การแบ่งบุญกับการอนุโมทนาบุญ?
เรียนถามท่านผู้รู้ธรรมทุกท่านครับ
ผมได้อ่านพระไตรปิฏกและค้นคว้าเนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งบุญและอนุโมทนาซึ่งพบว่าการแบ่งบุญไม่อยู่ในบุญกริยาวัตถุ ๑๐ และผมค้นคว้ามาแล้วว่าการแบ่งบุญกับการอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน (คนที่ศึกษายังไม่รู้จริง ชอบบอกว่าเหมือนกัน จะเหมือนกันได้ยังไงครับ การแบ่งบุญเหมือนการจุดดวงประทีบให้ลุกโพลงแก่ผู้ที่มาขอ เช่นเขาทำ ๑๐๐ เราก็ได้ ๑๐๐ ดวง ประทีบเราก็ลุกโพลงเหมือนเขา ส่วนการอนุโมทนาเป็นการยินดีที่เขาทำกุศลกรรมซึ่งได้บุญเหมือนกันแต่อาจจะแค่ส่วนหนึ่งเช่นเขาทำ ๑๐๐ เราอนุโมทนาได้ ๒๐)
ผมอยากรู้ว่า
1. การแบ่งบุญนี้ในพระไตรปิฏกตอนที่ นายอันภาระแบ่งให้สุมนเศรษฐี ซึ่งก่อนหน้าที่เศรษฐีจะรู้บุญใหญ่ที่นายอันนะภาระทำ ก็รู้มาจากการอนุโมทนาของเทวดาในเรือนตนที่ออกมาสาธุการ ๓ ครั้ง ก็เลยอยากได้บุญใหญ่นี้เลยไปขอแบ่ง ในที่นี้ในพระไตรปิฏกกล่าวว่า การแบ่งบุญเหมือนการต่อดวงประทีบให้แก่ผู้ขอ แต่การอนุโมทนาบุญเหมือนยินดีในบุญที่เขาทำถ้าเทียบอานิสงค์ที่ได้รับการแบ่งบุญได้รับเต็มๆ มากกว่าอนุโมทนาผมเข้าใจถูกใช่มั๊ยครับ
2. การแบ่งบุญในที่นี้ เฉพาะในกรณีนี้ที่เป็นทิฐธรรมเวชนียกรรม โดยเฉพาะหรือไม่หรือแบ่งได้ทุกกรณี เช่น เราใส่บาตร หากมีคนมาขอแบ่งบุญเราสามารถแบ่งได้ใช่ไหมครับ
3. มีตอนอื่นเกี่ยวกับการแบ่งบุญนอกจากกรณีของสุมนเศรษฐีหรือไม่ครับ?
4. ทำไมการแบ่งบุญไม่จัดอยู่ในบุญกริยาวัตถุ ๑๐
5. ถ้าเราขอแบ่งบุญกับคนอื่นที่เขาทำบุญบ่อยๆ เราจะเป็นหนี้บุญเขาหรือไม่ครับ?
รบกวนผู้รู้ธรรมช่วยไขข้อข้องใจด้วยนะครับ เพราะผมก็ยังหวังในบุญอยู่ครับ มีหลายท่านในที่นี้มักจะบอกว่าไม่ให้หวังในบุญ ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่เราจะเจริญปัญญาให้ถึงพระนิพพานในชาตินี้ได้แน่หรือ ไม่ได้ดูแคลนปัญญาตัวเองนะครับ แต่เราควรที่จะเจริญกุศลทุกประเภทตั้งแต่ทาน หากไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน เกิดเป็นมนุษย์ใหม่จะได้ไม่ใช่มีแต่ปัญญาแต่ไม่มีโภคทรัพย์ แล้วจะเอาเวลาใหนไปเจริญกุศลต่อในเมื่อต้องหาเช้ากินค่ำ และผมเห็นหลายตอนหลายที่ครับว่าพระพุทธองค์ก็กล่าวถึงอานิสงค์ตั้งแต่ขั้นทาน ศีล สมาธิ หากท่านไม่ให้หวังท่านจะกล่าวทำไมครับ? และก็สาวกทั้งหลายเช่นพระอนิรุธธะ ก็ยังหวังในบุญปราถนาทำบุญด้วยดวงประทีปเพื่อการเป็นเลิศด้านทิพยจักขุ เป็นต้น แต่หลายท่านในที่นี้ชอบบอกว่าไม่ให้หวังในบุญ แปลว่าท่านมั่นใจว่าจะเข้าสู่พระนิพพานได้แน่ๆ ใช่ไหมครับ ทุกท่านคงไม่ว่ากันนะครับที่ผมจะขอกล่าวเช่นนั้นนะครับ
ขอบคุณทุกท่านมากครับ ขออนุโมทนาครับ
การให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น (ปัตติทาน) เป็นบุญหนึ่งในสิบของบุญญกิริยาวัตถุครับ ๑. ส่วนใหญ่แล้วผู้ให้ส่วนบุญจิตมีกำลังมากกว่า เพราะทั้งทำบุญเองด้วย ๒.กุศลทุกประเภทมีทำแล้ว ควรอุทิศให้ผู้อื่นอนุโมทนา ๓.ในเปตวัตถุ มีตัวอย่างผู้อุทิศส่วนบุญให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ทำให้พ้นจากภูมิเปรต ๔.จัดเป็นบุญญกิริยาที่ ๖ ปัตติทานมัย ๕.ไม่เป็นหนี้ เพราะเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องจิตใจ
การหวังในบุญ เป็นความติดข้อง เป็นอกุศลจิต การทำบุญแม้ไม่ได้หวังผล ผลของบุญที่ทำไว้ก็เกิดแน่นอนค่ะ อนุโมทนาค่ะ
๑. ผู้ทำกุศลแล้วแบ่งบุญให้คนอื่นอนุโมทนาย่อมมีกำลังกว่าค่ะ เช่น นางวิสาขาทำบุญแล้วเพื่อนอนุโมทนา เพื่อนตายไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนนางวิสาขาไปเกิดบนสวรรค์ที่สูงกว่าเพื่อนคือ ชั้นนิมมานนรดีค่ะ
๒. ทุกครั้งที่ทำกุศล หากใครมาขอแบ่งส่วนบุญ แบ่งบุญให้เขาได้ บุญไม่หมดมีแต่เพิ่มค่ะ
๓. เช่น ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ไปเกิดเป็นเปตร ภายหลังมาขอส่วนบุญ แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ถวายทานกับพระพุทธเจ้าและสาวก และอุทิศส่วนกุศลไปให้ค่ะ
๔. การแบ่งบุญ เป็นปัตติทาน เป็น ๑ ใน บุญญกริยาวัตถุ ๑๐ ค่ะ
๕. ถ้าเราขอแบ่งบุญจากคนอื่น เราไม่เป็นหนี้ค่ะ มีแต่กุศลจิตเพิ่มขึ้นค่ะ เพราะทุกครั้งที่เขาทำความดี เพียงแค่เราอนุโมทนา หรือยินดีที่เขาทำกุศล แม้ไม่ได้พูดออกมาก็เป็นกุศลจิตแล้วค่ะ ยินดีบ่อยๆ อนุโมทนาบ่อยๆ กุศลจิตก็เกิดบ่อยๆ ค่ะ
๑. บุญที่เป็นไปในทานจะมีผลมากคือ ก่อนให้ ขณะให้ หลังให้ ประกอบด้วยเจตนา ๓
กาลอันประกอบด้วยโสมนัสและปัญญาของผู้กระทำเอง ต่างจากผู้อนุโมทนา ไม่ได้ทำเอง และเจตนาไม่ประกอบด้วย ๓ กาล เหมือนผู้ทำ
๒. กุศลทุกอย่าง บอกได้แต่ควรดูกาลและบุคคลที่จะบอก
๕. ขณะที่เห็นเขาทำบุญ หรือทราบ แล้วมีจิตอนุโมทนาก็เป็นกุศลแล้ว ไม่ใช่ว่า ถ้าเขาไม่เอ่ยปากว่าจะแบ่งบุญให้ แล้วจะไม่ได้กุศล เพราะกุศลที่จะเป็นกุศลอยู่ที่จิตของเราไม่ใช่จากคำพูดคนอื่น เมื่ออนุโมทนาก็เป็นกุศลจิตของเรานั่นเอง เหตุมีผลย่อมมี
ทั้งหมดเพื่อละ การเจริญกุศลไม่ได้ห้ามว่าให้หวังหรือไม่หวัง เป็นอนัตตา มีเหตุก็หวังแต่คววรเข้าใจตามความเป็นจริงว่า กุศลใดที่ปรารถนาหรือหวังเป็นไปเพื่อได้ลาภ หรือเกิดในสุคติภูมิ ไม่เป็นไปเพื่อออกจากวัฏฏะ เป็นทางผิด แม้จะเป็นกุศลก็ตาม เพราะเป็นไปในวัฏฏะ การเกิดอีก แต่แม้บุคคลถวายข้าวเพียงทัพพีเดียว แต่ปรารถนาการไม่เกิด การไมได้ลาภ ซึ่งเกิดจากการเข้าใจหนทางการดับกิเลส กุศลนี้เป็นไปในทางถูกและเป็นไปเพื่อการดับกิเลสได้ เป็นบารมีอันเป็นทางถึงฝั่งคือนิพพานและผมเห็นหลายตอนหลายที่ครับ ว่าพระพุทธองค์ก็กล่าวถึงอานิสงค์ตั้งแต่ขั้นทาน ศีล สมาธิ หากท่านไม่ให้หวังท่านจะกล่าวทำไมครับ?
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง เหตุเป็นอย่างไร ผลย่อมเป็นอย่างนั้นตามเหตุ จึงทรงแสดงอานิสงส์ของทานว่าถ้าเหตุเป็นอย่างนี้ ผลย่อมเป็นอย่างนี้ แต่พระพุทธองค์ไม่มีคำสอนใดที่จะให้มีโลภะหรือกิเลสประการต่างๆ เพียงแต่แสดงเหตุและผลตามความเป็นจริง และทรงแสดงว่าทานใดมีผลมากเพราะอะไร ไม่มีผลมากเพราะอะไร ทานใดเป็นไปเพื่อดับกิเลสได้ ทานใดทำให้ต้องอยู่ในสังสารวัฏฏ์ สภาพจิตเป็นสำคัญ
กุศลอยู่ที่เจตนา ผู้ที่ได้เจริญกุศลแล้ว มีเจตนาที่จะอุทิศส่วนกุศลที่ตนเองได้กระทำแล้ว ให้บุคคลอื่นรับรู้แล้วเกิดกุศลจิตอนุโมทนาชื่นชมยินดีในกุศลที่เราได้กระทำ นั้นเป็นบุญประการหนึ่ง คือ ปัตติทานมัย (บุญสำเร็จการให้ส่วนบุญ หรืออุทิศส่วนกุศล) ผู้ที่รับรู้แล้วเกิดกุศลจิต อนุโมทนา ย่อมเป็นกุศลจิตของบุคคลนั้นเอง ซึ่งก็เป็นบุญประการหนึ่งเช่นกัน คือ ปัตตานุโมทนามัย (บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาในกุศลที่บุคคลอื่นได้กระทำ) แต่ถ้าไม่อนุโทนา ไม่ยินดีในกุศลที่บุคคลอื่นได้กระทำ ขณะนั้นจะเป็นกุศลไม่ได้เลย
การที่เราได้เห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำความดี ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้อุทิศให้บุคคลอื่นเลย แต่เราก็สามารถที่จะอนุโมทนาชื่นชมในความดีที่บุคคลนั้นกระทำได้ เพราะขณะที่อนุโมทนาชื่นชมยินดีในกุศลของคนอื่น ย่อมเป็นกุศลจิต เป็นจิตใจที่อ่อนโยนไม่แข็งกระด้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวว่า "ขออนุโมทนาด้วยนะ" ก็ตาม ครับ
จิตที่คิดจะให้นั้นมันสูงกว่าจิตที่คิดจะเอา
ขออนุโมทนาค่ะ