สนทนาธรรม...บทที่ ๔๖

 
พุทธรักษา
วันที่  4 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8813
อ่าน  1,333

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ป. สวัสดีค่ะ คราวก่อนดิฉันจำได้ว่า เป็นการสนทนาเรื่องพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรม อนุเคราะห์แก่สัตว์โลกโดยละเอียด พร้อมทั้งอุปมาที่ไพเราะชัดเจนมากค่ะ ทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจในเหตุผลของธรรม ที่พระองค์ทรงแสดงอย่างแจ่มแจ้ง เป็นเครื่องเตือนใจให้พุทธบริษัทใคร่ครวญ พิจารณาเพื่อน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามนะคะ พระพุทธวจนะทุกคำ ย่อมมีประโยชน์กับพุทธบริษัท อย่างประมาณไม่ได้เลย

ส. ค่ะ ถ้าคุณประชุมพรสนใจศึกษาต่อไป ก็จะยิ่งเห็นพระคุณอันประเสริฐ ของพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคประทานไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะ ถึงแม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้ว ผู้ที่ศึกษาพระธรรมวินัยของพระองค์ ก็ย่อมได้ความเข้าใจและได้รับอรรถรสของพระธรรม ซาบซึ้งด้วย ความปิติ เลื่อมใส เปรียบได้กับการฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ ของพระองค์

ป. ความซาบซึ้งในรสพระธรรม ก็คงจะเพิ่มขึ้นตามระดับของความเข้าใจ เพราะเพียงรู้ว่าพระผู้มีพระภาคฯ เป็นผู้ทรงพระปัญญาอย่างสูงสุดเหนือผู้ใดทั้งสิ้น เราก็กราบไหว้สักการะ เคารพนอบน้อมในพระคุณของพระองค์อย่างยิ่งแล้วนะคะ ถ้าได้ศึกษาและเข้าใจก็จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลากิเลสและเจริญกุศลยิ่งขึ้นจนหมดกิเลสด้วยแล้ว ก็ย่อมจะยิ่งเคารพ สักการะนอบน้อมต่อพระองค์อย่างสุดที่จะประมาณทีเดียวนะคะ แต่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระปัญญาสูงสุด ทรงตรัสรู้ลักษณะ ของสภาพธรรมทั้งหมดโดยตลอด เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงนั้น ก็ย่อมจะละเอียดสุขุมและยากแก่การศึกษาและปฏิบัติตามอย่างยิ่งเชียวนะคะ

ส. พระผู้มีพระภาคฯ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาแสดงแก่สัตว์โลกนั้น มีหลายระดับตามควรแก่อัธยาศัยของผู้ฟัง ตามความสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ และถ้าผู้ใดฟังพระธรรมและประพฤติปฏิบัติตามธรรมขั้นต้นแล้วมีความเลื่อมใส ศรัทธา สนใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมขั้นต่อๆ ไป ก็จะได้รับประโยชน์ จากพระธรรมยิ่งๆ ขึ้น.

ป. เมื่อศึกษาจนเข้าใจและซาบซึ้งในอรรถรสของธรรมในขั้นต้นแล้ว ก็คงเกิดความเลื่อมใส และติดตามศึกษา ประพฤติปฏิบัติตามมากขึ้น ดิฉันจำได้ว่า อาจารย์เคยพูดถึงความไพเราะของพระพุทธวจนะ แม้ในเรื่องธรรมดาๆ ว่า เป็นความจริงที่เตือนใจ และน่าใคร่ครวญให้ระลึก ถึงความจริงนั้นอย่างยิ่ง อาจารย์กรุณายกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังทราบหัวข้อธรรมที่เป็นความจริงอย่างง่ายๆ นี้บ้างไหมคะ

ส. ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ โรหิตัสสวรรค ที่ ๕ สุวิทูรสูตร ข้อ ๔๗ พระผู้มีพระภาค ตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการ คือ

ฟ้ากับดิน นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๑

ฝั่งนี้และฝั่งโน้นของมหาสุมทร นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๒

พระอาทิตย์ยามขึ้นและอัสดงคต นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๓

ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๔

และนักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่า ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทรก็ไกลกัน พระอาทิตย์ส่องแสงยามอุทัย กับยามอัสดงไกลกัน

บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษ ไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคมกับสัตบุรุษมั่นคงยืนยาวย่อมเป็นอย่างนั้น ตราบเท่ากาลที่พึงดำรงอยู่ ส่วนการสมาคมกับอสัตบุรุษ ย่อมจืดจางเร็ว

เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงไกลกว่าธรรมของอสัตบุรุษ

จากหนังสือ บทสนทนาธรรม โดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กับคุณวันทนา ทิพวัลย์ และคุณประชุมพร ชาญสุวิทยานันท์ ๑ มกราคม ๒๕๓๐

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 5 มิ.ย. 2551

บุคคลย่อมคบค้าสมาคมกันโดยธาตุ เช่น สัตบุรุษย่อมคบค้าสมาคมกับสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมคบค้าสมาคมกับอสัตบุรุษ และกุศลไกลจากอกุศล คนที่รักแม้จะอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ ส่วนคนที่ไม่รักแม้อยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 5 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
happyindy
วันที่ 6 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
นวล
วันที่ 6 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
มาณพน้อย
วันที่ 7 มิ.ย. 2551

"คนที่รักแม้จะอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ ส่วนคนที่ไม่รัก แม้อยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล"ขณะที่นั่งฟังธรรมอยู่ในห้องประชุมใหญ่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อหลายปีก่อน ได้ยินข้อคิดธรรม ประโยคหนึ่งที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า "ใครจะรักหรือไม่รัก สำคัญไหม ถ้าใจเราเป็นกุศล" ดังนั้น ไม่ว่าใครจะประพฤติตน ต่อเราอย่างไร เราก็ไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจว่าทุกคนสั่งสมอัธยาศัยมาไม่เหมือนกัน จิตใจไม่เหมือนกัน ครับ

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

มาณพน้อย ความคิดเห็นที่ 5

ไม่ว่าใครจะประพฤติตน ต่อเราอย่างไร เราก็ไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจว่า ทุกคนสั่งสมอัธยาศัยมา ไม่เหมือนกัน จิตใจไม่เหมือนกัน

ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา

แต่ว่า สิ่งที่เข้าใจได้ง่ายนั้น กลับทำได้ยากยิ่งนัก และขาดสติเมื่อไหร่ ก็ไม่คิดแม้แต่จะพยายาม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 8 มิ.ย. 2551
อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 5 โดย มาณพน้อย


"คนที่รักแม้จะอยู่ไกลก็เหมือนอยู่ใกล้ ส่วนคนที่ไม่รัก แม้อยู่ใกล้ก็เหมือนอยู่ไกล"ขณะที่นั่งฟังธรรมอยู่ในห้องประชุมใหญ่ของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อหลายปีก่อน ได้ยินข้อคิดธรรม ประโยคหนึ่งที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า "ใครจะรัก หรือ ไม่รัก สำคัญไหม ถ้าใจเราเป็นกุศล" ดังนั้น ไม่ว่าใครจะประพฤติตน ต่อเราอย่างไร เราก็ไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจว่าทุกคนสั่งสมอัธยาศัยมาไม่เหมือนกัน จิตใจไม่เหมือนกัน ครับ

...ขออนุโมทนาครับ...

ใครจะรักหรือไม่รัก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนอย่างไร

สำคัญที่เราต่างหากว่าใจเราขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 23 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ