รูปพรหมภูมิ
รูปพรหมภูมิ
รูป (รูป) + พฺรหฺม (ผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่) + ภูมิ (ที่เกิด ที่อยู่)
ภูมิของพรหมที่มีรูป หมายถึง สถานที่เกิดของบุคคลที่อบรมสมถภาวนาจนจิตสงบถึงอัปปนาสมาธิ เป็นฌานจิตตั้งแต่รูปฌานที่๑ ถึงรูปฌานที่๕ ถ้าฌานจิตไม่เสื่อมก่อน เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว เจตนาเจตสิกที่เกิดกับฌานจิตนั้นเป็นครุกรรม นำเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นรูปพรหมบุคคล รูปพรหมภูมิมี ๑๖ ภูมิ หรือ ๑๖ ชั้น คือ ...
๑.พรหมปาริสัชชาภูมิ
๒.พรหมปุโรหิตาภูมิ
๓.มหาพรหมภูมิ
ภูมิ 1-3 เรียกว่า ปฐมฌานภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่ได้ปฐมฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง หรืออย่างประณีต ตามลำดับ
๔.ปริตตาภาภูมิ
๕.อัปปมาณาภาภูมิ
๖.อาภัสสราภูมิ
ภูมิ 4-6 เรียกว่า ทุติยฌานภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่ได้ทุติยฌานและตติยฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง หรืออย่างประณีตตามลำดับ
๗.ปริตตสุภาภูมิ
๘.อัปปมาณสุภาภูมิ
๙.สุภกิณหาภูมิ
ภูมิ 7-9 เรียกว่า ตติยฌานภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่ได้จตุตถณานอย่างหยาบ อย่างกลาง หรืออย่างประณีตตามลำดับ
๑๐.เวหัปผลาภูมิ
๑๑.อสัญญสัตตาภูมิ
ภูมิ 10-11 เรียกว่า จตุตถฌานภูมิ เป็นที่เกิดของผู้ที่ได้ปัญจมฌาน แต่สำหรับอสัญญสัตตาภูมิ เป็นภูมิของผู้ได้ปัญจมฌานซึ่งไม่ปรารถนาที่จะมีนามธรรม เพราะหน่ายในนาม (สัญญาวิราคะ) ภูมินี้จึงมีแต่รูปล้วนๆ (มีรูปขันธ์ๆ เดียว ไม่มีนามขันธ์)
๑๒.อวิหาภูมิ
๑๓.อตัปปาภูมิ
๑๔.สุทัสสาภูมิ
๑๕.สุทัสสีภูมิ
๑๖.อกนิฏฐาภูมิ
ภูมิ 12-16 เรียกว่า สุทธาวาสภูมิ เป็นที่เกิดของพระอนาคามีผู้ได้ปัญจมฌานตามกำลังของอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิปัญญา ตามลำดับ