โยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ
โยนิโส (โดยแยบคาย) + มนสิ (ในใจ) + การ (กระทำ)
การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นกุศลจิตและเจตสิก ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นมีโยนิโสมนสิการ ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งที่ทำโยนนิโสมนสิการ แต่เป็นความแยบคายของสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียงไปในฝ่ายอกุศล
ขอเรียนสอบถาม เพิ่มเติมครับ คำถามประการแรก
โยนิโสมนสิการเกิดกับกุศลชวนจิต และอโยนิโสมนสิการเกิดกับอกุศลชวนจิต ผมเข้าใจถูกไหมครับ
และอีกประการที่ 2 ชวนจิตที่เป็นกิริยา เป็นเพียงมนสิการ คือทำกิจใส่ใจในอารมณ์ มุ่งต่ออารมณ์นั้น ไม่กล่าวว่าเป็นโยนิโสมนสิการ ผมเข้าใจถูกหรือผิดครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนา
เรียนความคิดเห็นที่ ๔ ครับ
ประเด็นแรก : ขณะที่เป็นกุศล ก็เป็นโยนิโสมนสิการ เป็นการใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ขณะที่เป็นอกุศล ก็เป็น อโยนิโสมนสิการ เป็นการใส่ใจโดยไม่แยบคาย
ประเด็นที่สอง : ในขณะที่เป็นกิริยา ไม่ว่าจะเป็นกิริยา ประเภทใดก็ตาม นั้น ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล จึงไม่ใช่ทั้งโยนิโสมนสิการ และ ไม่ใช่ทั้งอโยนิโสมนสิการ ซึ่งแน่นอนว่า จะไม่ขาด มนสิการเจตสิกเลย เพราะมนสิการเจตสิก เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ และ เมื่อเป็นกิริยา สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ทั้งจิต และ เจตสิก ที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นชาติเดียวกัน คือ เป็นชาติกิริยา ครับ
ข้อความใน [เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒
- หน้าที่ ๑๕๕ มีดังนี้
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เนว กุสลานากุสลา (ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล) เป็นต้นต่อไป.-
สภาวธรรม ที่ชื่อว่า ไม่ใช่กุศล เพราะความไม่มีกุศลเหตุ กล่าวคือ กุศลมูล. ที่ชื่อว่า ไม่ใช่อกุศล เพราะความไม่มีอกุศลเหตุ กล่าวคือ อกุศลมูล
ที่ชื่อว่า ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล (เนว กุสลานากุสลา) เพราะความไม่มีกุศลและอกุศลเป็นปัจจัย ไม่มีแม้โยนิโสมนสิการ และ อโยนิโสมนสิการ.
ที่ชื่อว่า ไม่ใช่กรรมวิบาก เพราะไม่มีเหตุให้เกิดขึ้น กล่าวคือ ไม่มีกุศลและอกุศล.
...ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ...