ปัญญาที่ประจักษ์ต่างจากปัญญาที่ไม่ประจักษ์
สนทนาพื้นฐานพระอภิธรรม ที่มูลนิธิฯ วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๕๐
ณรงค์ ทีละหนึ่งๆ เท่านั้น ความที่เกิดดับ สืบต่อกันอย่างเร็วมากนี้ ก็จะเชื่อมโยงไปถึงประโยคที่คุณพี่อรวรรณเคยถามว่า ไม่มีตัว ไม่มีตน แล้วอาจารย์ก็ยกตัวอย่างว่า มีฟันหรือเปล่า มีปอดหรือเปล่า ผมอยากจะขยายความตรงที่ว่ามีฟัน มีปอดหรือเปล่า ตรงนี้หมายความว่า รูปฟันตรงนั้น เวลาผ่านไปมันก็หมดไปแล้ว ใช่หรือเปล่าครับ
อาจารย์ เดี๋ยวนี้เห็นอะไรคะ
ณรงค์ เดี๋ยวนี้เห็นสีครับ
อาจารย์ ไม่ได้พูดถึงฟันเลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ ขณะนี้ที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นแหละจริง เพราะเกิดขึ้นและจิตเห็น ก็เห็นสิ่งที่เกิดแล้ว ต่อไปก็จะรู้ได้ว่าดับด้วย
ณรงค์ ซึ่งความจริงก็ดับไป
อาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็พูดถึงสิ่งที่ปัญญายังไม่ได้ประจักษ์ เช่น สัจธรรม เกิดแล้วดับตลอดเวลา สุดจะประมาณ ไม่ได้พูดถึงด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง แต่พูดถึงเรื่องราวของผู้ที่ประจักษ์แจ้งและทรงแสดง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นความจริงอย่างนั้น ก็รู้ว่าใครถูก ใครผิด คนที่ยังไม่ประจักษ์จะไปเห็นเหมือนคนที่ประจักษ์เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ใครหรือเราทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็จะเข้าใจความหมายของธาตุ ที่เป็นธาตุเห็นถูกคือ สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก
ณรงค์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ เรากำลังเรียนปัญญาของพระพุทธเจ้า
อาจารย์ แน่นอนค่ะ ไม่ใช่ใครสามารถที่จะหยิบขึ้นมาอ่านแล้ว จะรู้ได้ เข้าใจได้ ถึงความลึกซึ้งจริงๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน
ณรงค์ ปัญญาที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เกิด ก็ยังไม่ใช่ปัญญาจริงๆ
อาจารย์ เป็นปัญญาขั้นไตร่ตรอง ขั้นอบรมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งกำลังค่อยๆ รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง
ณรงค์ ตราบใดที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ ก็คือเป็นปัญญาของเรา
อาจารย์ เป็น สัจธรรมที่เป็นโลกุตตระ ที่สามารถจะรู้แจ้ง อริยสัจ ๔