วจีทุจริต
การสอนหนังสือของครูอาจารย์ และการสอนของอาจารย์แพทย์ที่สอนนักเรียนแพทย์นั้น ก็เป็น สัมผัปปลาปะด้วยหรือปล่าวครับ
การสอนหนังสือของครูอาจารย์ ด้วยเมตตาจิต เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจมีความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข การพูดหรือการสอนนั้นไม่ใช่เพ้อเจ้อ การพูดเพ้อเจ้อต้องหมายถึงการพูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ พูดด้วยอกุศลจิต พูดให้ทำลายประโยชน์ของคนฟัง ดังนั้น คำพูดในชีวิตประจำวันแม้ว่าไม่ใช่การพูดเรื่องธรรมะก็ตามแต่คำพูดนั้นมีประโยชน์ พูดด้วยความหวังดี พูดด้วยเมตตาจิต คำพูดนั้นไม่ใช่คำพูดเพ้อเจ้อครับ
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมที่ ..อย่างไรจึงเข้าข่ายพูดเพ้อเจ้อ
การสอนหนังสือหรือการให้ความรู้ทางวิชาชีพอยู่ที่จิตใจในขณะนั้นที่พูด ถ้าเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นในขณะนั้นจิตเป็นกุศลไม่เป็นเพ้อเจ้อค่ะ การพูดเพ้อเจ้อคือ การพูดสิ่งที่ไร้สาระ พูดด้วยจิตที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ค่ะ
ข้อความบางตอนจาก อรรถกถา สัมมาทิฏฐิสูตร
แก้สัมผัปปลาปะ
ความจงใจที่เป็นอกุศล ที่เป็นสมุฏฐานแห่งกายประโยคและวจี
ประโยค ที่ยังผู้อื่นให้เข้าใจคำพูดที่ไร้ประโยชน์ ชื่อว่า สัมผัปปลาป
ดังนั้นจึงต้องเป็นเจตนาที่จะให้ผู้อื่นเข้าใจในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ขณะใดจิตเป็นกุศลไม่เพ้อเจ้อ แม้พูดเรื่องทั่วไป แต่พูดด้วยกุศลหรือพูดไปในความไม่เที่ยง เป็นต้น เช่น พระราชาของเราตายแล้วมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา แม้จะกล่าวเรื่องพระราชาก็ไม่ชื่อว่าเพ้อเจ้อเพราะพูดไปในความไม่เที่ยงและจิตเป็นกุศล หรือแม้กล่าวถึงสาระทุกข์ ไม่จำเป็นจะต้องเพ้อเจ้อก็ได้ หากกล่าวด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยความหวังดี ดังนั้น ประการสำคัญที่ควรพิจารณาว่าเป็นเพ้อเจ้อหรือไม่นั้นคือ สภาพจิตและเรื่องนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่ควบคู่กันไป ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาค่ะ ในชีวิตประจำวันพูดเพ้อเจ้อมากพอสมควรทีเดียวคงต้องพยายามขัดเกลาให้ค่อยๆ ลดลง
สัมผัปปลาปะ หมายถึงการพูดเพ้อเจ้อ การพูดเหลวไหล พูดคำไม่เป็นประโยชน์ พูดคำที่ไม่มีเหตุผล คำไร้สาระ พูดไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ ในระหว่างการสอนของครูอาจารย์ ถ้ากล่าวคำใดที่มีความหมายไปในแนวทางไม่มีประโยชน์ ไร้เหตุผลก็จัดว่าเป็นสัมผัปปลาปะได้ ถ้ากล่าวคำใดมีประโยชน์ มีเหตุผล ถูกหลักทำนองคลองธรรม คำนั้นเข้าข่ายสัมผัปปลาปะ เวรมณี เนื่องจากกระทู้คำถามไม่ได้ระบุเรื่องที่สอนว่าสอนอย่างไร พูดอย่างไรบ้างในระหว่างการสอน จึงขอตอบเช่นนี้ เพราะหลักกาลามสูตรท่านสอนไว้ว่า อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้นี้เป็นครูของเรา