ทุติยสันทิฏฐิกสูตร และ อุปวาณสูตร - ๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  10 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8858
อ่าน  1,647

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๖. ทุติยสันทิฏฐิกสูตร


ว่าด้วยการเห็นธรรมด้วยตนเอง

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ ๖๗๗และ

๘. อุปวาณสูตรว่าด้วยธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๗๘


[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๖๗๗

๖. ทุติยสันทิฏฐิกสูตร

ว่าด้วยการเห็นธรรมด้วยตนเอง

[๓๑๙] ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่าธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ดังนี้ ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ย่อมมีด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นเราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านพึงพยากรณ์ข้อนั้นตามที่ควรแก่ท่านท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ? คือ ท่านทราบชัดราคะที่มีอยู่ในภายในว่า ราคะมีอยู่ในภายในของเรา หรือทราบชัดราคะที่ไม่มีอยู่ในภายในว่า ราคะไม่มีอยู่ในภายในของเรา. พราหมณ์. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนพราหมณ์ การที่ท่านทราบชัดราคะที่มีอยู่ในภายในว่า ราคะมีอยู่ในภายในของเรา หรือทราบชัดราคะที่ไม่มีอยู่ในภายในว่า ราคะไม่มีอยู่ในภายในของเรา อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ฯลฯ ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน?คือ ท่านทราบชัดโทสะที่มีอยู่ในภายใน ฯลฯ โมหะมีอยู่ในภายใน ฯลฯเหตุเครื่องประทุษร้ายกายที่มีอยู่ในภายใน ฯลฯ เหตุเครื่องประทุษร้ายวาจามีอยู่ในภายใน ฯลฯ เหตุเครื่องประทุษร้ายใจที่มีอยู่ในภายในว่าเหตุเครื่องประทุษร้ายใจมีอยู่ในภายในของเราหรือทราบชัดเหตุเครื่องประทุษร้ายใจที่ไม่มีอยู่ในภายในว่า เหตุเครื่องประทุษร้ายใจไม่มีอยู่ในภายในของเรา. พราหมณ์. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนพราหมณ์ การที่ท่านทราบชัดเหตุเครื่องประทุษร้ายใจที่มีอยู่ในภายในว่า เหตุเครื่องประทุษร้ายใจมีอยู่ในภายในของเราหรือทราบชัดเหตุเครื่องประทุษร้ายใจที่ไม่มีอยู่ในภายในว่า เหตุเครื่องประทุษร้ายใจไม่มีอยู่ในภายในของเรา อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน. พราหมณ์. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบทุติยสันทิฏฐิกสูตรที่ ๖


อรรถกถาทุติยสันทิฏฐิกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยสันทิฏฐิกสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า กายสํโทสํ ได้แก่ เหตุแห่งการประทุษร้ายกายทวาร.แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัย อย่างเดียวกันนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัจจเวกขณญาณไว้ในสูตรทั้งสอง (สันทิฏฐิกสูตรที่ ๕-๖) นี้แล้วแล.

จบอรรถกถาทุติยสันทิฏฐิกสูตร ๖


[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑- หน้าที่ ๗๘

๘. อุปวาณสูตรว่าด้วยธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง

[๗๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปวาณะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่ตรัสว่า ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า. [๗๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วรู้เสวยรูป รู้เสวยความกำหนัดในรูปแล้วรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วรู้เสวยรูป รู้เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่าเรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตนอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน. [๘๐] อีกประการหนึ่ง ดูก่อนอุปวาณะ ภิกษุลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ [๘๑] อีกประการหนึ่ง ดูก่อนอุปวาณะ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วรู้เสวยธรรมารมณ์ รู้เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันมีอยู่ภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อาการที่ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วรู้เสวยธรรมารมณ์ รู้เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์ และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเองไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน. [๘๒] ดูก่อนอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วรู้เสวยรูป แต่ไม่รู้เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายในอาการที่ภิกษุเป็นผู้เห็นรูปด้วยจักษุแล้วรู้เสวยรูป แต่ไม่รู้เสวยความกำหนัดในรูปและรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายในอย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตนอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน. [๘๓] ดูก่อนอุปวาณะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหูสูดกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น. [๘๔] ดูก่อนอุปวาณะ อีกประการหนึ่ง ภิกษุรู้ซึ่งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วรู้เสวยธรรมารมณ์ แต่ไม่รู้เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อาการที่ภิกษุรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว รู้เสวยธรรมารมณ์ แต่ไม่รู้เสวยความกำหนัดในธรรมารมณ์และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในธรรมารมณ์อันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในธรรมารมณ์ในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน.

จบ อุปวาณสูตรที่ ๘


อรรถกถาอุปวาณสูตรที่ ๘

ในอุปวาณสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า รูปปฏิสํเวที ความว่า กำหนดอารมณ์ต่างโดยกสิณมีนีลกสิณและปีตกสิณเป็นต้น ทำรูปให้เป็นอันตนรู้แจ้งแล้ว. ถามว่า เพราะเหตุไรจึงเป็นผู้ได้ชื่อว่ารู้แจ้งรูป. แก้ว่า เพราะภาวะที่กิเลสยังมีอยู่นั้นแล ชื่อว่ากระทำรูปราคะให้เป็นอันตนรู้แจ้งแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า รูปราคปฏิสํเวทิ. คำว่า. สนฺทิฏฺฐิโก เป็นต้น มีอรรถได้กล่าวไว้แล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นแล. บทว่า โน จ รูปราคปฏิสํเวทีความว่า เพราะภาวะที่กิเลสไม่มีนั่นแล ชื่อว่าไม่กระทำรูปราคะให้เป็นอันตนรู้แจ้งแล้ว ฉะนั้น จึงตรัสว่า โน จ รูปราคปฏิสํเวที ดังนี้.ในพระสูตรนี้ ตรัสปัจจเวกขณญาณของพระสขะและอเสขะ.

จบ อรรถกถาอุปวาณสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 12 มิ.ย. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prakaimuk.k
วันที่ 13 มิ.ย. 2551
อนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
อิสระ
วันที่ 14 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ