ความสงัด ความสันโดษ ตอนที่ ๒
สำหรับท่านที่คิดถึงเรื่องความสงัด หรือว่าท่านที่ต้องการจะไปสู่สถานที่ที่สงบ สงัด ก็ขอให้พิจารณาว่าท่านจะไปเพราะเหตุใด ไปเพราะอยากจะไปเท่านั้น ไปเพราะชอบความเงียบสงัด ไปเพื่อที่จะพักผ่อน หรือว่าไปเพราะเข้าใจว่า ถ้าท่านยังคงไม่ไปสู่สถานที่เช่นนั้นล่ะก็ ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ หรือว่าสติจะเกิดไม่มาก
ถ้าท่านใช้คำนี้ว่า ถ้าไม่ไปแล้ว สติจะเกิดไม่มาก ขอให้พิจารณาว่า ท่านกำลังติดอะไรหรือเปล่า กำลังต้องการอะไรหรือเปล่า เพราะสภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจว่า ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยทั่ว ไม่ว่าท่านจะกำลังแต่งตัว หรือว่ากำลังประกอบกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด ในวันหนึ่งๆ ถ้าสติไม่เกิดในขณะนั้นอาจจะเกิดในขณะอื่นได้ไหม ไม่จำกัดเวลา และขณะที่สติจะเกิด ไม่มีกฎเกณฑ์ว่า สติจะต้องระลึกที่กายก่อน หรือที่เวทนาก่อน หรือว่าที่จิต แล้วที่ธรรมในขณะนั้นก่อน หรือในสถานที่นั้นก่อน แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่าปัญญาต้องรู้ทั่ว เมื่อต้องรู้ทั่วแล้ว ทำไมไม่ระลึกเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เพราะทุกขณะจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
แต่ถ้าท่านต้องการไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ขอให้คิดว่ามีความติดหรือมีความต้องการหรือเปล่าในขณะนั้น ที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที และข้อสำคัญที่สุด คือว่าเมื่อไปแล้วศึกษาอะไร เข้าใจอะไรเพิ่มเติมขึ้น หรือว่า มีเวลามากพอที่จะปฏิบัติผิด เข้าใจผิด ซึ่งทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ ๑๐๖๑
การเจริญสติปัฏฐานไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา เพราะว่าปัญญาเกิดได้ทุกที่ค่ะ
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๓๙๙
" ผู้ไม่เศร้าโศรกถึงสิ่งที่เป็นอดีต
ไม่บ่นถึงสิ่งที่เป็นอนาคต
ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เป็นปัจจุบัน
ท่านเรียกว่า ผู้สันโดษ "