ความสงัด ความสันโดษ ตอนที่ ๑
มีท่านผู้หนึ่ง ก็ได้ถามท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศว่า รู้สึกอย่างไร เมื่อได้ฟังเรื่องสติปัฏฐาน ท่านผู้นั้นเป็นพระภิกษุ ท่านก็ตอบว่า ก็รู้สึกเห็นด้วยเวลาที่กล่าวถึงการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่รู้สึกว่าไม่ได้เน้นเรื่องของความสงัด หรือว่าความสันโดษ ซึ่งการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และต้องพิจารณาด้วย
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ เรื่องของความสันโดษ เรื่องของความสงัด อย่าลืมนะคะ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ แต่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ ที่จะรู้ว่า สัตว์โลกสะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กัน ไม่ว่าฆราวาสหรือบรรพชิต ซึ่งการเข้าใจธรรมเป็นสิ่งซึ่งมีประโยชน์ เพราะจะทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติถูก แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วเข้าใจธรรม มีอุปนิสัย มีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน ท่านลองพิจารณาอัธยาศัยหรืออุปนิสัยของสหายธรรมของท่านก็ได้ บางท่านก็เป็นผู้ที่สนใจจริงๆ แต่ก็เป็นผู้ที่สะสมอัธยาศัยที่จะเป็นผู้ที่รื่นเริงสนุกสนาน
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญเรื่องของความสงัดและความสันโดษ แต่สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยร่าเริง สนุกสนาน แล้วสนใจธรรมจะให้บุคคลนั้นฝืนพยายามไปเป็นผู้สันโดษ หรือว่าไปเป็นผู้สงัดจะได้ไหมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลสะสมมา ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ด้วยเหตุนี้ พุทธบริษัทจึงมีทั้งบรรพชิตและฆราวาส คือ มีภิกษุ และมีอุบาสก อุบาสิกา ในสมัยนี้ไม่พร้อมทั้ง ๔ นะคะ เพราะขาดพระภิกษุณี แต่แม้แต่ผู้ที่เป็นพระภิกษุแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องการไม่คลุกคลี ก็ยังคงสรรเสริญเรื่องความสันโดษ และความสงัดอยู่ แต่ว่าถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดแล้ว อาจจะพยายามทำตาม แต่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างใดเลย เพราะไม่ใช่อัธยาศัยที่แท้จริง เพราะการที่จะเป็นผู้ที่สันโดษ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย เพราะการสันโดษมีทั้งในเพศของบรรพชิต และในเพศของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นเพศที่ต่างกัน
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ ๑๐๖๑
ผู้มีปัญญาเห็นโทษของการคลุกคลี จึงประพฤติมักน้อยสันโดษค่ะ
ผู้มีปัญญาเห็นโทษของการคลุกคลี จึงประพฤติมักน้อยสันโดษ
ขออนุโมทนาค่ะ
ข้อความใน ขุททกนิกาย เตรสนิบาตชาดก ชวนหังสชาดก ข้อที ๑๗๕๑-๑๗๖๓ กล่าวถึงเรื่องที่พญาหงส์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงวิงวอนให้ไปอยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แต่พญาหงส์ไม่ยอมด้วยเหตุผลดังนี้ค่ะ พญาหงส์กล่าวว่า....
เสียงของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายก็ดี ของนกทั้งหลายก็ดี รู้ได้ง่ายแต่เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากกว่านั้น.
ใจจดจ่ออยู่ในบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ไกล ก็เหมือนกับอยู่ใกล้ ใจเหินห่างจากบุคคลใดถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ใกล้ ก็เหมือนกับอยู่ไกล.
การอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกันย่อมกลายเป็นคนไม่รักกันก็ได้ เพราะฉะนั้นพญาหงส์จึงขอทูลลาไปก่อนที่จะกลายเป็นผู้ไม่เป็นที่รักของพระองค์
..ขออนุโมทนา...