ระหว่างศีลกับกุฏิพระจะรักษาอย่างไหนก่อน?

 
จ่าหนาน
วันที่  8 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8836
อ่าน  2,273

ในวันหยุด ผมจะไปดูแลวัดที่อยู่ใกล้บ้านเป็นประจำ (วัดป่าตั้งใหม่) ซึ่งมีกุฏิอยู่ ๕ หลัง (หลังเล็กๆ หลังคามุงจาก) มีพระอาศัยอยู่ 2 องค์ กุฏิที่ไม่มีพระอาศัย (มีไว้รองรับพระที่สัญจรมาพัก) จะมีปลวกขึ้นเป็นประจำ ผมเคยนำน้ำมันเครื่องเก่าไปราดโดนเสา และตามพื้นกุฏิ โดนตัวปลวกมั่งไม่โดนมั่ง จะไม่ทำกุฏิก็จะเสียหาย (แน่ๆ ) รู้สึกไม่สบายใจ และไม่แน่ใจว่าจะได้บุญมากกว่าบาปหรือเปล่า วันนี้ จะเทปูนล้อมรอบโคนเสา ทำเป็นแอ่งเหมือนขาตู้กับข้าว (พึ่งคิดได้) แล้วเอาน้ำมันเครื่องเทรอบๆ ไว้(ก็ต้องไปรบกวนปลวกอีก) ทำคนเดียว จะทำได้แค่ไหนไม่รู้ ดีว่าระยะนี้ฝนตก ไม่งั้นต้องรดน้ำต้นไม้ (ปลูกป่าเสริม) ดูแลวัด เหนื่อยมาก (บางวันก็ท้อ) บุญก็อยากได้ หาคนมาช่วยก็ไม่มี ดังนั้น ผมจึงขอเรียนถามว่า ระหว่างศีลกับกุฏิจะรักษาอย่างใหนก่อน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

ความจริงแล้วทั้งศีลและกุฎิก็ควรรักษาทั้งสองอย่าง แต่ศีลสำคัญกว่ากุฎิ เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านสละทั้งทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตเพื่อรักษาศีล สมดังคาถาที่ท่านกล่าวไว้ว่า

"นรชนพึงสละทรัพย์ เพราะเหตุแห่งอวัยวะอัน ประเสริฐกว่า เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะเสีย เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ ทั้งชีวิตเสียทั้งหมด"

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

สาธุ

กำลังศึกษาเพื่อการรักษาศีลให้ยิ่งกว่ารักษาทรัพย์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ ..ศีล ๕ กับเรื่องปลวก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prakaimuk.k
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

ควรรักษาศีลก่อนค่ะ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ว่ามีความเห็นถูกเข้าใจถูกในระดับใด ดังนั้น การศึกษาพระธรรมเพื่อรักษาศีลให้ยิ่งกว่ารักษาทรัพย์ (ตามความคิดเห็นที่ ๓ - ขออนุโมทนา) จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำยิ่งค่ะ ...

ปัญญาที่เจริญขึ้น จะเป็นปัจจัยแก่การรักษาศีล (ทรัพย์ภายใน) ได้มั่นคงขึ้น และจะค่อยๆ ลดความติดข้องในการรักษาทรัพย์ (ภายนอก) ลงด้วย

ขออนุโมทนาคุณจ่าหนาน ที่มีความตั้งใจจริงในการศึกษาธรรม และมีกุศลเจตนาลงแรงกายและใจ ทำนุบำรุงวัดใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุและแก่คนทั่วไป

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นิโรธะ
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

รักษาความเป็นปกติไว้ครับ

ปลวกต้องทำรังและกินเนื้อไม้เป็นธรรมดา เป็นปกติของปลวก

กุฏิต้องผุพังเป็นธรรมดาของสิ่งที่แตกดับด้วยความร้อนและความเย็น เป็นปกติของไม้

ผู้มีศีลย่อมไม่ทำลายสัตว์อื่นเป็นปกติ ทุกสิ่งในโลกล้วนต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

สาธุการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 8 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จ่าหนาน
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

วันนี้ก็ไปวัดมา ที่กุฏิก็ยังมีปลวกอยู่ ก็เอาปูนไปล้อมเสาต้นที่ไม่มีปลวกไว้ ส่วนต้นที่มีปลวกก็ดูมันเฉยๆ (ไม่มาก) แต่ที่ศาลาวัด (ใต้โต๊ะหมู่บูชา) มีปลวกเยอะเลย ก็เลยไปเคาะดู มันพากันเดินลงตามเสาศาลาเหมือนรถยนต์กรุงเทพเลย นั่งดูมัน ตอนแรกกะว่าพอมันลงหมดจะเอาผ้าชุบนำมันไปมัดไว้ไม่ให้มันขึ้นไปอีก นั่งเป็นชั่วโมงก็ไม่หมด พอเราไม่เคาะมันก็เริ่มกลับขึ้นไปใหม่ เลยถอดใจกลับบ้าน มาเข้าเน็ตนี่แหละ อ่านคำตอบแล้ว รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เคยทำมาก ผมหลงผิดไปจริงๆ ถ้าไม่หันหน้าเข้าหาธรรม ผมคงทำอะไรผิดอีกมากมาย เพราะห่วงเสนาสนะของวัดมากเกินไป กว่าจะสร้างได้ก็ยากลำบาก ปลวกมันจะให้อภัยผมไหมครับ แล้วปลวกมันไม่บาปหรือครับ ที่ทำลายศาสนสถาน ไม้แห้งในป่ามากมายก็ไม่ไปกิน ขอบคุณมากที่ตอบคำถาม ชี้ทางถูกผิดให้ผมไม่หลงผิดต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อนุโมทนา
วันที่ 8 มิ.ย. 2551

ไม่มีคำว่าสาย หากเข้าใจถูกขึ้นและน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีใหม่ ไม่มีใครไม่เคยทำผิด แต่เมื่อทำผิดแล้วเห็นโทษ และประพฤติในสิ่งที่ดีใหม่ นั้นเป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า หากเราทำผิดกับสัตว์หรือบุคคลใด แม้เขาจะให้อภัยหรือไม่อภัยเราเลยก็ตาม แต่สิ่งที่ควรทำในความผิดที่ได้ทำไป คือทำดีใหม่..ต่อไป อันเกิดจากได้ฟังและอ่านความเห็นในพระธรรมที่ถูกต้อง ขออนุโมทนาที่เข้าใจถูกขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
happyindy
วันที่ 9 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ตุลา
วันที่ 9 มิ.ย. 2551

ศีล ... จะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจธรรมะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 9 มิ.ย. 2551

ในวันหนึ่งๆ กุศลจิต เกิดได้จริง ตามการสะสม เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ

แต่ที่เหลือในวันนั้นเป็นอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญา จึงจะเห็นโทษของอกุศล ปัญญาเริ่มที่จะอบรมได้ ด้วยการฟังพระธรรม การศึกษาการสอบถาม การสนทนา ต้องอาศัยกาลเวลา ค่อยๆ สั่งสมไปทีละเล็กทีละน้อย ในชีวิตประจำวัน อะไรก็ตามถ้าเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศล ย่อมเป็นสิ่งที่ควรจะเจริญให้มีขึ้นทั้งนั้น ถ้ามีความเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว จะรู้ได้ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริงในชีวิต คือ ปัญญา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 9 มิ.ย. 2551

สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย ศึลสำคัญกว่ากุฏิพระ แต่ขึ้นอยู่กับปัญญาและการสั่งสมมาต่างกัน ถ้าคิดถูกจึงจะเป็นกุศล เช่น บางคนยอมเสียทร้พย์เพื่อรักษาศีล บางคนยอมเสียญาติ คนรัก เพื่อรักษาศีล แต่ถ้าคิดไม่ถูก บางคนยอมเสียศีลเพื่อรักษาทรัพย์ และยอมเสียศีลเพื่อรักษาญาติ คนรัก ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
suwit02
วันที่ 9 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เมตตา
วันที่ 9 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนา คุณkhampan.a เห็นด้วยค่ะ

ในชีวิตประจำว้น อะไรก็ตามถ้าเป็นสิ่งที่ดีเป็นกุศล ควรเจริญให้มีขื้นทั้งนั้น แต่อะไรก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศล แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรกระทำค่ะ

ขออนุโมทนา คุณstudy และ คุณอนุโมทนา ความคิดเห็นเกื้อกูลพวกเรามากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
nok_ruuh
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

โจรเคราแดงทำหน้าที่เป็นเพชรฆาตฆ่าโจรเกือบค่อนชีวิต แต่ได้ฟังธรรมจากพระสารีบุตร จวนใกล้ได้โสดาปัตติมรรค ถูกโคขวิดตาย ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

ภิกษุรูปหนึ่งเคร่งครัดในพระวินัยตลอดชีวิต แต่เพราะเรือจะคว่ำจึงทำให้พรากของเขียว ตายแล้วไปเกิดเป็นพญานาค สองเรื่องนี้อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงต้องไปเกิดในที่ดีเลวต่างกันเล่าจ๊ะ ศึกษาแล้วน่าจะหาคำตอบเรื่องปลวกกับกุฏิพระได้จ้า

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
sumek
วันที่ 12 มิ.ย. 2551

ทำร้ายคนอื่นก็คือทำร้ายตัวเอง ตั้งแต่คิดจะทำใจก็มีทุกข์แล้ว ในใจก็ต้องรู้สึกละอายเมื่อรู้ตัว สติเกิดก็ไม่ไปจนถึงพูดและการกระทำที่ไม่ดีจะหยุดอยู่แค่นั้น ถ้าเราอยู่กับความเป็นผู้รู้อย่างเดียว

ขออนุโมทนากับจิตที่เป็นกุศลทุกดวง

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ปทปรม
วันที่ 12 มิ.ย. 2551

ทุกท่านก็คงทำตามกำลังปัญญาของตน ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ศีลก็ยังไม่บริสุทธิ์ ทุกครั้งที่พนักงานกำจัดปลวกมาพ่นยาฆ่าแมลงที่บ้าน รู้สึกแย่มากๆ แต่ก็ยังต้องทำทั้งๆ ที่รู้ว่าล่วงศีล อกุศลกรรมทำแล้ว รอเพียง อกุศลวิบากที่จะให้ผลเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ