โลภะ ...ถาม - ตอบตอนที่ 2
ถาม มาบัดนี้ หลังจากได้เดินตามหลังท่านผู้รู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นี่ ทุกครั้งที่เห็นคนสวยๆ ผมก็พยายามนึกถึงว่า หน้าตาสวย อย่างนี้ ไม่ช้าก็จะไปบ้าน กลิ่นน้ำหอมที่ใส่ไปเยอะแยะ เดินผ่านไป เมื่อกี้นี้ ประเดี๋ยวก็คงจะเหม็น อย่างนี้จะเป็นช่องทางให้เกิดกุศลจิต บ้างหรือเปล่าครับ
ส. ขณะใดที่เกิดระลึกได้ ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ว่าก่อนที่จะระลึกอย่างนั้น การเห็นดับไปพร้อมกับความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น ใครจะรู้คะ? ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ จะมีความละเอียดขึ้นจากการเห็นอกุศลอย่างแรง เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นอกุศล แล้วก็มีความรังเกียจในการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตนเสียก่อน ไม่ใช่รังเกียจว่าเป็นอกุศลเท่านั้น นี่เป็นความต่างกัน ส่วนมากเวลาที่อกุศลใดๆ เกิดขึ้น แล้วมีสติที่ไม่ใช่สติปัฏฐานเกิด ก็ระลึกได้ว่า ไม่ควรจะมีความยินดีอย่างนั้นเลย รังเกียจในสภาพของธรรมที่เป็นโลภะ หรือราคะว่าเป็นอกุศล แต่ว่าควรจะรังเกียจการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน นี่เป็นความต่างกันนะคะ
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังพิจารณาได้ว่า ท่านผู้ฟังรังเกียจโลภะในลักษณะใด ถ้าท่านรังเกียจโลภะว่า ท่านไม่อยากจะมีโลภะ ขณะนั้นเป็นการรังเกียจด้วยความเป็นตัวตน ยึดถือโลภะนั้นว่า เป็นเราไม่ควรจะมีโลภะ แต่เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะ แล้วก็รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน มีลักษณะจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพที่ยินดี พอใจต่างกับลักษณะของโทสะ ต่างกับลักษณะของสภาพเห็น ได้ยินลักษณะของความพอใจ เป็นเพียงธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น รังเกียจในการที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล โดยการรู้ว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล นั่นเป็นการรังเกียจที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน ซึ่งเป็นหนทางที่จะดับสักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา และการที่จะดับกิเลสนี้ต้องเป็นขั้นๆ เพราะถึงแม้ว่าจะรังเกียจโลภะสักเท่าไร แต่ถ้ายังมีความเห็นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับโลภะ มีแต่ความเดือดร้อนใจ เกิดโทสะล่ะค่ะ เพราะไม่ชอบโลภะ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นโทสะ ก็เป็นตัวตนอีก ที่ไม่ชอบโลภะ จนกว่าสติปัฏฐานจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของโลภะ หรือลักษณะของโทสะ ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น
เพราะฉะนั้น การที่จะดับกิเลส อย่าข้ามขั้น พอรู้ว่ามีโลภะก็เดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ถ้าเป็นปัญญาแล้วไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งไม่ได้ยั่งยืนเลย เพราะว่าทุกคนที่มีโลภะ อย่าเข้าใจว่าโลภะนั้นยั่งยืน เป็นเพียงชั่วขณะเล็กน้อยแล้วก็ดับ แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นปรากฏ เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็มีความพอใจมากในสิ่งที่เห็น การเห็นก็จริงเป็นสภาพธรรมที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เป็นขณะที่พอใจ ความพอใจก็จริง ไม่ใช่สภาพธรรมที่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการเห็นหรือความยินดี พอใจในสิ่งที่เห็น โดยสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ทีละลักษณะ แล้วก็จะไม่เดือดร้อน เพราะโลภะนั้นไม่ใช่เรา แต่ถ้ารังเกียจโดยความเป็นเรา จะเดือดร้อนมาก แล้วไม่ใช่หนทางที่จะดับโลภะได้ตามความเป็นจริง ตราบใดที่ยังไม่ได้ละสักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนสัตว์ บุคคล เป็นเรา
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ข้อความบางตอนจาก... แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๙๘๐
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาท่านอาจารย์และผู้นำเสนอค่ะ
"เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นอกุศล แล้วก็มีความรังเกียจในการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตนเสียก่อน ไม่ใช่รังเกียจว่าเป็นอกุศลเท่านั้น นี่เป็นความต่างกัน ส่วนมากเวลาที่อกุศลใดๆ เกิดขึ้น แล้วมีสติที่ไม่ใช่สติปัฏฐานเกิด ก็ระลึกได้ว่า ไม่ควรจะมีความยินดีอย่างนั้นเลย รังเกียจในสภาพของธรรมที่เป็นโลภะหรือราคะว่าเป็นอกุศล แต่ว่าควรจะรังเกียจการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน"
"แต่ถ้ารังเกียจโดยความเป็นเรา จะเดือดร้อนมาก แล้วไม่ใช่หนทางที่จะดับโลภะได้ตามความเป็นจริง"
ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ และท่านผู้นำข้อความมาแสดง