สภาพธรรมทีเป็นสัมปยุตตธรรม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  12 พ.ค. 2551
หมายเลข  8629
อ่าน  957

ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า จริงอยู่เมื่อรูปธรรมและอรูปธรรมเกิดร่วมกัน รูปย่อมเกิดร่วมกับอรูปแต่ไม่เกี่ยวข้องไม่สัมปยุตต์กัน อรูปก็เหมือนกันคือเกิดร่วมกับรูปแต่ไม่เกี่ยวข้องไม่สัมปยุตต์กัน และรูปก็เกิดร่วมกับรูปแต่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมปยุตต์กัน ส่วนอรูปโดยนิยมทีเดียวเกิดร่วมกับอรูปเกี่ยวข้องและสัมปยุตต์กันทีเดียว

ที่ทรงแสดงลักษณะของสัมปยุตตธรรมไว้โดยละเอียด ก็เพื่อให้ประจักษ์ชัดจริงๆ ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนั่นเอง ขณะที่ศึกษาและฟังพระ-ธรรมนั้นเป็นสังขารขันธ์ที่จะค่อยๆ ปรุงแต่งสติปัญญา จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะ จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่แยกขาดจากกัน ไม่สัมปยุตต์กัน แม้ว่าจะเกิดร่วมกัน ฉะนั้น สัปยุตตธรรมจึงเป็นลักษณะของนามธรรม คือ จิต และเจตสิกที่เกิดดับร่วมกันและรู้อารมณ์เดียวกัน

นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันจริง แต่รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่รู้อารมณ์เลย รูปทุกรูปที่เกิดร่วมกันจึงไม่เป็นสัมปยุตตธรรม เพราะสภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตตธรรมนั้นต้องเป็นสภาพธรรมที่ร่วมกันสนิทโดยเป็นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ที่เกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดดับที่เดียวกัน

ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ทศพล.com
วันที่ 12 พ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 25 พ.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 25 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ