ในการบวช 3 วัน 15 วัน มีข้อดี ไม่ดี อย่างไร

 
จ่าหนาน
วันที่  5 ก.ค. 2551
หมายเลข  9147
อ่าน  66,375

ในภาวะสังคมปัจจุบัน การบวชในระยะเวลาสั้นๆ จะมีให้พบเห็นบ่อยๆ ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งบวชกันนาน อย่างน้อยก็ 1 พรรษา เพื่อจะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัย และนำความรู้มาใช้อบรมจิตใจเมื่อลาสิกขาออกมาแล้ว แต่ตอนนี้มีทั้งใช่และไม่ใช่ เจตนาการบวชเริ่มเปลี่ยนไป จึงอยากทราบความคิดเห็นในมุมของคนศึกษาธรรมดูบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 7 ก.ค. 2551

ผมมีความเห็นว่า ถ้ามีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เป็นคฤหัสถ์ก็ศึกษาได้ครับ คือถ้าเห็นว่าพระธรรมคำสอนเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ เมื่อศึกษาแล้วย่อมเป็นเครื่องนำทางสู่ความสุขความเจริญ ควรแบ่งเวลาศึกษาอย่างจริงจัง โดยไม่รีรอว่ามีเวลาว่างก่อนหรือรอว่าอายุมากก่อน หรือรอหมดภาระก่อน เป็นต้น ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าทุกวันนี้เราให้เวลากับเรื่องที่ไร้สาระมาก เช่น ไปเที่ยว ดูหนัง ดูทีวี แต่เรื่องดีๆ กลับไม่มีเวลาให้ อนึ่ง ถ้ามีเวลาไปบวช ๓ วัน ๑๕ วัน สำหรับศึกษาพระธรรมวินัย แล้วในเวลาสามร้อยกว่าวันมัวไปทำอะไรอยู่ และเข้าไปบวชแล้วจะได้ศึกษาจริงๆ หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้เท่าที่เห็นก็มีแต่ทำพิธีกรรม หรือศึกษาวิชาการทางโลกเป็นส่วนมาก ดังนั้น ในสมัยโบราณผู้ที่ออกบวช ท่านมุ่งเพื่อความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ไม่คิดจะหวลกลับมาครองเรือนอีก คือ เป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่าน การบวชเพื่อเป็นพิธีต่างๆ หรือกำหนดวันสึกจึงไม่มี

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 7 ก.ค. 2551

การกระทำอะไรก็ตาม ควรเข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริง รวมทั้งคุณโทษของการกระทำเช่นนั้นครับ ถ้าบวชตามๆ กันไป ตามประเพณีนิยม ตามที่ยึดถือกันมา แล้วคิดว่าคงจะเป็นการดี แต่หาเหตุผลอธิบายไม่ได้ ยังเป็นสิ่งที่สมควรจะกระทำต่อไปหรือไม่หรือว่า ควรจะหาเหตุผลก่อนว่าการกระทำนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้หรือไม่ ผู้ที่เป็นสาวก หากพิจารณาแล้ว ควรจะศึกษาพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เข้าใจหรือว่าควรยึดถือข้อปฏิบัติเดิมที่เคยกระทำสืบต่อกันมา ด้วยยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควรกระทำสืบต่อไป แล้วความถูกต้องจริงๆ นั้นจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ควรจะไตร่ตรองด้วยความเป็นผู้ตรง แยบคาย และไม่เผินจริงๆ ครับ ไม่เช่นนั้น เราก็จะถูกเปลือกนอกจากพิธีกรรมต่างๆ ในสมัยนี้ ที่อาศัยใบบุญของพระศาสนาหลอกลวงได้ว่านี่ คือ ศาสนาพุทธ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งนั้นกลับไม่ใช่แก่นแท้จากพระธรรมคำสอนเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 7 ก.ค. 2551

ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตจริงๆ ซึ่งต้องสละอาคารบ้านเรือน ญาติสนิทมิตรสหาย รวมถึงสละทรัพย์สินต่างๆ ที่เคยมีอยู่ด้วย จึงจะเข้าสู่ภาวะของความเป็นบรรพชิตได้อย่างแท้จริง (สมัยปัจจุบัน เป็นอย่างนี้ มีบ้างหรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิด น่าพิจารณา เป็นอย่างมาก) สำหรับในความเห็นส่วนตัวแล้ว ยุคปัจจุบันไม่เหมาะที่จะบวช ไม่ว่าจะบวชกี่วันก็ตาม เพราะเป็นอันตรายมาก มีโทษมาก (เท่าที่เห็นมา เป็นอาบัติตั้งแต่บวชเสร็จ) เพราะยิ่งถ้าหากไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัยตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างถูกต้องแล้ว ก็อาจจะเป็นเหตุให้กระทำผิด ล่วงละเมิดในสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ทำให้เป็นอาบัติ มีโทษและถ้าไม่กระทำคืนให้เป็นปกติ ก็เป็นเครื่องกั้นในการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และยิ่งถ้าหากว่ามรณภาพ (สิ้นชีวิต) ในเพศบรรพชิตขณะที่ยังเป็นอาบัติอยู่นั้น ย่อมมีอบายเป็นที่หวัง ครับ การที่จะเข้าใจธรรม การที่จะละคลายขัดเกลากิเลส ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละบุคคลที่ได้สั่งสมอบรมมา เท่านั้น
เพราะฉะนั้น เป็นคฤหัสถ์แล้วมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และมีโอกาสก็เจริญกุศลที่พอจะเจริญได้ในชีวิตประจำวันตามกำลัง ย่อมเป็นชีวิตที่ไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ค. 2551

การบวชไม่ได้อยู่ที่เวลา จะบวชกี่วันก็แล้วแต่ ถ้าบวชเข้าไปแล้วอาบัติมีโทษมาก ผู้ที่บวชในครั้งพุทธกาล จุดประสงค์เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งหลายจนถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นคฤหัสถ์ที่ดียังยากเลย เป็นบรรพชิตที่ดียิ่งยากกว่าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2551

เจตนาการบวชเปลี่ยนไปเพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
จ่าหนาน
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ขอขอบคุณในทุกคำตอบ ครับ ก็ยังสงสัยต่อว่า ถ้าให้มีแต่คนมีความพร้อมจริงๆ เข้าบวช ก็จะมีพระน้อย การเผยแผ่ศาสนาก็จะไม่แคบลงไปอีกหรือ ทุกวันนี้วัดตามชนบทก็จะไม่มีพระจำพรรษาอยู่แล้ว แล้วการทำบุญก็จะไม่สะดวก จะมีอะไรมาโน้มจิตใจคนให้หันมาศึกษาพระธรรม อย่างน้อยเขาเข้าไปในวัดยังเห็นรูปพระเวสสันดร ให้เกิดความสงสัย และยังมีพระอธิบายให้ฟังได้ ไม่มีพระ คนก็ไม่เข้าวัด คนที่ห่างศาสนาก็จะยิ่งห่างไกลไปอีก ถ้าเราจะคิดว่าบวชเพื่อสืบทอดศาสนา แม้ศีลของพระจะไม่สะอาด ก็ยังทำให้ศาสนาดำเนินไปได้ จะได้ไหมครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.ค. 2551

การบวชและเพศบรรชิตยังมีแน่...ตามพุทธพยากรณ์และผู้ที่มีอัธยาศัยในการบวชจริงๆ ก็ยังมี. การมีพระน้อยไม่ได้หมายความว่าการเผยแพร่พระศาสนาจะน้อยลงเพราะยังมีพุทธบริษัทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่นี้ได้. การทำบุญไม่เลือกสถานที่และบุคคลจะมีประโยชน์กว่าไหมคะ? สิ่งที่โน้มใจคนได้ไม่ใช่วัดแต่เป็นการเห็นคุณค่าของพระธรรมด้วยความเห็นถูกผู้ที่เข้าวัดแล้วมีความเห็นผิดก็มีอยู่มาก. คนที่เข้าวัดและมีความเห็นถูกด้วยก็ยังมี เพราะระลึกคุณของพระรัตนตรัยไม่ใช่การยึดถือตัวบุคคล (พระ) และไม่รู้จักคุณของพระรัตนตรัยคนไม่เข้าวัดไม่ใช่จะเป็นเหตุให้ห่างไกลศาสนา.
แต่ความเห็นถูกต่างหาก ที่จะทำให้คนไม่ห่างไกลศาสนา ถ้าคิดว่าจะบวชเพื่อสืบทอดศาสนาแต่ศีลไม่สะอาดจะเป็นโทษต่อผู้บวชเอง (อกุศลจิตเกิดมาก) เป็นการฝืนต่ออัธยาศัยและไม่เป็นผู้ตรงต่อตนเองยิ่ง ถ้าเผยแพร่พระธรรมด้วยความไม่รู้ยิ่งเป็นการทำลายพระศาสนา ศาสนาจะดำเนินไปได้ก็เพราะพุทธบริษัทยังศึกษาพระธรรมและน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม ตามกำลังปัญญา
และสามารถสืบทอดศาสนาได้อย่างถูกต้องเช่นกัน.
การบวช คือการสละทุกอย่าง เพื่อขัดเกลากิเลสอย่างละเอียดเป็นเรื่องยาก แต่ความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) นั้นยากที่สุด

.

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 ก.ค. 2551

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่เพื่อดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม ความไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งพระสัทธรรม

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 10 ก.ค. 2551

การสืบทอดพระศาสนา คือ การที่สาวก ไม่ว่าจะบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดจนเกิดความเห็นถูก เป็นปัญญาของตนเองละคลายอกุศลจนกระทั่งดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท บรรลุเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นในเพศของตนครับ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของการเจริญปัญญา การสืบทอดก็ต้องเป็นการสืบทอดด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่นครับ ถ้าด้วยเหตุอื่นตามที่ว่ามาข้างต้น สิ่งนั้นยังไม่ถือว่าเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาจริงๆ เป็นแต่เพียงเปลือกนอกเท่านั้น ไม่ใช่แก่นแท้ที่มาจากพระปัญญาตรัสรู้สัจจธรรมของพระพุทธองค์ครับ

ส่วนการเสื่อมของพระพุทธศาสนา ไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ครองเพศบรรพชิตในปัจจุบันที่น้อยลง หรือความห่วงใยในผู้ที่ไม่สนใจในพระธรรมของตัวเราเอง แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ ครับ ในยุคที่หาผู้มีปัญญาเข้าใจธรรมะได้ยากอย่างนี้ จะบอกว่าพระพุทธศาสนาเจริญขึ้น ก็ย่อมเป็นการพูดที่ไม่ตรงกับความจริง ดังนั้นก่อนที่เราจะหาวิธีช่วยให้ผู้อื่นได้ศึกษาพระธรรม เราต้องเป็นผู้ตรงกับตนเองก่อนว่า เรารู้จักพระธรรมจริงๆ แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่รู้จักพระธรรมจริงๆ ก็ควรศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญาของตนก่อนครับ ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะสืบทอดพระพุทธศาสนาแบบผิดๆ คือไปช่วยเขาให้เข้าใจผิด แล้วก็ทำสิ่งผิด ด้วยความเห็นผิด ซึ่งอย่างนี้มีโทษมาก เป็นการทำลายพระศาสนาครับ

อย่างไรก็ดี การบวชก็เป็นไปตามอัธยาศัยของผู้ที่จะบวช คงไม่มีการไปบังคับ ไปห้ามหรือออกความเห็นเพื่อตัดสินใจแทนผู้มีจิตศรัทธาที่จะบวชครับ เพียงแต่ว่าหากผู้นั้นได้เข้าใจจุดประสงค์อันลึกซึ้งจริงๆ ของการบวชก่อน ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเองและต่อพระศาสนามากกว่า แทนที่ว่า จะบวชเข้าไป แล้วก็ทำสิ่งที่เป็นโทษแก่ตนและพระศาสนาด้วยความประมาท ด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่ศึกษาให้ถูกต้องในพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคครับ ..

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
น้าฝน
วันที่ 12 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
suwit02
วันที่ 12 ก.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
จ่าหนาน
วันที่ 14 ก.ค. 2551

ขอบคุณมาก ครับ ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เจริญในธรรม
วันที่ 15 ก.ค. 2551
ขออนุโมทนา
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 17 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาทุกๆ คำตอบครับ ปลื้มใจในคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
happyindy
วันที่ 18 ก.ค. 2551

* * * ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wirat.k
วันที่ 20 ก.ค. 2551

ก่อนหน้านี้ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนมาก จึงไปบวชตามประเพณี โดยที่ไม่รู้พระวินัยและได้ทำผิดพระวินัยในขณะที่บวชด้วย เมื่อเห็นคนอื่นๆ บวชตามประเพณีโดยไม่เข้าใจ ก็รู้สึกเห็นใจสงสาร และสงสารท่านที่เป็นพระภิกขุในปัจจุบัน เนื่องจากหากท่านไม่ได้ศึกษาและได้ทำผิดพระวินัยแล้ว เมื่อมรณภาพขณะที่เป็นพระอยู่ก็ต้องไปสู่อบายภูมิตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ดังนั้นในปัจจุบันหากมีใครมาสอบถามความคิดเห็นในการบวช ก็จะอธิบายเหตุผลให้ฟังเท่าที่พอจะพูดคุยกันได้ และไม่ส่งเสริมให้บวชถ้าไม่มีอัธยาศัยที่สะสมมา

สำหรับการที่พระศาสนาจะเสื่อมหรือเจริญก็อยู่ที่พุทธบริษัททุกเหล่ามีความเข้าใจและประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ตามที่สหายธรรมได้ให้ความเห็นไว้ข้างต้น ไม่ได้อยู่ที่จำนวนนักบวชแต่อย่างใด และถ้าบวชแล้วไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และพระศาสนาก็ศึกษาพระธรรมในเพศผู้ครองเรือนนี้ก็ได้นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
lovedhamma
วันที่ 24 เม.ย. 2554

เรียนคุณจ่าหนาน; การบวชที่ถูกต้องอย่างแท้จริงนั้น ในสมัยพุทธกาล บวชกันก็

เพราะ อุปนิสัยที่สะสมกันมา หรือ มีความเห็นว่า "กุลบุตรผู้ซึ่ง เห็นโทษของการ

ครองเรือน เห็นว่า การครองเรือนนั้น เป็นแหล่งก่อเกิดอกุศลกรรมทั้งหลาย"

จึงออกบวช และการบวชทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น การบวชเณร,บวชพระ หรือแม้แต่ การ

บวชหน้าไฟที่เห็นว่ามีวันเดียวบ้าง 3 วันบ้าง 7 วัน 15 วัน แล้วลาสิกขา จึงไม่มีปรากฏ

ในพระไตรปิฎกที่เราเห็นทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ "ทำตามประเพณีทั้งสิ้น ไม่ได้

ทำตามศาสนา" และที่ผมเห็นว่าไม่ถูกที่สุดเลย ก็คือ การบวชหน้าไฟ เพราะการ

บวชหน้าไฟ ที่เราเห็นว่า มีการทำกันอยู่ทุกวันนี้นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่าง

มหันต์ แต่ก็น่าสงสารเด็กๆ ผู้ชายหลายคน ที่ถูกผู้ใหญ่ที่มีบาปมากๆ บังคับให้

บวช แต่สำหรับตัวผมนั้น ถ้ามีใครมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้ ผมจะนำสาระความรู้ที่ได้

จาก website บ้านธัมมะไปบอกกล่าวครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 ธ.ค. 2567

คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อ่านเพิ่มเติม

ทำไมบวช

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ