ปฐมสขาสูตร และ ทุติยสขาสูตร - ๑๐ พ.ค. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  6 พ.ค. 2551
หมายเลข  8575
อ่าน  2,114

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๐ พ.ค. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๕. ปฐมสขาสูตร

และ

๖. ทุติยสขาสูตร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๙๑


[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๙๑

๕. ปฐมสขาสูตร

[๓๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงคบมิตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการ. ด้วยองค์ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ...

มิตรผู้ให้ของที่ให้ได้ยาก ๑รับทำกิจที่ทำได้ยาก ๑อดทนถ้อยคำที่อดทนได้ยาก ๑บอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑ปิดความลับของเพื่อน ๑ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑เมื่อเพื่อนสิ้นโภคสมบัติก็ไม่ดูหมิ่น ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงคบมิตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล.

มิตรที่ดีงามย่อมให้ของที่ดีงามให้ได้ยาก รับทำกิจที่ทำได้ยาก อดทนถ้อยคำหยาบคาย แม้ยากที่อดใจไว้ได้ บอกความลับของตนแก่ เพื่อน ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ เมื่อเพื่อนสิ้นโภค- สมบัติ ก็ไม่ดูหมิ่น ฐานะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นเป็นมิตรแท้ ผู้ประสงค์จะคบมิตร ก็ ควรคบมิตรเช่นนั้น.

จบ ปฐมสขาสูตรที่ ๕เทวตาวรรคที่ ๔


อรรถกถาปฐมสขาสูตรที่ ๕

วรรคที่ ๔ สูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า ทุทฺททํ สิ่งของมีค่ามาก อันสละได้ยาก.บทว่า ทุกฺกรํกโรติ ความว่า ย่อมกระทำกิจกรรม ที่กระทำไม่ได้ง่ายๆ บทว่า ทุกฺขมํ ขมติ ความว่า ย่อมอดกลั้นได้อย่างมาก เพื่อประโยชน์แก่สหาย.บทว่า คุยฺหมสฺส อาวิกโรติ ความว่า ย่อมเปิดเผยความลับของตนแก่สหายนั้น. บทว่า คุยฺหมสฺส ปริคูหติ ความว่า ไม่บอกความลับของสหายนั้นแก่คนเหล่าอื่น. บทว่า ขีเณน นาติมญฺ ติ ได้แก่ เมื่อโภคสมบัติของสหายนั้นสิ้นไปแล้ว ก็ไม่ดูหมิ่นสหายนั้น เพราะความเสื่อมสิ้นนั้น คือไม่กระทำการเหยียบย่ำและดูหมิ่นในตัวสหายนั้น

จบ อรรถกถาปฐมสขาสูตรที่ ๕


[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๙๓

๖. ทุติยสขาสูตร

[๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการควรเสพ ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ธรรม ๗ประการเป็นไฉน คือ ...

ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ ๑เป็นที่เคารพ ๑เป็นผู้ควรสรรเสริญ ๑เป็นผู้ฉลาดพูด ๑เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ๑ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ควรเสพ ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่.

ภิกษุเป็นที่รักใคร่ พอใจ เป็นที่เคารพ ควรสรรเสริญ ฉลาดพูด อดทนต่อถ้อยคำ พูด ถ้อยคำลึกซึ้ง ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ฐานะเหล่านี้ มีอยู่ในภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นมิตรแท้ มุ่งอนุเคราะห์ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้ประสงค์จะคบมิตร ควร คบมิตรเช่นนั้น แม้จะถูกขับไล่.

จบ สขาสูตรที่ ๖


อรรถกถาทุติยสขาสูตรที่ ๖

ทุติยสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า วตฺตา ได้แก่ผู้ฉลาดในถ้อยคำ. บทว่า วจนกฺขโมความว่า ภิกษุย่อมอดทนถ้อยคำ คือกระทำตามโอวาทที่ท่านให้.บทว่า คมฺภีรํ ได้แก่ ถ้อยคำที่ปกปิด ลึกซึ้งที่อาศัยฌาน อาศัยวิปัสสนา มรรคผล และนิพพาน.

จบ อรรถกถาทุติยสขาสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
spob
วันที่ 7 พ.ค. 2551

ฏีกาปฐมสขาสูตร

ในปฐมสขาสูตรที่ ๕ แห่งเทวตาวรรคที่ ๔ มีอธิบายดังนี้ฯ

คำว่า ย่อมเปิดเผยความลับของตนแก่สหายนั้น หมายความว่า ไม่บอก ถ้อยคำที่สมควรปกปิด อันเป็นความลับของตนแก่ผู้อื่นแล้วบอกแก่สหายนั้นเท่านั้นฯ

คำว่า ไม่บอกความลับของสหายนั้นแก่ผู้อื่น หมายความว่า ย่อมปกปิด ไม่เปิดเผย ความลับที่สหายนั้นบอกให้แล้ว โดยประการที่ชนเหล่าอื่นจะรู้ไม่ได้ฯ

จบ ฏีกาปฐมสขาสูตร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
spob
วันที่ 7 พ.ค. 2551

ฏีกาทุติยสขาสูตร

ในทุติยสขาสูตรที่ ๖ มีอธิบายดังต่อไปนี้ฯ

พระพุทธองค์ทรงแสดงลักษณะของกัลยาณมิตรด้วยพระดำรัสว่า ปิโย จ โหติ มนาโป จ ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ จริงอย่างนั้น กัลยาณมิตร ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาสมบูรณ์ฯ

ในลักษณะของกัลยาณมิตรเหล่านั้น เพราะท่านมีศรัทธาสมบูรณ์ จึงเชื่อต่อปัญญาการตรัสรู้ของพระตถาคต, เชื่อกรรมและผลของกรรม, ด้วยความเชื่อนั้น จึงไม่ละสุขและประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นเหตุต่อการตรัสรู้ฯ

เพราะท่านมีศีลสมบูรณ์ จึงเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ เป็นที่น่ายกย่อง แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ท้วงติง มีปกติติเตียนกรรมชั่ว เป็นผู้ฉลาดพูด เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำฯ

เพราะท่านมีสุตตะสมบูรณ์ จึงสามารถแต่งถ้อยคำที่ลึกซึ้ง ประกอบด้วยสัจจะและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้นได้ฯ

เพราะท่านมีจาคสมบูรณ์ จึงเป็นผู้ปรารถนาน้อย สันโดษ วิเวก และไม่คลุกคลีหมู่คณะฯ

เพราะท่านมีวิริยสมบูรณ์ จึงมีปกติปรารภความเพียรในข้อปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นฯ

เพราะท่านมีสติสมบูรณ์ จึงเป็นผู้มีสติอันเข้าไปตั้งไว้เป็นปกติฯ

เพราะท่านมีสมาธิสมบูรณ์ จึงเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตตั้งมั่นฯ

เพราะท่านมีปัญญาสมบูรณ์ จึงรอบรู้ธรรมอันไม่คลาดเคลื่อนฯ

กัลยาณมิตรนั้น เมื่อแสวงหาเนืองๆ ซึ่งคติแห่งธรรมอันเป็นกุศลและอกุศลด้วยสติ รู้ชัดสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลและที่ไม่ใช่ ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญา เป็นผู้มีจิตเป็นหนึ่งเดียวในอารมณ์นั้นๆ ด้วยสมาธิ ปฏิเสธสิ่งไม่ใช่ประโยชน์ เข้าไว้ในสัตว์ด้วยวิริยะ ชื่อว่า ย่อมชักชวนในประโยชน์ฯ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุเป็นที่รักใคร่พอใจ ๑ เป็นที่เคารพ ๑ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ๑ เป็นผู้ฉลาดพูด ๑ เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ๑ พูดถ้อยคำลึกซึ้ง ๑ ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี ดังนี้ไว้ฯ

ฏีกาทุติยสขาสูตร จบ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prissna
วันที่ 8 พ.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่กัลยาณมิตรอนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 9 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pornpaon
วันที่ 10 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Komsan
วันที่ 11 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
suwit02
วันที่ 18 พ.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JSung
วันที่ 31 มี.ค. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ