พิจารณาตัวเองเป็นสำคัญ [เรื่องปาฏิกาชีวก]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 63
ข้อความบางตอนจาก..
เรื่องปาฏิกาชีวก
"บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้
ในใจ, ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของคน
เหล่าอื่น, พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ทำ
ของตนเท่านั้น."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า น ปเรส วิโลมานิ
ความว่า ไม่ควรทำคำแสยงขน คือคำหยาบ ได้แก่คำตัดเสียซึ่งความรัก
ของตนเหล่าอื่นไว้ในใจ.
บาทพระคาถาว่า น ปเรส กตากต ความว่า ไม่ควรแลดู
กรรมที่ทำแล้วและยังไม่ทำแล้ว ของคนเหล่าอื่น อย่างนั้นว่า " อุบาสก
โน้น ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส, แม้วัตถุมีภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น
ในเรือน เขาก็ไม่ให้, สลากภัตเป็นต้น เขาก็ไม่ให้, การให้ปัจจัยมี
จีวรเป็นต้น ไม่มีแก่อุบาสกนั่น; อุบาสิกาโน้นก็เหมือนกัน ไม่มี
ศรัทธา ไม่เลื่อมใส, ภิกษาทัพพีหนึ่งเป็นต้น ในเรือน นางก็ไม่ให้,
สลากภัตเป็นต้นก็ไม่ให้, การให้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้น ก็ไม่มีแก่อุบาสิกา
นั้น. ภิกษุโน้นก็เช่นกัน ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ทั้งไม่ทำอุปัชฌายวัตร,
ไม่ทำอาจริยวัตร, ไม่ทำอาคันตุกวัตร, ไม่ทำวัตรเพื่อภิกษุผู้เตรียมจะไป,
ไม่ทำวัตรที่ลานพระเจดีย์. ไม่ทำวัตรในโรงอุโบสถ. ไม่ทำวัตรที่หอฉัน,
ไม่ทำวัตรมีวัตรในเรือนไฟเป็นอาทิ, ทั้งธุดงค์ไรๆ ก็ไม่มีแก่เธอ แม้
เหตุสักว่าความอุตสาหะ เพื่อความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ก็ไม่มี."
บาทพระคาถาว่า อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย ความว่า กุลบุตร
ผู้บวชด้วยศรัทธา เมื่อระลึกถึงโอวาทนี้ว่า "บรรพชิต พึงพิจารณา
เนืองๆ ว่า 'วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่" ดังนี้แล้ว ก็พึงแลดูกิจ
ที่ทำแล้วและยังมิได้ทำของตนอย่างนั้นว่า "เราไม่อาจจะยกตนขึ้นสู่
ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วทำให้เกษมจากโยคะ
หรือหนอ?"