อยากสร้างอุปนิสัยทำยังไงครับ
ไม่รู้ว่าผมใช้ศัพท์ถูกหรือไม่ที่ใช้คำว่าอุปนิสัย และคำว่าอุปนิสัยกับวาสนา ใช้ต่างกันไหมครับช่วยตอบที ทำยังไงจึงจะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภายภาคหน้าครับ เวลาเกิดในภพใหม่ ถึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกและสร้างความดีไปเรื่อยๆ จนถึงนิพพานครับ เพราะกลัวว่าเกิดชาติต่อๆ ไปอาจจะมีนิสัย หรือมีความคิดที่ไปในทางที่ถูกเหมือนที่เป็นอยู่ หรือแม้แต่ในชาตินี้บางทีก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้น่ะครับ ช่วยตอบทีครับ เพราะกลัวว่าเกิดชาติต่อๆ ไปอาจจะมีนิสัย หรือมีความคิดที่ไม่เป็นไปในทางที่ถูกเหมือนที่เป็นอยู่ หรือแม้แต่ในชาตินี้ บางทีก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้น่ะครับ ช่วยตอบทีครับ
คำว่าอุปนิสัยกับวาสนา กล่าวโดยอรรถแล้วมีความหมายเหมือนกัน คือสิ่งที่เคยสะสม หรือสิ่งที่เคยประพฤติ หรือเคยกระทำมาแล้ว แต่คำว่า วาสนา มีความหมายมุ่งเจาะจงถึงความประพฤติหรือการสะสมจนเคยชิน แต่ทั้งสองคำหมายถึงธรรมะทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศลที่เคยประพฤติมา และ ขณะปัจจุบันเมื่อมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจย่อมสะสมเป็นอุปนิสัยต่อไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นชาติหน้า หรือชาติต่อๆ ไปจะเป็นคนอย่างไรก็ขึ้นอยู่ที่ชาตินี้เช่นกัน เพราะอุปนิสัยใดที่สะสมไว้ ย่อมติดตามไปเสมอเป็นธรรมดาของจิตที่จะต้องเป็นเช่นนั้น คือสะสมสันดานของตนครับ
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าต้องเป็นผู้ได้สั่งสมอบรมเจริญกุศลมาแล้ว เพียงเท่านี้ก็คงจะทำให้มีความมั่นคงในการสั่งสม หรือสร้างเหตุใหม่ที่ดีต่อไปได้ ด้วยการเจริญกุศลประการต่างๆ ทีละเล็กทีละน้อยพร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี ย่อมเป็นสิ่งที่ควรจะสั่งสมอบรมเจริญให้มีขึ้น ผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านจะไม่ประมาทแม้ในอกุศลเพียงเล็กน้อย และ เป็นผู้ไม่ละเลยในการเจริญกุศลแม้จะเล็กน้อย ด้วยเช่นกันครับ เนื่องจากเป็นผู้สั่งสมกิเลส สั่งสมอกุศลมามากในสังสารวัฏฏ์ จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เราอยู่ในโลกของความมืดมิดมานานแสนนาน พอได้ฟังพระธรรมก็มีแสงสว่างนิดหนึ่ง แสงสว่างนั้นจะกว้างและจะสว่างสักแค่ไหนนั้น เราก็ต้องค่อยๆ อบรมเจริญไป เพราะไม่รู้ และรู้ว่า ไม่รู้ จึงต้องฟังพระธรรม เพื่อจะได้รู้ ครับ
พระอรหันต์ละวาสนาคือ ความประพฤติที่เคยชินเกี่ยวกับกิริยามารยาทที่ไม่งาม ละไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าละวาสนาคือ ความประพฤติที่ไม่งามได้หมดค่ะ เวลาที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดใคร ทรงตรวจดูว่าผู้นี้มีอุปนิสัยสามารถบรรลุได้ไหม ฯลฯ
อุปนิสัยและวาสนาคือ สิ่งที่สะสมมา สะสมอยู่ที่จิต ไม่มีตัวเราสะสม มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปสะสมในจิตขณะต่อไป เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ก็สะสมในจิตขณะต่อไปทำให้เป็นคนโกรธง่ายขึ้น มีอุปนิสัยมักโกรธ เมื่อเกิดสภาพธรรมนั้นบ่อยๆ ส่วนในทางกุศล เมื่อเป็นผู้ให้ จิตสะสมความสละ ก็ย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยในการให้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสภาพธรรมที่เป็นจิตที่เป็นกุศลและอกุศลเมื่อเกิดขึ้นย่อมสะสมที่จิตและทำให้อุปนิสัยต่างกัน
ส่วนประเด็นในเรื่อง การจะทำอย่างไรให้เป็นผู้มีอุปนิสัยในทางกุศลหรือมีความเห็นถูกนั้น ก็เริ่มจากขณะนี้เอง ขณะนี้กำลังถามเพื่อความเข้าใจถูกและเมื่อเข้าใจ ขณะที่เข้าใจในคำตอบ ขณะนั้นก็ชื่อว่าสะสมแล้ว สะสมอุปนิสัยในความเห็นถูก เมื่อมีความเห็นถูกมากขึ้น (ปัญญา) กุศลประการต่างๆ ก็เจริญมากขึ้นตามความเข้าใจ (ปัญญา) และไม่ควรลืมว่า การที่จะมีความมั่นคงไม่เปลี่ยนไปในทางเห็นผิดเลยนั้นต้องเป็นพระอริยบุคคล ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนก็ยังเปลี่ยนแปลงได้เมื่อคบอสัตบุรุษหรือฟังธรรมในทางที่ผิด แต่หากสะสมความเข้าใจถูกมา การสะสมนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เห็นประโยชน์ในขณะนี้เองว่า การฟัง การสอบถามและการสนทนาในหนทางที่ถูกเพื่อเข้าใจว่าความจริงคืออะไร ขณะนี้เป็นธรรมอย่างไร เป็นต้น ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่แสงสว่างของอุโมงค์ได้ในที่สุด ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่สะสมเหตุใหม่ในทางที่ถูกได้
ขออนุโมทนา
ถามเหมือนจะฝึกนิสัยได้ เป็นเรา เป็นตัวเรา อีกแล้ว
อย่างกับตำราของ Stephen R. Covey เรื่อง 7 Habits อ่านมา จะ 10 ปีแล้วยังฝึกไม่ได้เลย ตามเหตุปัจจัยและการสะสมมา เข้าใจเลยว่าชาติที่แล้วหรือชาติอื่นๆ ชาติไหน ไหนก็แบบนี้แหละคะ
อย่าไปคิดถึงชาติใหม่ภพใหม่เลยคะ อวิชชาก็มาก ปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้ลดละและขัดเกลากิเลส และอกุศล
สาธุ ขออนุโมทนาค่ะ
ลักษณะของจิตอีกประการหนี่ง คือสังสมสันดานด้วยอำนาจแห่ง "ชวน" ที่กลัวว่าชาติหน้าจะมีความคิดในทางทีไม่ถูก เพราะสั่งสมในทางทีไม่ถูกมา เมื่อรู้ว่าสั่งสมมีจริง ก็สั่งสมในทางทีถูกโดยการฟังธรรม แข่งกับทางที่ผิด แล้วดูว่าใครจะชนะ ถ้าถูกชนะ คุณก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าชาติหน้าจะไม่ได้พบพระธรรม ถ้าผิดชนะก็ sorry. ถ้ามีความมั่นคงในการฟังธรรมในชาตินี้ และมีปกติระลึกสภาพธรรมตามที่จะทำได้ในชีวิตประจำวัน การเปลี่ยนแปลงในชาตินี้ยากครับ.
ได้อ่านเหมือนกันค่ะคุณนวล ตอนที่กำลังอ่านก็มีความหวังมากเลยค่ะ คิดว่าจะทำตามที่หนังสือแนะนำ (ก่อนที่จะได้เรียนธรรมะ) พอนึกย้อนกลับไป (หลังจากที่ได้เรียนธรรมะแล้ว) เข้าใจแล้วค่ะ ว่าทำไมทำไม่ได้อย่างที่หนังสือบอก ตอนนี้เลิกอ่านแล้วค่ะ รวมทั้งหนังสือธรรมะเล่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อ้างอิงจากพระไตรปิฏกด้วย ขออนุโมทนาค่ะ