มหากิริยาจิต
มหากิริยาจิต
มหา (ใหญ่ มาก) + กิริยา (สักว่ากระทำ) + จิตฺต (จิต)
กิริยาจิตที่เป็นไปในอาการมาก หมายถึง สเหตุกกิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เป็นกามาวจรภูมิ ที่เรียกว่า มหากิริยา เพราะเป็นจิตที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ รู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ มีอธิบดี ๔ และเป็นไปในทวารทั้ง ๓ มหากิริยาจิตนี้มีสภาพคล้ายกับมหากุศลจิต เพราะเป็นไปในอาการต่างๆ เหมือนกัน เพียงแต่เกิดกับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เป็นมหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิตมี ๘ ดวง คือ
๑. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๒. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๓. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๔. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกดีใจ (แช่มชื่น) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๕. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๖. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)
๗. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (ไม่มีการชักชวน)
๘. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์) ประกอบด้วยปัญญา เป็นจิตที่มีกำลัง (มีการชักชวน)
มหากิริยาจิต มีอีกชื่อหนึ่งว่า กามโสภณกิริยาจิต หรือกามาวจรสเหตุกกิริยาจิต เป็นทวิเหตุกะ ๔ ดวงมีเหตุ ๒ (อโลภเหตุและอโทสเหตุ) เป็นติเหตุกะ ๔ ดวงมีเหตุ ๓ (อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ)