ทำอย่างไรจะมีกุศลจิตตลอดเวลา และอย่างไร คือการปฏิบัติธรรม
ขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์ ดังนี้ครับ
1. ทำอย่างไร จึงมีสติ ปัญญา มีกุศลจิต อยู่ตลอดเวลา เพราะในความเป็นจริง มักมีบ้างไม่มีบ้าง ถ้าเช่นนั้นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน น่าจะไม่สะดวก หากมีที่สัปปายะ หรือที่สงบ สะดวกสบายต่อการปฏิบัติ จะดีกว่าหรือไม่ หรืออยู่ที่ปัญญาแต่ละบุคคลมากกว่า หากเป็นเช่นนั้นทำอย่างไรจึงมีปัญญา และมีปัญญามากน้อยแค่ไหนจึงจะสามารถปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริงที่ถูกต้องได้
2. ในการปฏิบัตินั้น จริงอยู่เวลา และสถานที่อาจไม่ใช่ตัววัด ตัววัดที่ควรใส่ใจมากกว่าคือ จิตขณะนั้นเป็นกุศลไหม เป็นบ่อยไหม หรืออกุศลมีมากกว่า และดูว่ามีสภาวธรรมเกิดขึ้นไหม ได้ยินมาดังนี้
จึงอยากขอเรียนถามเพิ่มว่า ทำอย่างไรจึงมีกุศลจิตอยู่เนืองๆ บ่อยๆ และที่ว่าดูการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร ดูที่สภาวะที่เกิด สภาวธรรมที่เกิดนี้มีลักษณะอย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในการดำเนินชีวิตก็ดี ในการปลีกวิเวกไปหาที่สัปปายะอยู่เป็นระยะบ้างเพื่อปฏิบัติธรรมนั้นก็ดี เราจะรู้สภาวะได้อย่างไรหรือเราจะรู้ได้ด้วยตัวเองเท่านั้น บอกกล่าวกันไม่ได้ เพราะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามแต่วาสนาแต่ละบุคคล
3. ควรหมั่นศึกษาฟังบรรยายธรรม จนมีความเข้าใจ จนเกิดปัญญา รู้ธรรมะตามความเป็นจริงก่อน แล้วนำฐานความรู้ความเข้าใจในไปพิจารณายามต้องประสบสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนในแต่ละวัน คือค่อยปฏิบัติไปจากสิ่งที่เข้ามากระทบในแต่ละวันโดยพยา-ยามมีสติใส่ใจ รู้ อารมณ์ จิตใจตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร ตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ในเวลานั้น และใช้ความรู้ความเข้าใจในธรรมเป็นฐาน ทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ คือ การปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ ในชีวิตประจำวันใช่หรือไม่ จะสามารถบรรลุเข้าถึงสภาวธรรม หรือไม่ และถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชาได้หรือไม่
4. ขอให้ช่วยอธิบายเรื่อง การปฏิบัติบูชา คือเป็นอย่างไร ทำอย่างไร เรียกว่าปฏิบัติบูชา การไปบวชชีพราหมณ์ ถือศีลแปด ตามวัดที่ทำกันอยู่นี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติบูชาหรือไม่ 5. การปฏิบัติกันทุกวันนี้ ที่ให้กำหนดบัญญัติไปก่อน เช่น พุทโธ พอง ยุบ นั้นถือเป็นการปฏิบัติเบื้องต้นไปก่อนใช่หรือไม่ หรือไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเพราะผู้ปฏิบัติยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าทำทำไม เพื่ออะไร จริงๆ แล้วควรต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมะก่อนใช่หรือไม่ และการปฏิบัติธรรม ในความหมายที่ถูกต้องคืออย่างไร อย่างไรจึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม
6. จำเป็นหรือไม่ที่เราควรต้องศึกษาอภิธรรม หากต้องการบรรลุธรรม อย่างน้อยโสดาบันบุคคลเป็นที่หวัง บางท่านบอกว่า แค่ถือศีลห้า หมั่นทำจิตให้เป็นกุศลบ่อยๆ ก็เพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง เรามักมีอกุศลเข้ามาบ่อยมากกว่ากุศลเพราะเหมือนว่าเราไม่สามารถมีสติ ระวังจิตได้ตลอดเวลา
7. จะศึกษาธรรมะอย่างไรให้เข้าถึงมีปัญญามากที่สุด สำหรับการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่นั้น เคยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์บางท่านว่า หากมีโอกาส ควรศึกษาจากพระไตรปิฎกฉบันที่ 14 และ 17 ให้มาก อ่านให้เข้าใจสัก 9 เที่ยวจะทำให้เข้าใจถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน ...... อยากเรียนถามว่า หากต้องการศึกษาธรรมะให้มีความเข้าใจ และให้เกิดปัญญามาก.... ควรศึกษาอะไรบ้าง และศึกษาอย่างไร จึงได้มรรค ได้ผลสมบูรณ์ที่สุด เช่นอาจต้องศึกษา อภิธรรม ศึกษาพระไตรปิฎกเล่มที่ 14 และ 17 อาจต้องศึกษาวิสุทธิมรรค เป็นต้น สิ่งที่อยากทราบคือจะศึกษาอย่างไรให้ได้มรรคได้ผลมากที่สุด
8. ทุกสิ่งที่เราประสบทุกวันนี้ ไม่ว่าสุข ทุกข์เรื่องอะไรล้วนเกิดจาก “กรรม” ที่เราทำมาเองทั้งสิ้นใช่หรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราอาจไม่ได้ทำกรรมกับใคร แต่ใครมาทำกรรมกับเราเองในชาตินี้ หรือว่าอย่างไรก็ต้องเคยกระทำกรรมต่อกันมาก่อนคือต้องยอมรับผลกรรมต่อไป ตามแต่กรรมดี ไม่ดีอันไหนจะถึงวลาส่งผล
ทำอย่างไร จึงมีสติ ปัญญา มีกุศลจิตอยู่ตลอดเวลา?
คำตอบคือ ทำไม่ได้ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ จิตเกิดดับเร็วมาก เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล ไม่ใช่ว่าจะเป็นกุศลตลอดเวลาและไม่ใช่ว่าจะเป็นอกุศลตลอดเวลา ขณะใดที่จิตเกิดเป็นกุศลไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ การกระทำทางกาย ก็เป็นกุศล แม้วาจาก็เป็นวาจาที่เป็นไปทางกุศลด้วยเช่นกัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นอกุศลจิตเกิดไม่ได้แต่ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลจิตก็พอกพูนเพิ่มขึ้น ผู้ที่เห็นโทษภัยของอกุศล จึงเจริญกุศลเพื่อละอกุศลให้เบาบางลงด้วยการเจริญกุศลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ตาม ขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ว่าสภาพธรรมนั้น เป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้ แต่ว่ากว่าที่ปัญญาจะเกิดได้ต้องอดทนอย่างมาก เช่น อดทนต่อการฟังพระธรรม แล้วก็พิจารณาความลึกซึ้งความละเอียดและประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ จนเห็นว่า ควรประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการฟังเท่านั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสติจึงจะเจริญสติได้ ท่านที่ไปสู่สถานที่สงบๆ นั้น สติในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของนามและรูปในสถานที่สงบ กับสติที่กำลังรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่อยู่ในสถานที่อันจำกัดอย่างนั้น ต่างกันอย่างไรหรือเหมือนกันอย่างไร ต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรองให้คิดให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน
๔. การไปบวชชีพราหมณ์ ถือศีล ๘ ตามวัดที่ทำกันอยู่นี้ ก็ต้องถามกลับไปก่อนว่า บวชชีพราหมณ์คืออะไรด้วย ควรรู้จุดประสงค์ของการกระทำทุกอย่างแม้แต่ผู้ที่รักษาศีล ก็ควรจะรู้ด้วยว่าเพื่ออะไร แม้แต่ผู้ที่จะละคลายความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ควรรู้ว่าเพื่ออะไร ไม่ใช่ทำไปโดยไม่มีจุดหมาย ถ้าเริ่มต้นด้วยความไม่รู้หรือเริ่มต้นด้วยความเป็นตัวตน ก็ไม่ใช่การปฏิบัติบูชา
๕. ผู้ศึกษาธรรมก็พึงพิจารณาว่า จะศึกษา จะฟัง และจะพิจารณาให้เข้าใจขึ้นหรือว่าจะปฏิบัติด้วยความเป็นเรา เพราะว่าถ้ายังไม่มีความเข้าใจธรรมะอย่างถูกต้อง ยังมีความเป็นเราอย่างเต็มที่ แล้วก็มีความอยากที่จะปฏิบัติด้วยความเป็นตัวตน ปฏิบัติ แยกศัพท์เป็น ปฏิ + ปติ หรือ ปัตติ ปฏิ หมายถึง เฉพาะส่วน ปติ หรือ ปัตติ นั้นหมายถึง การถึงหรือเห็น ฉะนั้น ปฏิบัติจริงๆ ก็คือ เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ สติก็เกิดระลึกคือถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละลักษณะ เพราะว่าในขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากทีเดียว เพราะฉะนั้น การที่จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมว่าไม่ใช่เราเลยเพราะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับเร็วมากไม่ใช่มีความเป็นเราที่อยากจะไปประจักษ์ความเกิดดับ ถ้าเป็นเราแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าต้องเป็นปัญญาความเห็นถูก ที่อบรมเจริญขึ้นจนถึงขั้นที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมตามลำดับขั้น.
๖. พระอภิธรรมเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลอภิธรรม หรือ ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของปรมัตถธรรมได้ ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูกความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรมตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน การที่จะรู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจจธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูก สาวกคือผู้ฟัง ไม่มีบุคคลผู้ใดที่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ โดยไม่ฟังพระธรรม ปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะรู้สภาพธรรมทุกอย่างได้ตามความเป็นจริง ศึกษาธรรมต้องละเอียดจริงๆ และไม่ควรหวังผล เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะก้าวไปด้วยความเป็นตัวตน ถ้าศึกษาธรรมมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้อกุศลเป็นอกุศล ถ้าหากไม่ได้ศึกษาแล้วก็อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าอกุศลเป็นกุศลก็เป็นไปได้.
๘. กรรมที่เราได้สั่งสมมาแล้วทั้งในอดีตอนันตชาติ หรือแม้แต่ในปัจจุบันนชาตินี้ก็ตาม เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทุกขณะ วิบากจิตรับผลกรรมโดยรู้อารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นการใช้หนี้กรรมที่ได้กระทำมาแล้ว กรรมไม่เคยปล่อยไว้เลย คือ ต้องได้รับผลของกรรมอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น เวลารับผลของกรรมที่ไม่ดี ก็ไม่ควรที่จะเดือดร้อนจนเกินไป หรือถ้าได้รับผลของกรรมที่ดีก็ไม่ควรที่จะยินดีติดข้องมาก ผู้ที่ศึกษาธรรม มีความมั่นคงในเรื่องกรรมและผลของกรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญ เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้ดำรงตนอยู่ในความดี และเราก็จะเป็นผู้ที่ได้รับผลอันดีอย่างแน่นอน อีกประการหนึ่ง ผู้ที่ศึกษาธรรมะ ก็จะมีความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นผลของกรรมและอีกส่วนหนึ่งเป็นการสั่งสมสร้างเหตุใหม่ที่จะเป็นเหตุให้ได้รับผลต่อไปข้างหน้า