ผลของกรรม

 
paisan.ju
วันที่  26 ก.พ. 2549
หมายเลข  854
อ่าน  1,297

สมัยที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันยังไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์ทรงทรมานตัวเอง โดยเข้าใจว่าจะทำให้บรรลุธรรมได้ กระผมขอถามว่าการที่พระองค์ทรงคิดเช่นนี้ เป็นเพราะผลของกรรมเก่าใช่หรือไม่ เพราะพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ก็ไม่ได้ทรมานตัวเองก่อนการตรัสรู้เลย ตอนแรกผมเข้าใจว่าความคิดคือกรรม (การทำกรรมใหม่) ส่วนวิบาก คือการที่ได้รับรู้อารมณ์ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือวิบาก (ผลของกรรมเก่า) ผมไม่เข้าใจเกี่ยวกับคำว่า กรรม ผลของกรรม และวิบาก ครับ โปรดให้ความกระจ่างด้วยครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 27 ก.พ. 2549

กรรม คือ เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับชาติกุศลจิตและชาติอกุศลจิต ส่วนผลของกรรมมีทั้งจิตเจตสิก และรูปที่เกิดจากรรม และวิบากหมายถึงผลของกรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้น ได้แก่ วิบากจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้น

สำหรับเรื่องราวของพระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ ทรงทรมานตัวเอง และมีแสดงในอปาทานว่าเป็นเศษกรรมที่ไปว่าร้ายดูถูกพระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน และในมิลินทปัญหา พระนาคเสนเถระ ได้อธิบายว่าเพราะพระญาณยังไม่แก่กล้าจึงมีการทรมานตัวตามความเชื่อของคนในยุคนั้นว่า คนจะบริสุทธิ์ต้องได้ต้องไม่อดอาหารเป็นต้น

ถ้ากล่าวโดยนัยของปรมัตถธรรม วิบากได้แก่จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตที่ทำกิจนำเกิด จิตทำกิจดำรงภพ เป็นต้น ส่วนความคิดนึกเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ฉะนั้น ถ้ากล่าวโดยละเอียดคือความคิดจะทรมานตัวของพระโพธิสัตว์ไม่ใช่วิบาก แต่ความทุกข์ที่เกิดจากการทรมานตัวเป็นวิบากทางกาย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paisan.ju
วันที่ 27 ก.พ. 2549

ยังไม่เข้าใจครับ ความคิดที่จะทรมานกายไม่ใช่วิบาก แต่การที่จิตน้อมไปที่จะคิดทรมานกายเป็นผลของกรรมหรือไม่ครับ เพราะเคยฟังธรรมว่า การที่บุคคลคนหนึ่งคิดจะฆ่าตัวตาย เป็นผลของการฆ่าสัตว์ในอดีต และการที่เศรษฐีมีเงินทองมากมายแต่มีจิตน้อมไปที่จะไม่ใช้เงินทองนั้น เพราะผลจากการให้ทานแล้วคิดเสียดาย โปรดให้ความกระจ่างด้วยครับ

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
study
วันที่ 28 ก.พ. 2549

โดยนัยพระสูตรจะพบเสมอว่าความโน้มเอียงไปในการกระทำต่างๆ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัยแต่นัยปรมัตถธรรมวิบากที่เป็นผลของกรรมต้องหมายถึงจิตเจตสิกชาติวิบากเท่านั้น ส่วนเรื่องการให้ทานแล้วคิดเสียดายภายหลัง ทำให้เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์จิตไม่น้อมไปจะบริโภคทรัพย์อันนี้ เกิดจากการสะสมความตระหนี่ของบุคคลนั้น ไม่ใช่วิบากกรรมแต่อย่างใด

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paisan.ju
วันที่ 28 ก.พ. 2549

ขอบคุณมากครับ แต่ผมขอถามต่อได้หรือไม่ครับ ที่ว่าความโน้มเอียงไปในการกระทำต่างๆ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย ถามว่าจะสงเคราะห์เข้าในปัจจัย 24 ได้หรือไม่ ถ้าได้เป็นปัจจัยอะไรบ้างครับ และการที่จิตน้อมคิดเป็นผล ซึ่งมีกรรมเก่าเป็นปัจจัย และในขณะเดียวกันก็เป็นเหตุได้หรือไม่ (เป็นทั้งเหตุและผล) สงเคราะห์เข้าในปัจจัย 24 ได้หรือไม่ เป็นปัจจัยอะไรบ้าง ช่วยอธิบายให้หน่อยได้ไหมครับ

ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 1 มี.ค. 2549

ถ้าว่าโดยอุปนิสสยปัจจัย คือ อกุศลธรรมที่เกิดก่อนๆ เป็นปัจจัยให้อกุศลธรรมที่เกิดหลังๆ จิตที่น้อมคิดเป็นชาติอกุศล เป็นเหตุ จะเป็นผลไม่ได้ อกุศลธรรมเป็นปัจจัยได้หลายๆ ปัจจัย เช่น เหตุปัจจัย อารัมมณปัจจัย อธิปติปัจจัย อนันตรปัจจัย เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paisan.ju
วันที่ 1 มี.ค. 2549

ขอถามอีกนิดนะครับที่ว่าการที่จิตน้อมคิดไม่ใช่ผลของกรรม และก็ไม่ใช่ผลด้วย ซึ่งเป็นการใช้คำที่ไม่ถูกต้องของผมถ้าเปลี่ยนมาใช้คำว่าการที่จิตน้อมคิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะถูกไหมครับ เพราะผมเคยฟังธรรมว่านามธรรมรูปธรรมแต่ละอย่างจะเกิดขึ้นเองลอยๆ หรือเกิดขึ้นตามความต้องของใครไม่ได้เลย นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยอุปถัมภ์ทำให้นามธรรม รูปธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 2 มี.ค. 2549

ถูกครับ ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ