เมื่อต้องสนทนากับพระภิกษุ ต่อเนื่องจาก ..8706
ขออนุญาตขึ้นเป็นหัวข้อใหม่ต่อจากกระทู้นี้นะครับ .. 8706 เนื่องจากเห็นหลายท่านได้ข้อสรุปว่าการสำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามด้วยจิตไม่มีราคะ จะไม่ต้องอาบัติ แต่หากพิจารณาจากข้อความในพระวินัยปิฎกด้านล่างนี้แล้ว ผมคิดว่าแม้ด้วยไม่มีเจตนาอกุศลใดๆ แต่ก็อาจต้องอาบัติได้ครับ อย่างไรก็ตามขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยชี้แจงด้วยครับ เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดก้บชีวิตคนในวัดมากทีเดียว
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ [๖๔๐]
หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นอย่างนี้ว่า ดิฉันเห็นพระคุณเจ้ารูปเดียวนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นปฏิญาณการนั่งนั้น พึงปรับเพราะ การนั่ง หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นอย่างนี้ว่า ดิฉันเห็น พระคุณเจ้ารูปเดียวนั่งในที่ลับ คือนั่งในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้านอนอยู่ต่างหากดังนี้ พึงปรับเพราะการนอน หากอุบาสิกานั้นพูดขึ้นอย่างนี้ว่า ดิฉันเห็น พระคุณเจ้ารูปเดียวนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบังพอจะทำการได้กับมาตุคามผู้เดียว ถ้าภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่ได้นั่ง ข้าพเจ้ายืนอยู่ ต่างหาก ดังนี้ ไม่พึงปรับ.
๕. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๕ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๔๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไปสู่เรือนของ สหายแล้ว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภรรยาของเขาหนึ่งต่อหนึ่ง จึงบุรุษสหายนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าอุปนันทะจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภรรยาของเราหนึ่งต่อหนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตร จึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอสำเร็จการนั่ง ในที่ลับกับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่ง จริงหรือ ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่งเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ ๙๔. ๕.
อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว เป็นปาจิตตีย์. เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ. สิกขาบทวิภังค์
[๕๔๔] บทว่า อนึ่ง ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด.. บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ...นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์ ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต และทุพภาษิต ที่ชั่ว หยาบและไม่ชั่วหยาบ. บทว่า กับคือ ร่วมกัน. บทว่า ผู้เดียว ผู้เดียว คือมีภิกษุ ๑ มาตุคาม ๑ ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา ๑ ที่ลับหู ๑ ที่ชื่อว่า ที่ลับตา ได้แก่ สถานที่ซึ่งมีภิกษุหรือมาตุคาม ขยิบตา ยักคิ้ว หรือชะเง้อ ศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้. ที่ชื่อว่าที่ลับหู ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตามปกติได้. คำว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ทั้ง ๒ นั่งก็ดี ทั้ง ๒ นอนก็ดี ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทภาชนีย์ ติกะปาจิตตีย์
[๕๔๕] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่า มาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับหนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ มาตุคาม ภิกษุสงสัย สำเร็จการนั่งในที่ลับหนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์. มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่า ไม่ใช่มาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับหนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ติกะทุกกฏ ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ กับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน (ตัวเมียมีกายดังมนุษย์หนึ่งต่อหนึ่ง) ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ต้องอาบัติ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ. อนาปัตติวาร
[๕๔๖] ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่ง อยู่เป็นเพื่อน ๑ ภิกษุยืน ไม่ได้นั่ง ๑ ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ ๑ ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
ข้อความในอรรถกถาท่านอธิบายการมุ่งที่ลับ หมายถึง กิเลสที่อาศัยเมถุนธรรม เรียกว่า ยินดีในการนั่งในที่ลับ ดังข้อความที่ยกมา
แต่บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในจตุกกะทั้งปวง ดังต่อไปนี้:- กิเลสที่อาศัยเมถุนธรรม ตรัสเรียกว่า ความยินดีการนั่งในที่ลับ ภิกษุใด ใคร่จะไปยังสำนักแห่งมาตุคามด้วยความยินดีนั้น หยอดนัยน์ตาต้องทุกกฏ นุ่งผ้านุ่ง คาดประคดเอว ห่มจีวร เป็นทุกกฏ ทุกๆ ประโยคในจตุกกะทั้งปวง เมื่อเดินไป เป็นทุกกฏ ทุกๆ ย่างเท้า เดินไปแล้วนั่งเป็นทุกกฏอย่างเดียวพอเมื่อมาตุคามมานั่ง เป็นปาจิตตีย์ ถ้าแม้นว่า ภิกษุไปนั่งด้วยจิตบริสุทธิ์ เกิดความยินดีในที่ลับกับหญิงผู้มายังสำนักแล้วนั่ง ไม่เป็นอาบัติเลย สมุฏฐาน เป็นต้น เป็นเช่นเดียวกันกับปฐมปาราชิกสิกขาบททีเดียวแล.
พรรณนาอนิยตสิกขาบทที่ ๑ จบ
จากข้อความบางส่วนในอรรถกถาก็จะเห็นได้ว่า ถ้าพระภิกษุท่านมีจิตบริสุทธิ์ ในบางครั้งดูเหมือนนั่งในที่ลับตา หรือที่ลับหู ก็ไม่เป็นอาบัติครับ