่อหุ้มไว้ก่อน แล้วคลอดออกมาเป็นฟองไข่ จากนั้นจึงฟักออกมาเป็นตัวอีกทีหนึ่ง อยากเรียนถามว่า

๑. ในปฏิสนธิกาลของอัณฑชกำเนิดนั้น ถือว่ามีปฏิสนธิจิตและรูป ๓ กลาป ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นฟองไข่ที่อยู่ในครรภ์ใช่หรือไม่ (ไม่ต้องรอให้คลอดไข่นั้นออกมาก่อน หรือรอให้มีจุดดำๆ เกิดขึ้นที่ไข่แดง)

๒. ถ้าใช่ แสดงว่าถ้าเราเอาไข่ที่ได้รับการผสม (ไม่ใช่ไข่ลม) นั้นมาตอก แล้วนำไปเจียวหรือต้ม หรือปรุงเป็นอาหารต่างๆ เพื่อกิน โดยที่เราก็รู้ว่าเป็นไข่ที่ผสมแล้ว เป็นสิ่งมีชีวิตแล้ว ก็เป็นปานาติบาต ได้ชื่อว่าทำลายสิ่งมีชีวิต ใช่หรือไม่ครับ (ส่วนกำลังของปานาติบาตนั้นจะมากหรือน้อยนั่นก็อีกเรื่องนึง อยู่ที่สภาพจิตขณะนั้น)

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 28 เม.ย. 2551

๑. ถูกต้องครับ ๒. ถูกต้องครับ แต่จะครบองค์หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เรียนถาม
วันที่ 28 เม.ย. 2551
ขอบคุณครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 28 เม.ย. 2551

ถ้าหากรับประทานโดยไม่ทราบว่าไข่นั้นได้รับการผสมแล้วพิจารณาจากกรรมบถประกอบด้วยองค์ ๕ ได้แก่

๑. สัตว์นั้นมีชีวิต ๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ๓. มีจิตคิดฆ่า ๔.ทำความพยายามเพื่อจะฆ่า ๕.สัตว์นั้นตายเพราะความพยายามนั้น

ไม่เข้ากรรมบท ๔ ข้อ เข้ากรรมบถข้อเดียวคือ สัตว์นั้นมีชีวิตเป็นอกุศลกรรมที่ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ใช่หรือไม่มีโทษหรือไม่อย่างไรจะนำเกิดให้เป็นผู้มีอายุสั้น?

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 28 เม.ย. 2551

ตอบความเห็นที่ ๔

ถ้าไม่ครบองค์ก็ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ

เมื่อไม่เป็นอกุศลกรรมย่อมไม่มีโทษ (ตามตัวอย่างเรื่องไข่ที่ถามมา)

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 28 เม.ย. 2551

ถ้าเป็นไข่ลมไม่มีสัตว์ปฏิสนธิไม่เป็นปาณาติบาต เพราะไข่ลมเขาไม่ได้ฟักเป็นตัวเป็นไข่ สำหรับกินโดยเฉพาะ ถ้าเป็นไข่ที่มีเชื้อมีการผสมพันธุ์ มีชีวิต ถ้ารู้แล้วยังเอาไปทำกิน เป็นปาณาติบาตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เรียนถาม
วันที่ 28 เม.ย. 2551

คือที่ตั้งกระทู้ถามนี้ ไม่ใช่จะไม่กินไข่ เพราะทราบดีว่าปัจจุบันมักเป็นไข่จากฟาร์มเลี้ยงเป็นไข่ลม หากแต่นึกสงสัยขึ้นมาว่าถ้าเป็นไข่ผสม เมื่อเทียบเคียงกับปฏิสนธิกาล ก็น่าจะนับเนื่องในปานาติบาต และขอเรียนถามเพิ่มเติมจากความเห็นที่ ๖ ตัวผมมีความเข้าใจว่า

๑. อกุศลกรรมนั้น มีทั้งที่ครบองค์อกุศลกรรมบถ และไม่ครบองค์อกุศลกรรมบถ ดังนั้นกำลังของอกุศลกรรมนั้นจึงมีต่างๆ กันไป หากเป็นอกุศลกรรมที่ครบองค์ อกุศลกรรมบถมีกำลังให้ผลในปฏิสนธิกาล แต่ถ้าไม่ครบองค์ของอกุศลกรรมบถ ไม่มีกำลังให้ผลในปฏิสนธิกาล แต่ให้ผลในปวัตติกาลได้ ไม่ใช่เช่นนี้หรือครับ

๒. อกุศลกรรมที่ไม่ครบองค์อกุศลกรรมบถ ถ้ากระทำบ่อยๆ เนืองๆ จะจัดเป็นกตัตตากรรมหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เรียนถาม
วันที่ 28 เม.ย. 2551

เพิ่มเติมจากความเห็นที่ ๘ ตรงคำถามข้อ ๑ คำว่า ไม่ครบองค์นี้หมายถึง มีเจตนา มีการกระทำตามเจตนา แต่ไม่สำเร็จตามเจตนา จึงเรียกว่า อกุศลกรรมที่ไม่ครบองค์อกุศลกรรมบถ มีกำลังให้ผลในปวัตติกาล แต่หากขาดซึ่งเจตนา ก็ไม่ถือเป็นอกุศลกรรมตามที่คุณ study ได้ให้ความเห็นไว้ในความเห็นที่ ๖ มีความเข้าใจเช่นนี้ ถูกหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
suwit02
วันที่ 28 เม.ย. 2551
ขอฟังคำตอบประเด็นใหม่นี้ด้วยคนครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
study
วันที่ 29 เม.ย. 2551

ขอตอบความเห็นที่ ๘ ๑.ถูกครับ ในกรณีที่เป็นกรรมที่ไม่ครบองค์ที่มีเจตนา เช่น ตั้งใจฆ่าสัตว์ แต่สัตว์นั้นไม่ตาย ลักษณะนี้ให้ผลในปวัตติกาล แต่เรื่องไข่ที่ยกมา ไม่มีเจตนาเลยจะเป็นกรรมได้อย่างไร

๒.ความหมาย กตัตตากรรม กว้างมากครับ คือ ในกัมมจตุกะ อธิบายว่า กรรมอื่นที่นอกจากครุกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรมแล้ว เป็นกตัตตากรรมทั้งสิ้น ดังนั้นกรรมที่จะให้ผลนำเกิด ต้องเป็นกรรมที่ครบองค์เท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เรียนถาม
วันที่ 29 เม.ย. 2551

จากตัวอย่างเรื่องไข่ ถ้ากล่าวให้ชัดๆ ดังนี้คือ

๑. กรณีที่เรารู้อยู่ว่าเป็นไข่ที่ผสมแล้ว ไม่ใช่ไข่ลม แล้วจงใจเอามาตอกให้แตกเพื่อปรุงอาหารรับประทาน เช่นนี้ ถือเป็นปานาติบาตที่ครบองค์ใช่หรือไม่ครับ (แต่กำลังของปานาติบาตนั้น ก็ย่อมต่างกันกับการฆ่าช้างอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยต่างกัน เช่น ปโยคะต่างกัน ฯลฯ เป็นต้น)

๒. กรณีที่ไม่รู้ว่าเป็นไข่ผสมหรือไข่ลม เห็นแต่เพียงว่าเป็นไข่ แล้วเราก็เอามาตอกทำอาหารกิน แต่เผอิญไข่นั้นเป็นไข่ผสม (โดยที่เราไม่รู้) กรณีนี้ ถือเป็นอกุศลกรรมบถที่ไม่ครบองค์ และเป็นกตัตตากรรม สักว่าทำไป โดยเจตนาไม่ชัดเจน คือไม่ได้มีเจตนาฆ่าโดยตรง เพราะไม่รู้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต แต่การที่มีเจตนาต่อยไข่นั้นเอง คือมีการกระทำที่จงใจในวัตถุนั้น เป็นอันให้ชีวิตนั้นต้องแตกดับทำลายไป

ซึ่งกรณีที่สองนี้ต่างจากการเดินไปหยิบของแล้วเหยียบมดบนพื้นโดยไม่รู้ไม่เห็น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นอกุศลกรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะขณะนั้นมีเจตนาเดินไปหยิบของ ไม่ได้มีเจตนาเหยียบมด และไม่ได้มีเจตนาที่จะจงใจกระทำใดๆ ในวัตถุนั้น (มด)

ตามความเข้าใจเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 29 เม.ย. 2551

ขอบคุณเรียนถาม ที่ถามแทน

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pornchai.s
วันที่ 29 เม.ย. 2551

คำถาม จาก คห.12

๑. ผมก็มีความเห็น ว่า ครบองค์ปาณาติบาต ครับ

๒. ต้องเรียนถามคุณ study ครับ เพราะอาจจะต้องพิจารณาจาก วินัย ของภิกษุด้วย

ในข้อที่ว่า " มีความสงสัยด้วยความไม่รู้ แต่ยัง ฝืนที่จะกระทำการนั้นๆ "

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
อิสระ
วันที่ 29 เม.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 29 เม.ย. 2551

ถ้าเป็นพระภิกษุ เพียงแค่สงสัยในอาหารแล้วบริโภคก็อาบัติแล้วค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
Idoitforyou
วันที่ 29 เม.ย. 2551

จากความเห็นที่ 12

ข้อ ๑. สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยายามที่จะฆ่า สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ข้อ ๒. สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตคิดจะฆ่า มีความพยายามที่จะฆ่า สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 30 เม.ย. 2551

ลำดับการให้ผลของกรรมมี ๔ อย่างคือ ๑. ครุกกรรม ๒. อาสันนกรรม ๓. อาจิณณกรรม ๔. กตัตตากรรม

๑. ครุกกรรม คือกรรมหนักมาก สามารถให้ผลแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของกรรมในชาติที่ ๒ คือชาติหน้า กรรมอื่นๆ ไม่สามารถกางกั้นการให้ผลของครุกกรรมนี้ได้ ครุกกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือครุกกรรมฝ่ายอกุศล และฝ่ายกุศล ครุกกรรมฝ่ายอกุศล ได้แก่ ฝ่ายชั่ว ฝ่ายบาป ย่อมทำให้ปฏิสนธิในทุคติภูมิในชาติต่อไปอย่างแน่นอน คือไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดียรัจฉานภูมิใดภูมิหนึ่ง ครุกกรรมฝ่ายกุศลได้แก่ ฝ่ายดี ฝ่ายบุญ ย่อมให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิในชาติต่อไปได้อย่างแน่นอน ก้อนกรวดและก้อนเหล็กเมื่อโยนลงในน้ำ ย่อมเที่ยงแท้ต่อการจมลงใต้น้ำฉันใด ครุกกรรมย่อมเที่ยงแท้ต่อการส่งผลให้ปฏิสนธิในภพชาติที่ ๒ คือชาติหน้าได้ฉันนั้น

๒. อาสันนกรรม คือการกระทำสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ไม่ดีในเวลาที่ใกล้จะตาย หรือการระลึกถึงสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ในเวลาที่ใกล้จะตาย อาสันนกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศล อาสันนกรรมฝ่ายอกุศล คือ การกระทำที่ไม่ดี หรือระลึกถึงความชั่วความไม่ดีในเวลาใกล้ตาย อาสันนกรรมฝ่ายกุศล คือการกระทำที่ดี หรือระลึกถึงความดีที่เคยทำไว้ในเวลาใกล้ตาย

๓. อาจิณณกรรม (พหุลกรรม) คือการกระทำสิ่งที่ดีและไม่ดีอยู่เสมอๆ เป็นอาจิณ สั่งสมสิ่งที่ดี และไม่ดีไว้ในสันดานของตนมากๆ หรือแม้แต่ทำกุศลหรืออกุศลไว้เพียงครั้งเดียว แต่ระลึกถึงบ่อยๆ เสมอๆ ที่เป็นกุศลก็สร้างความโสมนัสยินดีให้เกิดขึ้นทุกครั้งที่นึกถึง ที่เป็นอกุศลก็สร้างความเดือดร้อนใจให้เกิดขึ้น อาจิณณกรรมนี้จัดว่าเป็นกรรมที่มีกำลัง เพราะทำซ้ำบ่อยๆ ระลึกถึงบ่อยๆ ย่อมสามารถแซงคิวกรรมอื่นที่อ่อนกำลังกว่าตน แล้วอาจิณณกรรมนี้ก็ทำหน้าที่ส่งผลปฏิสนธิได้

๔.กตัตตากรรม คือกรรมที่สักว่ากระทำไว้ หมายเอากุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่สัตว์บุคคลได้กระทำมาแล้วในชาติก่อนๆ อย่างหนึ่ง (หมายถึง เศษกรรมที่หลงเหลือจากภพอื่นๆ ) และหมายเอากุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่สัตว์บุคคลพากันกระทำในชาตินี้ ที่ไม่เข้าถึงความเป็น ครุกกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรม เป็นกรรมที่กระทำโดยธรรมดา ผู้กระทำไม่มีเจตนาที่หนักแน่น อีกทั้งสิ่งที่กระทำก็มิใช่เนื้อหาสำคัญที่จะทำ

กตัตตากรรม คือกรรมที่นอกเหนือไปจากครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม ซึ่งบุคคลทำไปด้วยอำนาจความไม่รู้ตัวหรือเผลอ ย่อมจะมีวิบาก (ผลกรรม) เกิดขึ้น เหมือนไม้แห้งถูกคนขว้างไป ย่อมลอยเปะปะไปตกที่ใดที่หนึ่งได้ฉันใด กตัตตากรรมก็ฉันนั้น ถ้ากรรม ๓ อย่างนั้นไม่มี กตัตตากรรมก็ให้วิบากในภพหน้า ภพใดภพหนึ่ง ถ้าครุกกรรมมีครุกกรรมย่อมให้ผลปฏิสนธิก่อน ถ้าครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมก็จะให้ผล ถ้าอาสันนกรรมไม่มี อาจิณณกรรมก็จะให้ผล ถ้าอาจิณณกรรมไม่มีอีก กตัตตากรรมจึงจะให้ผลปฏิสนธิ จากที่ค้นมากรรมที่ไม่ได้ตั้งใจก็ให้ผลได้เหมือนกัน...?แต่ที่ไม่ให้ผลเพราะโดยมากมีกรรมตามข้อ๑-๓. เกิดไปก่อน. โอกาสที่เกิดกตัตตากรรม จึงไม่มี..?

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
เรียนถาม
วันที่ 30 เม.ย. 2551

ณ ตอนนี้ ขณะที่ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมอะไรจากทางมูลนิธิฯ จึงยังคงมีความเข้าใจดังที่เรียนไว้ในความเห็นที่ ๑๒ อยู่ หากทางมูลนิธิฯ มีข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ ก็จะนำข้อมูลนั้นมาศึกษาทำความเข้าใจต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
study
วันที่ 30 เม.ย. 2551

ขอตอบความเห็นที่ ๑๒ ครับ

๑.ถ้ารู้แล้วต้องครบองค์ปาณาติบาตครับ

๒.ข้อนี้ควรแยกตอบครับ ในกรณีที่เราตอกใข่กันโดยทั่วไป ไม่มีความคิดว่าเป็นสัตว์มีชีวิตเลย ดังนั้นจะกล่าวว่าเป็นกรรมหรือ? ผมคิดว่าเหมือนกับเราสับผัก สับเนื้อ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
เรียนถาม
วันที่ 30 เม.ย. 2551

ขอขอบพระคุณ คุณ study ครับ

จากความเห็นที่ ๒๐ ข้อ ๒ สำหรับตัวผู้ตั้งกระทู้ เห็นต่างออกไป คือ เห็นว่าน่าจะเป็นกรรม (กตัตตากรรม) คือไม่มีเจตนาโดยตรงที่จะฆ่า ไม่ได้มีจิตอาฆาตมาดร้าย แต่เนื่องจากเจตนาที่จงใจกระทำต่อวัตถุนั้นเป็นเหตุให้ทำลายชีวิตนั้นไป จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่ผิดน่าจะไม่ได้ เหมือนผู้ที่กระทำผิดจะอ้างว่าไม่รู้กฏหมายไม่ได้ หรือ ผู้ที่กระทำบาป จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นบาป เลยไม่ต้องรับวิบากก็ไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากกรณีเดินไปหยิบของแล้วเหยียบมดดังที่เรียนไว้ในความเห็นที่ ๑๒ ซึ่งจะไม่ถือเป็นอกุศลกรรมแต่อย่างใด

ส่วนผลของกรรมนั้นก็ย่อมเบาบางอย่างที่ในความเห็นที่ ๑๘ ได้กรุณาแสดงไว้ ดังนั้นเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีการกระทำอันเป็นกตัตตากรรมด้วยกันทั้งสิ้น อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง บางคนอาจไม่เคยทำกรรมหนักหรือกรรมอื่นๆ แต่กตัตตากรรมย่อมมีการกระทำกันอยู่ทุกคน

จึงมีความเห็นต่างออกไปดังที่เรียนให้ทราบ หากทางมูลนิธิฯ มีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างไร ก็ขอน้อมนำมาศึกษาพิจารณาต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
ajarnkruo
วันที่ 30 เม.ย. 2551

ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะจิตในขณะนั้น ก็รู้ได้ยากมากครับว่า สำเร็จเป็นกรรมหรือไม่หรือว่าเป็น แต่ไม่ครบองค์ หรือว่าไม่เป็น เพราะไม่เกิดเจตนาฆ่า มีแต่เจตนาจะกินเป็นวิบากกรรมของสัตว์นั้นเองที่จะได้ต้องรับ ต้องเป็นสติสัมปชัญญะที่ละเอียด และไวจริงๆ ครับที่จะระลึกในสภาพจิตของตนเอง แต่การสนทนาธรรมให้รู้โดยละเอียดในเรื่องของกรรมแบบนี้ ก็เป็นการเตือนสติที่ดีมากครับ ทำให้ระลึกได้ว่าเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรที่จะประมาทเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 1 พ.ค. 2551

....อนุโมทนา...

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 1 พ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 21 โดย เรียนถาม

ขอขอบพระคุณ คุณ study ครับ

จากความเห็นที่ ๒๐ ข้อ ๒ สำหรับตัวผู้ตั้งกระทู้ เห็นต่างออกไป คือเห็นว่าน่าจะเป็นกรรม (กตัตตากรรม) คือไม่มีเจตนาโดยตรงที่จะฆ่า ไม่ได้มีจิตอาฆาตมาดร้าย แต่เนื่องจากเจตนาที่จงใจกระทำต่อวัตถุนั้นเป็นเหตุให้ทำลายชีวิตนั้นไป จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่ผิดน่าจะไม่ได้ เหมือนผู้ที่กระทำผิดจะอ้างว่าไม่รู้กฏหมายไม่ได้ หรือ ผู้ที่กระทำบาป จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นบาป เลยไม่ต้องรับวิบากก็ไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้แตกต่างจากกรณีเดินไปหยิบของแล้วเหยียบมดดังที่เรียนไว้ในความเห็นที่ ๑๒ ซึ่งจะไม่ถือเป็นอกุศลกรรมแต่อย่างใด

ส่วนผลของกรรมนั้นก็ย่อมเบาบางอย่างที่ในความเห็นที่ ๑๘ ได้กรุณาแสดงไว้ ดังนั้นเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีการกระทำอันเป็นกตัตตากรรมด้วยกันทั้งสิ้น อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากยิ่ง บางคนอาจไม่เคยทำกรรมหนักหรือกรรมอื่นๆ แต่กตัตตากรรมย่อมมีการกระทำกันอยู่ทุกคน

จึงมีความเห็นต่างออกไปดังที่เรียนให้ทราบ หากทางมูลนิธิฯ มีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างไร ก็ขอน้อมนำมาศึกษาพิจารณาต่อไปครับ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำคัญว่ามีเจตนาฆ่าและรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิตหรือไม่ด้วยครับ (กรณีไข่) ถ้ากรณีคนทำผิด แม้ไม่รู้กฎหมายแต่มีเจตนาฆ่าและรู้ว่าสัตว์มีชีวิต ย่อมเป็นปาณาติบาตถ้าครบองค์ อย่างไรก็ตาม ขอนำข้อความพระไตรปิฎกมาพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจและร่วมสนทนาครับ เชิญคลิกอ่านครับ ขออนุโมทนา

อรรถกถาทสกัมมปถสูตร .. ว่าด้วยปาณาติบาต กุรุธรรมชาดก .. ไม่มีจิตคิดจะฆ่าไม่เป็นปาณาติบาต ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
เรียนถาม
วันที่ 2 พ.ค. 2551

ขอบคุณครับ อยากขอความอนุเคราะห์เพิ่มเติมเรื่องกตัตตากรรมว่ามีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาอธิบายไว้อย่างไร ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
pornpaon
วันที่ 2 พ.ค. 2551

ขออนุโมทนาทั้งผู้ตั้งคำถามและผู้ตอบทุกท่านค่ะ

ตัวอย่างที่ยกมาละเอียดอ่อนดีและทำให้เกิดข้อคิดวินิจฉัยได้มาก

ขอบพระคุณ ขอตามอ่านต่อเพื่อร่วมศึกษาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 พ.ค. 2551

จาก ความคิดเห็นที่ 21

" จะอ้างว่าไม่รู้ ไม่ผิด น่าจะไม่ได้ เหมือนผู้ที่กระทำผิดจะอ้างว่าไม่รู้กฏหมายไม่ได้ หรือ ผู้ที่กระทำบาป จะอ้างว่าไม่รู้ว่าเป็นบาป เลยไม่ต้องรับวิบากก็ไม่ได้...."

กรรมคือเจตนา

ผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย มีเจตนาฆ่าหรือไม่?

ผู้ที่กระทำบาป มีเจตนาฆ่าหรือไม่?

พิจารณาที่เจตนาในขณะที่กระทำกรรม

แม้จะอ้างว่าไม่รู้...แต่เจตนามีแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
เรียนถาม
วันที่ 3 พ.ค. 2551

ขอขอบคุณทุกท่านที่แลกเปลี่ยนข้อวินิจฉัยครับ

ดังที่ทราบกันดีว่า เจตนาเจตสิกย่อมเกิดกับจิตทุกดวงแต่ละขณะๆ ไป ผู้ตั้งกระทู้จึงมีความเห็นว่า ขณะที่ตอกไข่นั้นมีเจตนาที่จะกระทำในวัตถุนั้นให้ทำลายไป (เพื่อนำมาเป็นอาหาร) ดังนั้น คำว่า ฆ่า เราอาจคิดว่าต้องมีความคิดร้าย (ซึ่งยิ่งคิดร้ายเท่าไหร่โทษก็ยิ่งมากตามกำลัง) หากแต่บางครั้ง เราอาจไม่มีเจตนาคิดร้าย แต่กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างเช่น กรณีตอกไข่นั้น ไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด แต่ว่ามีการจงใจ มีเจตนาที่จะกระทำให้วัตถุนั้นแตกทำลายไปแล้ว ซึ่งถ้าสิ่งนั้นมีชีวิตก็ชื่อว่าฆ่าสิ่งนั้นแล้วโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงจัดเป็นกตัตตากรรม มีกำลังอ่อน

ต่างจากกรณีเดินไปหยิบของแล้วเหยียบมด โดยขณะนั้นมีเพียงเจตนาเดินเพื่อไปหยิบของ ไม่ได้มีเจตนาที่จะจงใจกระทำใดๆ ต่อวัตถุนั้นเลย (มด) เมื่อไม่ได้มีเจตนาจงใจที่จะกระทำในวัตถุนั้น ก็ย่อมไม่เป็นกรรมของผู้กระทำ

แต่หากมีเจตนาที่จะกระทำในวัตถุนั้นให้ทำลายไป จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม ขณะนั้นชื่อว่า ฆ่า (ตอกไข่) แล้ว แต่ไม่ใช่ด้วยจิตอาฆาตมาดร้าย ซึ่งถ้านับเนื่องเข้าในปานาติบาต ก็เป็นอกุศลกรรมบถที่ไม่ครบองค์ คือไม่รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ไม่ได้มีจิตคิดร้ายในวัตถุนั้น แต่ว่ามีเจตนาทำลายวัตถุนั้นแล้ว มีการจงใจกระทำต่อวัตถุนั้นให้ทำลายไปคือมีเจตนาทำลายไข่นั้น (ตอกไข่)

แต่ถ้ากรณีที่เราไปซื้อไข่นั้น และข้าวของอื่นๆ เช่น ผัก เนื้อ ข้าวสาร เพื่อกลับมาทำอาหาร พอมาถึงบ้านปรากฏว่าไข่นั้นแตกไป เพราะข้าวของต่างๆ กระทบกันขณะเดินทาง (แม้จะระวังและแยกถุงอย่างดีแล้วก็ตาม) อย่างนี้ไม่เป็นกรรมแต่อย่างใดเลยเพราะไม่ได้มีเจตนาจงใจกระทำต่อวัตถุนั้นให้ทำลายไป

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
เรียนถาม
วันที่ 3 พ.ค. 2551

เพิ่มเติมครับ จากกุรุธรรมชาดก มีความเห็นว่า อมาตย์ไม่ได้มีเจตนาจงใจกระทำในวัตถุนั้น (ปู) ซ้ำยังคิดเป็นห่วงปูเสียด้วย กรณีนี้จึงต่างจากการตอกไข่ เพราะมีเจตนาจงใจกระทำในไข่นั้นให้ทำลายไป

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
เรียนถาม
วันที่ 3 พ.ค. 2551
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
กรรม การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาคือ ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตามเช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตายเป็นกรรม แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่ายแล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”
 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
suwit02
วันที่ 3 พ.ค. 2551

หากแต่บางครั้ง เราอาจไม่มีเจตนาคิดร้าย แต่กระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างเช่นกรณีตอกไข่นั้น ไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด แต่ว่ามีการจงใจมีเจตนาที่จะกระทำให้วัตถุนั้นแตกทำลายไปแล้ว ซึ่งถ้าสิ่งนั้นมีชีวิตก็ชื่อว่าฆ่าสิ่งนั้นแล้วโดยไม่รู้ตัวหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

คุณก็บอกอยู่ว่า " ไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด " ส่วน" การจงใจ มีเจตนาที่จะกระทำให้วัตถุนั้นแตกทำลายไปแล้ว " ก็ไม่ใช่เจตนาเบียดเบียนใคร ไม่ต่างกับเจตนาที่เดินไปหยิบของ แต่กลับไปเหยียบมด

สรุปผมยืนยันตามที่พูดไว้แล้วในความเห็นที่ ๕ คือ ถ้าเชื่อว่าเป็นไข่ลม คือไม่มีเจตนาเสียเลย ในตอนนั้น ก็ไม่น่าเป็นอกุศลอะไร แต่ถ้าภายหลังเกิดนึกสงสัย เดือดร้อนใจไปเอง (ไม่น่ามาอ่านให้นึกสงสัยเล้ย !)

ก็คงมีอะไรบ้างละมังครับ แล้วสติไปไหนเอ่ย

ขอพระสัทธรรม ทำให้ใจของคุณเบิกบาน

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 พ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยจากคำกล่าวจากความเห็นที่ที่ 28 ที่ว่า

แต่หากมีเจตนาที่จะกระทำในวัตถุนั้นให้ทำลายไป จะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตามขณะนั้นชื่อว่า ฆ่า (ตอกไข่) แล้ว แต่ไม่ใช่ด้วยจิตอาฆาตมาดร้าย ซึ่งถ้านับเนื่องเข้าในปานาติบาต ก็เป็นอกุศลกรรมบถที่ไม่ครบองค์ คือไม่รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต ไม่ได้มีจิตคิดร้ายในวัตถุนั้น แต่ว่ามีเจตนาทำลายวัตถุนั้นแล้ว มีการจงใจกระทำต่อวัตถุนั้นให้ทำลายไปคือ มีเจตนาทำลายไข่นั้น (ตอกไข่) ตามที่เข้าใจกันคือเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่บางอย่างเป็นกรรมที่เป็นปาณาติบาต แต่บางกรรมไม่เป็นปาณาติบาต ตามคำกล่าวข้างต้นได้แสดงไว้แล้วว่า ไม่รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และไม่ได้มีจิตคิดจะฆ่าด้วย ดังนั้นแล้วจึงไม่ครบองค์จึงไม่เป็นปาณาติบาตเพราะประเด็นในเรื่องนี้กำลังอธิบายว่าเป็นปาณาติบาตหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่ครบองค์ ๕ ข้อแล้ว ขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่เป็นปาณาติบาตแต่เป็นกรรมไหม เป็นกรรมครับ แต่ไม่เป็นกรรมที่เป็นปาณาติบาตและที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นปาณาติบาตนั้น สำคัญคือครบองค์ไหมครับ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่เป็นปาณาติบาต ดังนั้นถ้าไม่รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิตและไม่สนใจองค์ข้อนี้ พระธรรมก็จะแสดงว่าปาณาติบาตมีองค์ ๔ คือรู้ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่อย่างนั้นครับ ปาณาติบาตมีองค์ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 พ.ค. 2551

อีกประเด็นหนึ่ง ประเด็นเรื่ององค์ของปาณาติบาตอีกองค์หนึ่งคือ มีจิตคิดจะฆ่า ดังนั้นต้องพิจารณาว่า กรณีตอกไข่นั้นจำเป็นหรือไม่จะต้องมีจิตคิดจะฆ่าเสมอไปทุกครั้ง ตรงนี้ควรพิจารณา แม้ตั้งใจทำให้แตกจำเป็นไหมว่าจะต้องมีจิตคิดจะฆ่าหรือไม่เสมอไป ถ้าไม่มีจิตคิดจะฆ่าแล้ว ยังไงก็ไม่เป็นปาณาติบาตแน่นอนครับ

กรณีตอกไข่นั้นจำเป็นหรือไม่จะต้องมีจิตคิดจะฆ่าเสมอไปทุกครั้ง พระโสดาบันก็เป็นเพศคฤหัสถ์ ย่อมประกอบอาหารได้ ท่านตอกไข่ ท่านก็ไม่รู้ว่าไข่ผสม มีจิตคิดจะฆ่าไหม?

ไม่แน่นอนครับเพราะพระโสดาบันแม้จิตคิดจะฆ่าก็ไม่มีดังนั้นการตอกไข่ไม่จำเป็นจะต้องมีจิตคิดจะฆ่า แม้จะทำลายวัตถุนั้น ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าถ้าตอกไข่ที่ผสมแล้วถึงแม้ไม่รู้จะต้องเป็นปาณาติบาต สำคัญที่เจตนาคือ เจตนาฆ่าครับมีไหมและ องค์ ๔ ข้อที่เหลือด้วยครับ อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ การกรีดเนื้อ ถามว่าเป็นการทำลายวัตถุใช่ไหมเพราะกรีดเนื้อให้เสียหาย แต่เจตนาต่างกันก็ได้ครับ โจรเอามีดฟันคนนั้นตาย เจตนาฆ่า หมอกรีดเนื้อ (ผ่าตัด) รักษาคนไข้แต่คนไข้ตาย เจตนารักษา การกระทำเหมือนกัน ทำลายวัตถุแต่เจตนาต่างกัน หมอไม่ได้มีเจตนาฆ่า แต่โจรมีเจตนาฆ่า ครับ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าการตอกไข่จะต้องมีเจตนาฆ่าเสมอไปแม้จะทำลายวัตถุนั้นก็ตาม และถ้าไม่มีเจตนาฆ่าย่อมไม่เป็นปาณาติบาตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 พ.ค. 2551

จากคำกล่าวที่ว่า

(แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่ายแล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) ตรงนี้ควรพิจารณาว่าครับว่ากรรมคือ เจตนา มีเจตนาประทุษร้ายหรือเปล่าที่ทำอย่างนั้น

ขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ เช่น ห้องของเราวางของรก เลอะเทอะ เผอิญใครมาเหยียบแล้วหัวฟาดพื้น อย่างนี้เราไม่ได้มีเจตนาประทุษร้าย ไม่เป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลครับ

ในฝ่ายกุศลธรรมบ้างครับ ทิ้งขยะ เช่น ขนม แต่มีสัตว์มากิน เป็นกุศลกรรมไหมที่เป็นไปในทาน เจตนาทิ้งขยะแต่ไม่ได้มีเจตนาให้ครับ จึงไม่เป็นไปในกุศลเป็นไปในทาน

สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ ดังนั้นควรพิจารณากรรมที่มี ๒ อย่างที่ต่างกัน คือ

๑.สหชาตกัมมปัจจัย

๒.นานักขณิกกัมมปัจจัยซึ่งขอยกข้อความในพระไตรปิฎกเรื่องที่แสดงว่ากรรมขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นสำคัญ มีเจตนาฆ่าหรือไม่ เชิญคลิกอ่านครับ ขออนุโมทนา บาปไม่บาปอยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
suwit02
วันที่ 3 พ.ค. 2551

ขออนุโมทนา คุณแล้วเจอกัน

ที่ช่วยให้หลายท่านทำอาหารได้อย่างสบายใจ

ตัวอย่างเรื่องหมอผ่าตัด ชัดเจนแจ่มแจ้งดีครับ

ที่นี่น่ารื่นรมย์

ขอพระสัทธรรม ทำให้ใจของท่านทั้งหลายเบิกบาน

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
เรียนถาม
วันที่ 4 พ.ค. 2551

กรณีของหมอผ่าตัดคนไข้ กับ โจรเอามีดฟันคนไข้ นั้นชัดเจนไม่มีข้อสงสัยครับ แต่ประเด็นเรื่องไข่ เพราะหมอผ่ากรีดเนื้อด้วยเจตนาช่วยคนไข้มิใช่เพื่อทำลายคนไข้ แม้ขณะผ่าตัดคนไข้อาจเสียชีวิต ก็ไม่เป็นกรรมอันเนื่องด้วยปานาติบาตแต่อย่างใด เพราะมิได้มีเจตนาทำลายคนไข้

ส่วนกรณีของไข่ อาจเป็นการตีความในคำว่า ฆ่า ต่างกัน คือ ผู้ตั้งกระทู้เห็นว่า การทำลายในวัตถุนั้น (จะด้วยจิตคิดร้ายหรือไม่คิดร้ายก็ตาม) ก็น่าจะชื่อว่าฆ่า คือทำให้ดับสิ้นไป แตกดับทำลายไป แต่จากประโยคนี้ที่ว่า พระโสดาบันก็เป็นเพศคฤหัสถ์ ย่อมประกอบอาหารได้ ท่านตอกไข่ ท่านก็ไม่รู้ว่าไข่ผสม มีจิตคิดจะฆ่าไหม?

ไม่แน่นอนครับเพราะพระโสดาบันแม้จิตคิดจะฆ่าก็ไม่มี ดังนั้นการตอกไข่ไม่จำเป็นจะต้องมีจิตคิดจะฆ่า แม้จะทำลายวัตถุนั้น ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าถ้าตอกไข่ที่ผสมแล้วถึงแม้ไม่รู้จะต้องเป็นปาณาติบาต

จากประโยคดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ทันที เพราะพระโสดาบันย่อมไม่มีจิตคิดฆ่า ดังนั้น การตอกไข่ จงใจทำให้ไข่นั้นแตกทำลายไป จึงไม่ชื่อว่าฆ่า ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
เรียนถาม
วันที่ 4 พ.ค. 2551

แก้ไขคำผิดในความเห็นที่ 36

กรณีของหมอผ่าตัดคนไข้กับโจรเอามีดฟันคนไข้ นั้นชัดเจนไม่มีข้อสงสัยครับ แต่ประเด็นเรื่องไข่ ตรงประโยคที่ว่า แต่ประเด็นเรื่องไข่ ตรงนี้ต้องตัดทิ้ง เพราะพิมพ์เกินมาครับ

ส่วนกรณีห้องของเราวางของรกเลอะเทอะ แล้วเผอิญมีใครมาเหยียบล้มหัวฟาดพื้น ย่อมไม่เป็นกรรม และไม่เป็นปานาติบาตแต่อย่างใด เพราะปราศจากเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น และในห้องของเราก็ไม่ใช่ที่สาธารณะที่จะมีใครผ่านไปผ่านมามากมาย จึงขาดการคาดหมายว่าจะเกิดอันตรายกับใคร ซึ่งต่างจากกรณีขุดบ่อน้ำที่ท่านได้อธิบายข้อความในวงเล็บไว้ว่า (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) อยากเรียนถามต่อในกรณีนี้ว่า เป็นกรรมอะไรครับ เพราะไม่ได้มีเจตนาประทุษร้าย ก็คงไม่นับเนื่องเข้าในปานาติบาตใช่หรือไม่ แต่การกระทำอันประมาทเลินเล่อ หรือปล่อยปละละเลย ทั้งที่รู้ว่าบ่อน้ำนั้นอาจเกิดอันตรายแก่คนผ่านไปผ่านมาพลัดตกได้ง่าย เช่นนี้แล้วจะเป็นอกุศลกรรมใดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 38  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 4 พ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เข้าใจก่อนครับว่า เจตนาคือกรรม และเจตนาเตสิกเกิดกับจิตทุกดวง

กรรม มี ๒ อย่างคือ

๑.สหชาตกัมมปัจจัย

๒.นานักขณิกกัมมปัจจัย

ตัวอย่างเช่น ขณะที่ทานอาหารอร่อย มีเจตนาไหม มีแต่ไม่เป็นอกุศลกรรมเพราะไม่ครบกรรมบถ เป็นต้น แต่เป็นกรรมเพราะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เรียกว่า สหชาตกัมมปัจัยคือ เจตนาเจตสิกเป็นปัจจัยให้จิต เจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ไม่ได้ให้ผลในขณะต่อไปแต่เป็นเจตนาที่เกิดพร้อมกับจิต เจตสิกเท่านั้น คือไม่ให้ผลเป็นวิบากในขณะต่อไปนั่นเอง

ส่วนนานักขณิกกัมมปัจจัย คือเจตนาที่เกิดกับกุศลหรืออกุศล เช่น เมื่อทำอกุศลกรรมบถครบองค์ เมื่อกรรมนั้นให้ผล วิบากเกิดขึ้น เจตนานั้นนั่นเองเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยเพราะให้ผลในขณะต่อไป ดังนั้นในกรณีที่กล่าวมาคือ (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม) ไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่าหรือประทุษร้าย ไม่เป็นอกุศลกรรม แต่มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นกรรม จึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัยครับ ไม่ใช่ นานักขณิกกัมมปัจจัยที่เป็นอกุศลกรรมครับ ซึ่งต่างจากพรานป่าที่ขุดหลุมดักสัตว์เพราะมีเจตนาฆ่าเพื่อให้สัตว์ตกลงไป เมื่อสัตว์ตกลงไปและตาย ย่อมเป็นอกุศลกรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมกรรมนั้นก็สามารถให้ผลในขณะต่อไปได้ กรรมนั้นเองที่ประกอบด้วยเจตนานั้นจึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยครับ ต่างจากกรณีแรกที่ยกมา ไม่ได้มีเจตนาประทุษร้ายและเจตนาฆ่าจึงไม่เป็นอกุศลกรรมที่จะต้องให้ผล แต่เป็นกรรมที่เรียกว่าสหชาตกัมมปัจจัยเพราะมีเจตนาเกิดร่วมด้วยขณะนั้นกับจิตเจตสิกที่เหลือครับ

ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 39  
 
เรียนถาม
วันที่ 6 พ.ค. 2551

เรียนถามทางมูลนิธิฯ เพิ่มเติม

๑. เจตนาเจตสิกนั้นเกิดร่วมกับจิตทุกดวงโดยสหชาตกัมมปัจจัย ซึ่งไม่ให้ผลเป็นวิบาก เช่น เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากจิต ย่อมไม่ให้ผลเป็นวิบากอีก ตามความเข้าใจเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ครับ

๒. เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมในชวนจิต ซึ่งขณะนั้นย่อมเป็น กุศลจิตหรืออกุศลจิต (สำหรับปุถุชน) หากขณะนั้นมีการกระทำอันล่วงอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ เจตนานั้นก็จะเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัย คือมีกำลังให้ผลเป็นวิบากได้ ถูกต้องหรือไม่ครับ

๓. แม้ในชวนจิตนั้น หากการกระทำนั้นไม่ครบองค์ คือมีเจตนาที่ตั้งขึ้นในอกุศลกรรมบถใดอกุศลกรรมบถหนึ่ง เช่น มีเจตนาฆ่า หรือมีเจตนาขโมย แต่ว่ากระทำไม่สำเร็จ จึงไม่ครบองค์ เช่นนี้ ตามความเข้าใจ เข้าใจว่าเจตนาเจตสิกนั้นก็เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยได้ คือให้ผลเป็นวิบากได้ แต่กำลังนั้นก็อ่อนเบากว่าเจตนาที่ครบองค์ คือ ให้ผลในปวัตติกาลได้ แต่ไม่มีกำลังให้ผลในปฏิสนธิกาล ถูกต้องหรือไม่ครับ

๔. กตัตตากรรม คือ กรรมที่กระทำโดยมีเจตนาอ่อน ไม่แน่ชัด ไม่ได้หวังจะกระทำให้เกิดผลเช่นนั้นๆ อย่างชัดเจน ดังนั้น จากในพจนานุกรมพุทธศาสน์ที่ท่านให้คำอธิบายเรื่อง การขุดบ่อไว้ ทั้งที่รู้ว่าอาจเป็นอันตราย คนหรือสัตว์ตกไปได้ แต่ก็มิได้กระทำการป้องกันหรือล้อมรั้วไว้ จึงทำให้มีคนหรือสัตว์ตกไปตาย เช่นนี้เป็นกตัตตากรรมหรือไม่ครับ

๕. กระทำต่างๆ อันประมาท ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น โดยไม่ได้มีเจตนาชัดเจนที่จะทำร้ายเค้า เช่น อยู่ๆ ก็นึกสนุกขว้างก้อนหินเล่น ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอาจไปโดนคนอื่นได้ แต่ก็ขว้างเล่นไปด้วยความคะนอง ไม่ได้มีเจตนาขว้างใส่คน แต่ขว้างไปในอากาศ แล้วเผอิญหินไปโดนคนเข้า ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือตาย เช่นนี้ เป็นกตัตตากรรมหรือไม่ครับ

๖. จากข้อ ๔ และ ข้อ ๕ ไม่ถือเป็นปานาติบาต เพราะขาดเจตนาที่ตั้งขึ้นในการฆ่า ใช่หรือไม่ครับ

๗. แม้ไม่ใช่ปานาติบาต แต่เมื่อมีการกระทำอันประมาท ดังตัวอย่างที่ยกมาในข้อ ๔ และ๕ ซึ่งถ้าหากเป็นกตัตตากรรมแล้ว ก็ย่อมให้ผลเป็นวิบากได้ คือ เจตนาเจตสิกนั้นเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยได้ แต่มีกำลังอ่อนกว่าเจตนาที่ตั้งขึ้นในอกุศลกรรมบถ ใช่หรือไม่ครับ แต่หากไม่เป็นกตัตตากรรม ก็ไม่ให้ผลเป็นวิบากแต่อย่างใดทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 40  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 6 พ.ค. 2551

จากความคิดเห็นที่18 โดย..JANYAPINPARD..เป็นการตัดข้อความจากที่อื่น.อาจมีสิ่งไม่ถูกต้องขอให้พิจารณาและขออภัยด้วยหากมีผลทำให้ความเข้าใจไม่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 41  
 
study
วันที่ 6 พ.ค. 2551

ตอบความเห็นที่ ๓๙ ๑.,๒.,๓. ถูกต้องครับ ๔.ต้องมีเจตนาจึงจะเป็นกรรม ๕.เหมือนข้อ ๔ ๖.ถูกต้องครับ ต้องเป็นกรรมจึงจะให้ผล

 
  ความคิดเห็นที่ 42  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 6 พ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

๑.ถูกต้องครับ เพราะเจตนาเจตสิกที่เกิดนั้นเป็นชาติวิบาก ย่อมไม่ให้ผลเกิดขึ้น

๒.เมื่อวิบากเกิดขึ้น เจตนานั้นที่ดับไปแล้วจึงเป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยครับ แต่ถ้าผลยังไม่เกิดขึ้น เจตนานั้นแม้ล่วงอกุศลหรือกุศลกรรมบถก็ยังไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจจัยจนกว่าผลจะเกิดขึ้นครับ

๓.เช่นเดียวกับที่ได้อธิบายในข้อ ๒ ครับ

๔.ต้องมีเจตนาประทุษร้ายเบียดเบียนหรือฆ่าครับ

๕.เช่นเดียวกับข้อ ๔ ครับ

๖.ไม่เป็นปาณาติบาตและไม่เป็นกรรมที่จะต้องให้ผลในปวัตติกาลด้วยครับ เพราะไม่มีเจตนาประทุษร้ายและเจตนาฆ่าเลยครับ

๗.ไม่เป็นนานักขณิกกัมมปัจัยเพราะไม่มีเจตนาประทุษร้ายหรือฆ่าเลยครับ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 43  
 
เรียนถาม
วันที่ 7 พ.ค. 2551

ขอบคุณครับ อยากขอความอนุเคราะห์จากทางมูลนิธิฯ ช่วยยกตัวอย่างกรรมที่เป็นกตัตตากรรมสักสองสามตัวอย่าง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 44  
 
study
วันที่ 10 พ.ค. 2551

ขอตอบตามความเข้าใจนะครับ กตัตตากรรม คือกรรมที่นอกเหนือจากกรรมสามอย่างข้างต้น มีครุกรรม เป็นต้นดังนั้น กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ไม่ใช่ประเภทที่กล่าวมาแล้ว เรียกว่ากตัตตากรรมเช่น ใส่บาตรพระ ให้เงินขอทาน หยอดเงินในตู้รับริจาค ฆ่ามด ฆ่าปลวก ฆ่ายุง ฆ่าปลา เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 45  
 
เรียนถาม
วันที่ 10 พ.ค. 2551

ขอบคุณครับ สำหรับประเด็นนี้เห็นไปในทางเดียวกับคุณ study เพียงส่วนหนึ่ง คือกรรมใดที่ไม่ใช่ 3 กรรมข้างต้นเป็นกตัตตากรรม แต่ในสาระสำคัญนั้นมีความเห็นต่างออกไป คือ เท่าที่เข้าใจนั้น กตัตตากรรม ย่อมประกอบด้วยเจตนาที่อ่อน เจตนาไม่ชัดเจน เจตนาที่ไม่หนักแน่นแน่นอนในการกระทำนั้น หรือไม่ครบองค์กรรมบถ หรือไม่ครบองค์แห่งเจตนา หรือที่เรียกว่า อจิตตกะ คือสักว่าทำไป

ดังนั้น ตัวอย่างที่คุณ study ได้กรุณายกมา หากเจตนานั้นอ่อน เช่น ไม่ได้คิดจะใส่บาตร แต่โดนแม่ใช้ให้ใส่ ก็จำต้องลุกขึ้นมาใส่บาตรอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้เห็นด้วยเช่นกันครับว่าเป็นกตัตตากรรม หรือ ขอทานมาขอเงิน รำคาญเลยให้ๆ ไป ตัดความรำคาญไม่ได้เต็มใจให้สักเท่าไหร่ เช่นนี้เป็นกตัตตากรรม หรือ ไม่เคยคิดจะใส่บาตรเลย แต่พอวันเทศกาลเห็นเค้าใส่บาตรกันมาก ก็เลยใส่กับเขาบ้าง แล้วจากนั้นก็ไม่คิดจะใส่อีกเช่นนี้ก็จัดเป็นกรรมเล็กกรรมน้อยเป็นกตัตตากรรม แต่หากตัวอย่างที่คุณ study ยกมานั้น ครบองค์แห่งกรรมบถ หรือ มีเจตนาที่แน่นอนชัดเจนที่จะกระทำ หรือกระทำอยู่เสมอๆ เห็นว่าไม่น่าจะเป็นกตัตตากรรม หรือแม้กรรมนั้นนานๆ กระทำที แต่หากระลึกได้อยู่เนืองๆ เสมอๆ ก็ควรเป็นอาจิณกรรม

และจากตัวอย่างในความเห็นที่ 39 ข้อ 4 และ 5 คือ การขุดบ่อ หรือ การกระทำอันประมาท ยังมีความเห็นต่างไปจากคุณ Study ที่ได้กรุณาตอบไว้ว่าไม่เป็นกตัตตากรรมคือยังเห็นว่าน่าจะจัดเข้าเป็นกตัตตากรรม (แต่ไม่ถือเป็นปานาติบาต เพราะบกพร่องด้วยเจตนาในปานาติบาต)

ต้องขอขอบคุณ คุณ study เป็นอย่างยิ่งครับ หากมีคำชี้แนะเพิ่มเติมในส่วนใดจะกรุณา ขอน้อมพิจารณาเพื่อความชัดเจนอีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 46  
 
พาราระวี
วันที่ 11 พ.ค. 2551

ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดมาก ข้ามไม่ได้เลย......ขออนุโมทนาในสหายธรรมทุกท่านที่ให้ความรู้แก่ข้าพเจ้าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 47  
 
เรียนถาม
วันที่ 12 พ.ค. 2551

เมื่อพิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้ง ทำให้มีความเห็นว่า พระโสดาบันไม่มีเจตนาฆ่าเลย เพราะย่อมไม่ล่วงศีลปานาติบาตอย่างแน่นอน (ปิดประตูอบาย) แต่ว่าสามารถจะมีการกระทำอันเป็นกตัตตากรรมได้ ใช่หรือไม่ครับ

ซึ่งเมื่อย้อนไปในกรณีตอกไข่อีกครั้ง ท่านย่อมไม่มีเจตนาฆ่า ไม่เป็นปานาติบาต แต่ว่าการที่จงใจกระทำในวัตถุนั้น (ไข่) ให้ทำลายไป โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าไข่นั้นมีชีวิต เมื่อจัดโดยกรรมก็น่าจะเป็นกตัตตากรรมอย่างหนึ่ง คือจงใจกระทำต่อวัตถุนั้นโดยปราศจากเจตนาชัดเจน คือไม่ได้มีจิตคิดฆ่าแต่อย่างใด แต่ก็มีการจงใจกระทำให้วัตถุนั้นทำลายไปเพื่อนำมาเป็นอาหาร เป็นกรรมเล็กน้อยมีกำลังให้ผลอ่อน หรืออาจไม่มีโอกาสให้ผลเพราะกรรมอื่นที่มีกำลัง ให้ผลสืบต่ออยู่ตลอดเวลา

ส่วนกรณีที่เจตนาเดินไปหยิบของแล้วเหยียบมดตาย ไม่ถือเป็นกรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น ไม่เป็นกตัตตากรรมด้วย เพราะมิได้มีความจงใจกระทำใดๆ ต่อวัตถุนั้นไม่ว่าจะโดยรู้เท่าถึงการณ์หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อีกทั้งมิได้กระทำการอันประมาทเลินเล่อทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอาจเกิดอันตรายได้ อย่างกรณีขุดบ่อน้ำหรือขว้างก้อนหินเล่นโดยขาดความระมัดระวังป้องกัน ซึ่งกรณีขุดบ่อน้ำหรือขว้างก้อนหินนี้เห็นว่าเป็นกตัตตากรรม (แต่ยังไม่เป็นปานาติบาต)

มีความเห็นว่า การวินิจฉัยนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนหลากแง่หลายมุมต่างๆ กันไป ซึ่งหากทางมูลนิธิฯ มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไร จะน้อมนำมาพิจารณาและจะพยายามทำความเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 48  
 
เรียนถาม
วันที่ 16 พ.ค. 2551

ขอขอบคุณทางมูลนิธิฯ และผู้ดูแลเว็บไซท์ทุกท่าน ที่ได้กรุณาอัพเดทความเห็นของผู้เรียนถาม ขอบพระคุณทางมูลนิธิฯ ผู้ดูแลเว็บไซท์ และทุกท่านที่ได้กรุณาร่วมแสดงความคิดเห็นไว้ ณ ที่นี่เป็นอย่างยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 49  
 
baramees
วันที่ 24 พ.ค. 2551

เจตนาเป็นกรรม เจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวง ไม่จำเป็นจะต้องให้ผล

 
  ความคิดเห็นที่ 50  
 
suwit02
วันที่ 24 พ.ค. 2551
สาธุ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ