ทุกขธรรมสูตร - เหตุเกิดและความดับแห่งทุกขธรรม - ๐๕ ก.ค. ๒๕๕๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๕ ก.ค. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น. คือ
๗. ทุกขธรรมสูตร
ว่าด้วยเหตุเกิดและความดับแห่งทุกขธรรม
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑- หน้าที่ ๔๕๔
๗. ทุกขธรรมสูตร
ว่าด้วยเหตุเกิดและความดับแห่งทุกขธรรม
[๓๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดและความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริง ก็ในกาลนั้นแล ภิกษุนั้นเป็นผู้เห็นกาม เมื่อเธอเห็นกามแล้ว ความพอใจความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อนเพราะกามในกามทั้งหลายไม่นอนเนื่องอยู่ด้วยอาการใด ก็ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น อกุศลธรรมอันลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส ไม่ครอบงำ ภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้นและความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างไร
ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้นและความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับสูญแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ .. สัญญาดังนี้ สังขารทั้งหลายดังนี้ . . วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ดังนี้ความดับสูญแห่งวิญญาณดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ทั่วถึงเหตุเกิดขึ้นและความดับสูญแห่งทุกขธรรมทั้งปวง ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล
[๓๓๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้เห็นกามแล้วอย่างไรเล่า เมื่อเธอเห็นกามทั้งหลายอยู่ ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อน เพราะกามในกามทั้งหลาย ไม่นอนเนื่องด้วยอาการใด. ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษ เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว ปราศจากควัน
ครั้งนั้นแล บุรุษผู้ปรารถนาเป็นอยู่ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ ผ่านมา บุรุษผู้มีกำลัง ๒ คนจับบุรุษคนนั้นข้างละแขน แล้วฉุดเข้าไปหาหลุมถ่านเพลิงนั้น บุรุษนั้นพึงน้อมกายนี้แหละเข้าไปด้วยประการดังนี้ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร. เพราะว่่าบุรุษนั้นไม่มีความรู้ว่า เราจักตกหลุมถ่านเพลิงนี้และจะถึงความตายหรือความทุกข์แทบตาย เพราะหลุมถ่านเพลิงนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้เห็นกามอันเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง ก็ฉันนั้นแล เมื่อเธอเห็นกามทั้งหลายอยู่ ความพอใจ ความเสน่หา ความหมกมุ่น ความเร่าร้อนเพราะกามในกามทั้งหลาย ไม่นอนเนื่องอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ ด้วยอาการนั้น
[๓๓๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุอย่างไรเล่า. อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัส ย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าบุรุษนั้นก็มีหนาม ข้างหลังก็มีหนาม ข้างซ้ายก็มีหนาม ข้างขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม บุรุษนั้นมีสติก้าวเข้าไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง ด้วยคิดว่า หนามอย่าแทงเรา แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมคือปิยรูปและสาตรูปในโลก นี้เรากล่าวว่าเป็นหนามในวินัยของพระอริยเจ้าฉันนั้นเหมือนกันแล
ว่าด้วยอสังวรและสังวร
[๓๓๕] ภิกษุรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว พึงทราบอสังวรและสังวร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจมีประมาณน้อยอยู่และย่อมไม่รู้ชัด ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริงฯลฯ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมน้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารัก ย่อมขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้แล้ว มีใจมีประมาณน้อยอยู่ และย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสังวรย่อมมีอย่างนี้แล
[๓๓๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมีอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในรูปอันน่ารัก ย่อมไม่ขัดเคืองในรูปอันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ ย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ฯลฯ ภิกษุรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่น้อมใจไปในธรรมารมณ์อันน่ารู้ ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์อันไม่น่ารัก เป็นผู้เข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ มีใจหาประมาณมิได้อยู่ และย่อมรู้ชัดซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไปไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่บังเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ตามความเป็นจริง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังวรย่อมมีอย่างนี้แล
[๓๓๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ที่นั้นแลภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงให้หยาดน้ำสองหรือสามหยาดตกลงในกระทะเหล็กอันร้อนจัดตลอดวัน หยาดน้ำตกลงช้า ที่นั้นแล น้ำนั้นพึงถึงความสิ้นไปเหือดแห้งไปเร็วพลัน แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ที่นั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ฉันนั้นเหมือนกันแล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ อภิชฌาและโทมนัส ย่อมไม่ครอบงำภิกษุผู้ประพฤติอยู่ด้วยอาการใด ธรรมเป็นเครื่องประพฤติและธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามภิกษุด้วยอาการอย่างนี้แล.
[๓๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพระราชา ราชมหาอำมาตย์มิตร อำมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิต พึงปวารณาภิกษุนั้น ผู้ประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ เพื่อให้ยินดียิ่ง ด้วยโภคะทั้งหลายว่า ท่านจงมาเถิดบุรุษผู้เจริญ ผ้ากาสาวะ เหล่านี้ยังความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่ท่านมิใช่หรือ. ท่านจะเป็นคนโล้นเที่ยวถือกระเบื้องอยู่ทำไม. ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและจงทำบุญเถิด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุนั้นประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ จักบอกคืนสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลหลั่งถึงเทไปในทิศปราจีน ถ้าว่ามหาชนพึงเอาจอบและตะกร้ามาด้วยคิดว่า พวกเราจักช่วยกันทำแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลหลั่งถั่งเทกลับหลังไปเธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน. หมู่มหาชนนั้นพึงกระทำแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลหลั่งถั่งเทกลับหลังไปได้บ้างหรือหนอแล.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า
สา. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร
ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาไหลหลั่งถั่งเทไปในทิศปราจีน แม่น้ำคงคานั้นอันบุคคลจะทำให้ไหลหลั่งถั่งกลับหลังไปไม่ใช่กระทำได้ง่าย ก็หมู่มหาชนนั้นพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากยากแค้นเพียงไรแม้ฉันใด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพระราชาราชมหาอำมาตย์ มิตร อำมาตย์ อยู่อย่างนี้ เพื่อจะให้ยินดียิ่งด้วยโภคะทั้งหลายว่า ท่านจงมาเถิดบุรุษผู้เจริญ ผ้ากาสาวะเหล่านี้ ยังความเร่าร้อนให้เกิดขึ้นแก่ท่านมิใช่หรือ. ท่านจะเป็นคนโล้น เที่ยวถือกระเบื้องอยู่ทำไม. ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและจงทำบุญเถิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น ประพฤติอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ จักบอกคืนสิกขาสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจิตของเธอน้อมไปโน้มไปเอนไปในวิเวกสิ้นกาลนาน ก็จิตนั้นจักเวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์ ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้.
จบ ทุกขธรรมสูตรที่ ๗
ก็ธรรมเป็นเครื่องประพฤติ และธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นอันติดตามเธออยู่ด้วยอาการนั้น.....
พระสูตรไพเราะ ลึกซึ้ง
ขออนุโมทนาค่ะ
ความดำริอันซ่านไปเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมแห่งสติบางครั้งบางคราว การบังเกิดขึ้นแห่งสติช้า ที่นั้นแล ภิกษุนั้นย่อมละ ย่อมบรรเทาอกุศลธรรมอันลามกนั้น ย่อมกระทำให้พินาศ ย่อมให้ถึงความไม่มีได้เร็วพลัน ฉันนั้น
สาธุ สาธุ ขออนุโมทนานะคะ............