โกสัชชะ
เรียนถามท่านผู้รู้ค่ะ
ยังไม่มีพจนานุกรมพุทธศาสตร์ค่ะ ต้องการทราบความหมายของคำว่า " โกสัชชะ" หมายถึงอะไร อย่างไรค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
คำว่า" โกสัชชะ" หมายถึง ความเกียจคร้าน ความเซื่องซึม ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล และอาจจะมีความง่วงเหงาหาวนอน ความหดหู่ ความซบเซา ร่วมด้วยก็ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้อกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเกียจคร้านแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป"
ความเป็นผู้เกียจคร้านในที่นี้ พระผู้มีพระภาคก็ทรงใช้คำว่า โกสัชชะ ซึ่งวิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า กุสีตสฺส ภาโว โกสชฺชํ (ความเป็นแห่งบุคคลผู้เกียจคร้าน ชื่อว่า โกสัชชะ) ครับ
...ขออนุโมทนาครับ...
ความเกียจคร้านเป็นทางเสื่อมแห่งปัญญาและกุศลธรรมทั้งหลายค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
โกสัชชะ ความเกียจคร้าน มีความหมายดังนี้ครับ การปล่อยจิต ความเพิ่มพูนการปล่อยจิตไปในกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ หรือความไม่เคารพ ความทำโดยไม่ติดต่อความทำโดยไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งมั่น ความไม่ประกอบเนืองๆ ความประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า โกสัชชะ ความเกียจคร้าน. ธรรมที่ตรงกันข้ามกับโกสัชชะ คือ วิริยะครับ ตามความเป็นจริงของชีวิต ก็ย่อมเป็นไปกับอกุศลมากกว่ากุศล อันเนื่องมา จากกิเลสที่สะสมมา ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ยังเป็นผู้เกียจคร้าน เกียจคร้านในการเจริญกุศลทุกประการ เกียจคร้านเพราะจิตเป็นไปกับกาย วาจาที่ไม่ดี เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น วิริยะความเพียรที่เกิดกับความเห็นถูก ก็เพียรไปในทางกุศลธรรมมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าอกุศลจะไม่เกิด แต่เมื่อ เกิดแล้ว วิริยะ ความเพียรก็เพียรละเว้นอกุศล เพียรเจริญกุศลมากขึ้นอันเกิด จากความเข้าใจพระธรรม จึงไม่มีตัวตนที่จะเกียจคร้าน ไม่มีตัวตนที่จะทำ ความเพียร เพราะทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นอนัตตา
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์