ทาน ศีล และภาวนา ทำควบคู่กันไปได้หรือไม่?

 
จ่าหนาน
วันที่  9 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8853
อ่าน  2,759

การให้ทานกับการรักษาศีลสามารถทำควบคู่กันไปได้เลยผมไม่สงสัย แต่การภาวนามักมีคนพูดว่า ต้องรักษาศีล 5 ให้สะอาดก่อน แล้วจึงเริ่มภาวนาได้ (นั่งสมาธิ) ถ้าศีล 5 ไม่สะอาดแล้วไปภาวนาจะมีผลดีผลเสียอย่างไร? ขอให้ท่านผู้รู้ กรุณาตอบบัวในโคลนตมเช่นผมด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่ที่ความเข้าใจครับ โดยทั่วๆ ไปเราก็ทราบกันแล้วว่า กุศลขั้นภาวนา (สมถะและวิปัสสนา) เป็นกุศลขั้นสูงกว่ากุศลขั้นทาน ขั้นศีล ผู้ที่มีปัญญาท่านเห็นโทษของอกุศล เห็นโทษของวัฏฏะ จึงเจริญสมถะและวิปัสสนา สำหรับกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ไม่ต้องพูดถึงว่าท่านจะไม่เจริญ สำหรับผู้ที่มีใจบาปหยาบช้ามีแต่อกุศลและบาปตลอด ทุศีล ไม่สำรวมกาย วาจา การที่บุคคลเช่นนี้จะไปเจริญภาวนา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะไม่มีพื้นฐานของกุศลขั้นสูง ดังนั้นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล จึงเป็นพื้นฐานของจิตขั้นสูงคือ ฌาน และวิปัสสนา มรรค ผลแต่ผู้ที่กำลังสะสมอบรมเจริญ ใช่ว่าจะต้องมีศีลที่บริสุทธิ์ ๑๐๐ % เพราะด้วยความที่เป็นปุถุชนศีลย่อมมีขาดตกบกพร่องบ้าง เป็นธรรมดา ในขณะที่ยังมีศีลไม่บริบูรณ์นั้นถ้าไม่ขาดการศึกษา การฟังพระธรรม ย่อมค่อยๆ เจริญสมถะ สติปัฏฐานได้ตามสมควรเมื่อความเข้าใจ หรือปัญญาเจริญมากยิ่งขึ้น ศีลย่อมบริสุทธิ์ตามกำลังของปัญญา แต่จะบริสุทธิ์จริงๆ เมื่อถึงความเป็นพระอริยบุคคลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาคุณ study ค่ะ

เรียนคุณจ่าหนาน การภาวนาไม่ใช่การนั่งสมาธินะคะ การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง คืออย่างไร นั่งสมาธิเป็นการปฏิบัติธรรมไหม เชิญคุณจ่าหนานคลิกอ่านที่

การปฏิบัติธรรม

เรื่องการปฏิบัติธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prakaimuk.k
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ความเข้าใจเรื่องการเจริญภาวนา (จากปกิณณกธรรม 06628)

การอบรมเจริญภาวนา มีทั้งการอบรมเจริญความสงบ ซึ่งเป็นสมถภาวนา และการอบรมเจริญปัญญาคือ วิปัสสนาภาวนา ทั้งสองอย่างต้องอาศัยปัญญาจึงจะเจริญได้ เพราะเหตุว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่ต่างกันระหว่าง กุศลจิตและอกุศลจิต ก็ย่อมจะเจริญสมถะคือ ความสงบจากอกุศลไม่ได้ ฉะนั้น การอบรมเจริญความสงบของจิต จึงต้องมีสติสัมปชัญญะ ที่สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิตในขณะนี้เสียก่อน แล้วจึงจะอบรมเจริญกุศลที่เป็นความสงบ คือ สมถภาวนา

สำหรับ วิปัสสนาภาวนา เป็นสติสัมปชัญญะที่สามารถรู้สภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
มาณพน้อย
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

จิตที่ดีงามนั้น ย่อมเป็นไปในทาน (การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ขณะที่ให้ทานช่วยเหลือบุคคลอื่น เป็นจิตและเจตสิกที่เป็นกุศล โดยสติเป็นสภาพที่ระลึกที่จะให้) เป็นไปในศีล (ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม งดเว้นทุจริตประการต่างๆ และประพฤติสุจริตประการต่างๆ ซึ่งเป็นไปทางกาย และทางวาจา จึงเป็นสติขั้นศีล) เป็นไปในภาวนา (ภาวนา เป็นเรื่องของการอบรมเจริญ มีทั้งอบรมเจริญความสงบ และ อบรมเจริญปัญญา ภาวนานั้นจะขาดปัญญาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ภาวนาจึงไม่ใช่การนั่งสมาธิ)

ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะไม่เว้นโอกาสของการเจริญกุศลเลย เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น บางคราวเป็นโอกาสของทาน บางคราวเป็นโอกาสของศีลที่สำคัญ ไม่ขาดการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ภาวนา หมายถึง การอบรม การเจริญให้ยิ่งขึ้น ขณะที่เราตั้งใจฟังธรรมแล้วเข้าใจปัญญาเกิด ขณะนั้นเป็นกุศลขั้นภาวนา สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ชั่วขณะ เป็นมหากุศลจิตที่ยิ่งกว่าทาน ยิ่งกว่าศีลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pornpaon
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาคุณจ่าหนานที่สอบถามเรื่องนี้

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนสงสัยเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ ค่ะ ดิฉันก็เคยฝึกนั่งหลับตามาทั้งสองแบบ (สองสาย ตามที่มักเรียกกัน) มาตั้งแต่อายุ 17 ทั้งการเฝ้าลมหายใจเข้าออก การรู้สึกท้องพองยุบ ทั้งการเดิน การคิดท่อง ปิดวาจาก็ด้วย ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน เพิ่งจะเริ่มเกิดความเข้าใจบ้างว่าอะไรเป็นอะไรและค่อยๆ ห่างมาตอนอายุ 36 จนเลิกการนั่งหลับตา เลิกเดินท่องยกขาได้ขาดตอนอายุ 37 นี่เองค่ะ

อย่าลืมคลิกไปอ่านที่คุณเมตตาทำลิ้งค์ไว้ให้ด้วยนะคะ

และขออนุโมทนาท่านผู้ให้ความรู้ความเข้าใจแก่คุณจ่าหนานทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
suwit02
วันที่ 10 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิโรธะ
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ขอเสริมอีกนิดครับ

ทาน พระพุทธเจ้าแสดงไว้เพื่อ สละความโลภ

ศีล ทรงแสดงไว้เพื่อมิให้ โกรธ ประทุษร้ายผู้อื่น ทั้งกายวาจาใจ

ภาวนา ทรงแสดงไว้เพื่อ มิให้หลง หรือทำให้มีขึ้นเป็นขึ้นในจิต

ทำให้มีการให้ ทำให้มีศีล ในขณะยืน เดิน นั่ง และนอน

สาธุการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จ่าหนาน
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

ตอนแรกผมคิดว่าผมเป็นเด็ก ป.๑ มานั่งเรียนในห้องเรียนมัธยม แต่ตอนนี้ผมคิดว่า ผมเป็นเด็ก ป.๑ มานั่งเรียนในห้องเรียนมหาวิทยาลัยไปแล้ว ถ้าไม่ใช่ห้องเรียนธรรมะคงถูกไล่ออกออกจากห้องเรียนไปแล้ว ข้อดีก็คือได้คำตอบที่ถูกต้องจริงๆ ข้อเสียก็คือผมปรับตัวยากมาก จะทำไงได้ครับคนทำบุญมาน้อย ช่วยอุ้มชูหน่อยเถอะครับ ก็ได้รับความเมตตากรุณาจากท่านทั้งหลายเป็นอย่างดี ผมกราบขอบคุณครับ ผมจะพยามยามศึกษาต่อไป ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Apologize
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

เริ่มเข้าใจในความเป็นจริงในขั้นการฟังก่อนว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงและเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ โลภะมีจริงไหม มีจริงเป็นธรรม กุศลมีจริงไหม มีจริงเป็นธรรม บังคับให้เกิดหรือไม่เกิดตามใจชอบได้ไหม ขณะนี้ในชีวิตประจำวัน บางครั้งก็เกิดโลภะ บางครั้งก็เกิดกุศล หมายความว่ากุศลและอกุศลเกิดสลับกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นอนัตตาเกิดสลับกันไป การอบรมปัญญา (ภาวนา) เพื่อให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้นโลภะเกิด เป็นสิ่งที่มีจริง การภาวนาคือให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ละความเห็นผิดว่าเป็นเราที่ติดข้อง ถามกลับให้คิดว่า อกุศลเกิดควบคู่กับการภาวนาได้ไหม? ได้เพราะกุศลและอกุศลเกิดสลับกัน อกุศลเกิดแล้วเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Apologize
วันที่ 10 มิ.ย. 2551

การภาวนาคือ เข้าใจว่าเป็นธรรม ในขณะที่อกุศลนั้นเกิด แต่ต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจก่อนว่าธรรมคืออะไร จึงกลับมาที่คำถามว่า ให้ทาน รักษาศีลควบคู่กับการภาวนาได้ไหม ได้แต่ต้องมีความเข้าใจถูกต้องว่าภาวนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ส่วนจะรักษาศีลให้สะอาดไม่ล่วงเลยต้องเป็นพระโสดาบัน แต่ขัดเกลาเท่าที่จะทำได้ แต่เมื่ออกุศลเกิดก็เป็นธรรมสามารถรู้ความจริงได้เป็นการอบรมภาวนาเช่นกัน แม้อกุศลเกิดก็รู้ได้ ดังนั้นการอบรมภาวนา ไม่ใช่การพยายามทำให้สะอาดก่อน เพราะใครจะบังคับอกุศลที่จะเกิดได้ แต่ควรเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นกุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นตามปัญญาที่เห็นถูกไม่ว่าจะเป็นขั้นทานและศีล เป็นต้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 11 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 12 มิ.ย. 2551
ขออนุโมทนา สาธุ....
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 12 มิ.ย. 2551

ถ้าศีล 5 ไม่สะอาดแล้วไปภาวนาจะมีผลดีผลเสียอย่างไร?

ศีลยังไม่ดี – กังวลยังมี ห้ามเรียนกรรมฐาน เล่ม ๒ หน้า ๓๕๐

เบื้องหน้าแต่การชำระศีลให้หมดจดนั้น ก็ควรตัดปลิโพธ (ความกังวล) อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาปลิโพธ ๑๐ อย่างที่พระอาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ปลิโพธ (ความกังวล) ๑๐ อย่างนั้นคือ

1. อาวาส (ที่อยู่)

2. ตระกูล

3. ลาภ (ปัจจัยสี่)

4. คณะ (คือหมู่)

5. การงาน (คือการก่อสร้าง)

6. อัทธานะ (คือเดินทางไกล)

7. ญูาติ

8. อาพาธ (เจ็บป่วย)

9. คัณฐะ (คือการเรียนปริยัติ)

10. อิทธิฤทธิ์

กุลบุตรผู้ตัดปลิโพธได้อย่างนั้นแล้ว จึงควรเรียนกรรมฐาน

ลองพิจารณาดูนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Apologize
วันที่ 12 มิ.ย. 2551

ในเรื่องปลิโพธ (ความกังวล) การอบรมเจริญวิปัสสนา ปลิโพธ ๙ ข้อแรกไม่เป็นเครื่องกั้น แต่การอบรมสมถภาวนา ปลิโพธ ๙ ข้อแรกเป็นเครื่องกั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่ามีความกังวล (ปลิโพธ) จะอบรมเจริญวิปัสสนาไม่ได้หรือห้ามเรียนกรรมฐาน (วิปัสสนา) การอบรมปัญญา (วิปัสสนา) คือเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ความกังวล (ปลิโพธ) เป็นธรรมไหม มีจริงหรือเปล่า ปัญญาควรรู้หรือไม่ควรรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา การอบรมวิปัสสนาจึงเป็นการอบรมในชีวิตประจำวันในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็เป็นธรรม บังคับไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นไม่ได้ แม้แต่ความกังวล (ปลิโพธ) แต่ก็เข้าใจความจริงได้ว่าเป็นธรรม ส่วนในเรื่องต้องรักษาศีลให้บริสุทธ์ก่อน ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่ให้ล่วงศีลเลย เป็นไปไม่ได้เพราะยังเป็นปุถุชน แต่ชำระศีลในที่นี้คือโดยนัยของพระภิกษุ

[เล่มที่ 2] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค [เล่มที่ 2] - หน้าที่ ๓๕๐

ในศีลนั้น มีวิธีชำระให้หมดจด ๓ อย่าง คือ ไม่ต้องอาบัติ ๑ ออกจากอาบัติที่ต้องแล้ว ๑ ไม่เศร้าหมองด้วยกิเลสทั้งหลาย ๑. จากข้อที่บอกว่า ออกจากอาบัติที่ต้องแล้ว แสดงว่า อาจมีการล่วงศีลได้ จึงต้องออกจากอาบัติด้วยการแสดงคืน จึงชื่อว่าศีลบริสุทธ์ แต่ไม่ใช่ไม่ล่วงเลย เป็นไปไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Apologize
วันที่ 12 มิ.ย. 2551

ส่วนในเพศฆราวาสนั้น ก็เป็นธรรมดาที่ล่วงศีลได้ แต่ศีลจะบริสุทธิ์ก็เป็นขณะจิตไป เช่น ขณะสมาทาน ขณะที่ล่วงแล้วก็เห็นโทษและสำรวมใหม่ เป็นต้น

[เล่มที่ 73] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ ๖๓๗

อนึ่ง ศีลย่อมบริสุทธิ์โดยอาการ ๔ อย่าง คือโดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑ โดยการสมาน ๑ โดยไม่ก้าวล่วง ๑ และโดยทำให้เป็นปกติเมื่อมีการก้าวล่วง ๑

ก็แต่ว่าบางคราว เพราะหลงลืมไปศีลก็จะพึงขาดไปเป็นต้น กระทำศีลที่ขาดไปนั้นให้เป็นปกติโดยเร็ว ด้วยการอยู่กรรมเป็นต้น เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะตามที่กล่าวแล้วนั้น.

ดังนั้นการอบรมปัญญา (วิปัสสนา) จึงเป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่ากุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นอารมณ์ของการอบรมเจริญวิปัสสนาได้ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
สิริพรรณ
วันที่ 13 มี.ค. 2565

กราบอนุโมทนากุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ