ภัททิยสูตร - ไม่ควรเชื่อถือโดยอาการ ๑๐ อย่าง - ๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 มิ.ย. 2551
หมายเลข  8998
อ่าน  1,978

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๓. ภัททิยสูตร

ว่าด้วยไม่ควรเชื่อถือโดยอาการ ๑๐ อย่าง

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๔๘๐


[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๔๘๐

๓. ภัททิยสูตรว่าด้วยไม่ควรเชื่อถือโดยอาการ ๑๐ อย่าง

[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภัททิยลิจฉวีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายาย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือพวกเขาเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมทรงมีมายาย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแลหรือ ไม่ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำไม่เป็นจริงย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และการคล้อยตามวาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะอันควรติเตียนแลหรือ แท้จริง ข้าพระ-องค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภัททิยะ ท่านจงมาเถิดท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยสืบต่อกันมา อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้ถือโดยคาดคะเน อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการอย่าได้ถือโดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นคนควรเชื่อได้ อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าสมณะเป็นครูของเรา ดูก่อนภัททิยะเมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศลธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้อันวิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงละเสียเถิด ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโลภเมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ? ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ ? ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนโทสะ...โมหะ...การแข่งดี เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ บุคคลผู้แข่งดี ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ? ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนธรรมเหล่านี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล? ภัท. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า. พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ ? ภัท. มีโทษ พระเจ้าข้า. พ. วิญญูชนติเตียนหรือวิญญูชนสรรเสริญ ? ภัท. วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า. พ. บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ หรือมิใช่ หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้. ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้ บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือโดยฟังตามกันมา... เมื่อใด ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล... ท่านทั้งหลายควรละเสียเถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ดูก่อนภัททิยะ ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา.... เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์? ภัท. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่โลภนี้ ไม่ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่น เพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ ? ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนความไม่โกรธ...ความไม่หลง...ความไม่แข่งดี เกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล? ภัท. เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่แข่งดีนี้ ไม่ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ ? ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล? ภัท. เป็นกุศล พระเจ้าข้า. พ. มีโทษหรือหาโทษมิได้ ? ภัท. หาโทษมิได้ พระเจ้าข้า. พ. วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ? ภัท. วิญญูชนสรรเสริญ พระเจ้าข้า. พ. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข หรือมิใช่ หรือท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้. ภัท. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้ พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือฟังตามกันมา . .. ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด ดังนี้ คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้ ดูก่อนภัททิยะ คนเหล่าใดเป็นคนสงบเป็นสัตบุรุษ คนเหล่านั้นย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงปราบปรามความโลภเสียเถิด เมื่อปราบปรามความโลภได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโลภด้วยกายวาจาใจ จงปราบปรามความโกรธเสียเถิด เมื่อท่านปราบปรามความโกรธได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโกรธด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความหลงเสียเถิดเมื่อปราบปรามความหลงได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความหลงด้วยกาย วาจา ใจ จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด เมื่อปราบปรามความแข่งดีได้ จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข็งดีด้วยกายวาจา ใจ. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป. พ. ดูก่อนภัททิยะ ก็เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่าดูก่อนภัททิยะ ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเราเถิด เราจักเป็นศาสดาของท่าน ดังนี้ หรือ? ภัท. มิใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า. พ. ดูก่อนภัททิยะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวตู่เราผู้มีปกติกล่าว อย่างนี้ มีปกติบอกอย่างนี้ ด้วยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริง ว่าพระสมณโคดมมีมายา รู้จักมายาเครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้นานับถือ. ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มายาเครื่องกลับใจนี้ดีนักงามนัก ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ พึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่บรรดาญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง...แพศย์...ศูทรทั้งปวงจะพึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่ศูทรแม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน. ดูก่อนภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้นๆ ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวง พึงทรงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้พราหมณ์...แพศย์...ศูทรพึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสุข แก่ศูทรทั้งปวง ตลอดกาลนานถ้าแม้โลกพร้อมทั้งเทวโลกมารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้น ก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลกพรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตลอดกาลนาน ดูก่อนภัททิยะถ้าแม้พวกต้นสาละเหล่านี้ จะพึงกลับใจมาด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้ เพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้น ก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อสุข แก่พวกต้นสาละเหล่านี้ตลอดกาลนาน ถ้าต้นสาละเหล่านี้พึงมีเจตนา จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า.

จบภัททิยสูตรที่ ๓


อรรถกถาภัททิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในภัททิยสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า เจ้าภัททิยลิจฉวี ผู้บริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว ถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ เข้าไปเฝ้าด้วยคิดว่า เราจักถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้. ในบทว่า มา อนุสฺลเวน เป็นอาทิ พึงทราบเนื้อความโดยนัยนี้ว่า ท่านทั้งหลายอย่าถือคำของเราด้วยอำนาจการฟังตามกันมา. บทว่า สารมฺโภ ได้แก่ ความคิดแข่งดีกันเป็นลักษณะแข่งกันเกินกว่าเหตุ. ธรรมมีอโลภะเป็นต้นพึงทราบโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับความโลภ เป็นต้น . บทว่า กุสลธมฺมูปสมฺปทาย ได้แก่ เพื่อบำเพ็ญกุศลธรรมให้ถึงพร้อม ท่านอธิบายว่า เพื่อให้ได้กุศลธรรม. บทว่า อิเม เจปิ ภทฺทิย มหาสาลา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงต้นสาละที่ยืนต้นอยู่ข้างหน้าจึงตรัสอย่างนี้ . บทที่เหลือในสูตรนี้ พึงรู้ได้ง่ายเพราะมีนัยอันกล่าวแล้วในหนหลัง และเพราะมีอรรถง่าย. แต่เมื่อพระศาสดาทรงยักเยื้องเทศนาเจ้าภัททิยะก็เป็นโสดาบันบุคคลแล.

จบอรรถกถาภัททิยสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 มิ.ย. 2551


ขออนุโมทนาค่ะ.
....................................

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
opanayigo
วันที่ 26 มิ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 4 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 5 ก.ค. 2551
สาธุ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ