นาวาสูตร - ความสิ้น และไม่สิ้นไปแห่งอาสวะ - ๐๗ มิ.ย. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  3 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8791
อ่าน  2,593

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๗ มิ.ย. ๒๕๕๑

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 347

๙. นาวาสูตร

ว่าด้วยความสิ้น และไม่สิ้นไปแห่งอาสวะ

[๒๖๐] กรุงสาวัตถี. ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ของภิกษุผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ ไม่กล่าวความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย ของภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่ ภิกษุทั้งหลายเมื่อรู้ เมื่อเห็นอะไร จึงมีความสิ้นอาสวะ เมื่อบุคคลรู้รูปอย่างนี้ การเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับสูญไปแห่งรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้... สัญญาอย่างนี้... สังขารอย่างนี้... วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับสูญไปแห่งวิญญาณอย่างนี้ (จึงมีความสิ้นไปแห่งอาสวะ) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้แล จึงมีความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.

[๒๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะเกิดความปรารถนาว่า ไฉนหนอ จิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นก็จริง. แต่ที่แท้จิตของเขาก็ไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยืดมั่นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้อบรมแล้ว. เพราะไม่ได้อบรมอะไร เพราะไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ (และ) มรรคมีองค์ ๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟองไข่ของแม่ไก่ ๘ ฟองบ้าง ๑๐ ฟองบ้าง ๑๒ ฟองบ้าง ที่แม่ไก่ไม่ได้นอนทับ ไม่ได้กก ไม่ได้ฟัก ถึงแม่ไก่นั้น จะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ขึ้นว่า ไฉนหนอ ลูกของเราจะพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก เจาะกะเปาะฟอง ออกมาโดยสวัสดี ก็จริงแล แต่ทว่า ไม่ควรที่ลูกไก่เหล่านั้นจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก เจาะกะเปาะฟองออกมาโดยสวัสดีได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าฟองไข่ ของแม่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง แม่ไก่ไม่ได้นอนทับ ไม่ได้กก ไม่ได้ฟักเลย ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ได้ประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถึงจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ จิตของเราจะพึงพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ก็จริงแล แต่ที่แท้ จิตของเธอจะไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้อบรมแล้ว. เพราะไม่ได้อบรมอะไร เพราะไม่ได้อบรมสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ จิตของเรา จะพึงพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นก็จริงแล ถึงกระนั้น จิตของเธอก็จะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นได้. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะได้อบรมแล้ว. เพราะได้อบรมอะไร เพราะได้อบรม สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่นอนทับแล้ว กกแล้ว ฟักแล้ว ถึงแม้แม่ไก่นั้น จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ลูกของเรา จึงจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก ทำลายกะเปาะฟองออกมาโดยสวัสดี ก็จริงแล แต่ทว่าลูกไก่เหล่านั้น ควรจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก ทำลายกะเปาะฟองออกมาโดยสวัสดี. ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า ฟองไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง แม่ไก่ได้นอนทับ ได้กก ได้ฟักมาแล้วอย่างนั้น แม้ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ จิตของเรา จะพึงพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่นก็จริงแล แต่จิตของเธอก็จะพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะได้อบรมแล้ว. ถามว่า เพราะได้อบรมอะไร แก้ว่า เพราะได้อบรมสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ (และ) มรรคมีองค์ ๘

[๒๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือ หรือรอยหัวแม่มือของช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้ ย่อมปรากฏ ด้ามมีดให้เห็น แด่ว่าช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้ วานซืนนี้สึกไปเท่านี้ มีความรู้แต่เพียงว่า ด้ามมีดนั้นสึกๆ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า วันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปเท่านี้ วานนี้สิ้นไปเท่านี้ วานซืนนี้สิ้นไปเท่านี้ ก็จริง แต่เธอก็รู้ว่าสิ้นไปแล้วๆ . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทร ที่เขาผูกด้วยเชือกผูกคือหวาย แช่อยู่ในน้ำ ๖ เดือนในฤดูหนาว ลากขึ้นบก เชือกคือหวาย ที่ถูกลมและแดดพัดเผา ถูกเมฆฝนตกชะรด ก็จะเปื่อยผุไป โดยไม่ยากฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัญโญชน์ก็จะเสื่อมสิ้นไปโดยไม่ยากเลย.

จบ นาวาสูตรที่ ๙


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 3 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
baramees
วันที่ 3 มิ.ย. 2551

อบรมปัญญา..ละกิเลส..เหมือนจับด้ามมีด

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
DEEPKUNG
วันที่ 6 มิ.ย. 2551

รู้สึกดีที่ได้อ่าน ขอบคุณครับ :)

ขอนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ