ควรเตือนหรือไม่ควรเตือน
1. ในวงสนทนาธรรม หากมีผู้หนึ่งกล่าวธรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น แสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่ตรงกับพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรหรือไม่ที่จะบอกกล่าวให้ผู้นั้นรับทราบในขณะนั้น หรือว่าควรจะเป็นในภายหลัง เพราะในขณะนั้น มีผู้ร่วมฟังอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง และทุกคนหัวเราะชอบใจคล้อยไปกับคำพูดนั้นๆ
2. ถ้าเราไม่อยู่ในฐานะที่สมควรเตือน คือเป็นผู้ที่เยาว์กว่า และเคยชี้แจงไปแล้วทำให้ผู้นั้นเกิดโทสะ ทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะการปกป้องพระธรรมด้วยการเผยแพร่ความเห็นถูกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ถ้าเราอยู่ในฐานะที่สามารถพูดอธิบายให้คนเขาเข้าใจได้ ควรพูดครับแต่ถ้าไม่อยู่ในฐานะ ควรพูดกับคนบางคนที่เขาพอจะรับฟังเหตุผลของเราในโอกาสอันสมควร (นอกรอบ) จะดีกว่า เพราะธรรมะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนถ้าเขาไม่รับฟังจะเป็นเหตุให้เกิดการขัดใจ เกิดการทะเลาะวิวาทกันได้
โดยปกติ ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ในเมื่อตนทำผิด พูดผิด เป็นคนไม่ตรง เมื่อมีบุคคลอื่นคอยตักเตือน คอยชี้ให้เห็นถึงความผิด ย่อมจะเป็นผู้มีปกติชอบใจ (ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีปกติชอบใจ) ผู้คอยตักเตือน เปรียบเสมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้
ผู้ที่คอยตักเตือนนั้นเป็นบัณฑิต เมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนี้ ก็จะพบแต่คุณอันประเสริฐ จะไม่พบกับความเสื่อมเลย ถึงแม้จะเข้าใจอย่างนี้แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากว่าแต่ละบุคคลมีอัธยาศัยที่ไม่เหมือนกัน ชอบไม่เหมือนกัน บางทีเราหวังดี พูดดี แนะนำดี แต่ผิดเวลา ผิดโอกาส ย่อมไม่เป็นที่พอใจของบุคคลคนนั้นอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นแล้ว โอกาสใดที่สมควรแก่การตักเตือนแนะนำในสิ่งที่ดี ก็ควรที่จะตักเตือน แนะนำ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว ทำอย่างดีที่สุดแล้ว เขาไม่รับฟัง แสดงความโกรธให้ปรากฏ ก็ขอให้พิจารณาถึงความที่แต่ละบุคคลมีกรรมเป็นของของตน ครับ เราไม่ใช่ผู้จัดการโลก แต่ที่สำคัญเราต้องจัดตัวเราเองให้ดีที่สุด ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เมื่อบุคคลอื่นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เขาก็คงจะคล้อยตามเราได้บ้าง
...ขออนุโมทนาครับ...
จากข้อความบางส่วนของคุณ khampan.a
เราไม่ใช่ผู้จัดการโลก แต่ที่สำคัญเราต้องจัดตัวเราเองให้ดีที่สุด ด้วยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน เมื่อบุคคลอื่นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เขาก็คงจะคล้อยตามเราได้บ้าง
ให้ข้อคิดแก่ดิฉันมาก เพราะ มักเป็นผู้แบกโลก โลกของตัวเองยังจัดการไม่ได้ แต่ชอบครุ่นคิดเดือดร้อนกับโลกภายนอกตั้งแต่เรื่อง
ทำไมวัยรุ่นปัจจุบัน ๘๐ เปอร์เซนต์ ถึงไม่มีความสำรวมเรื่องการแสดงออก
ทำไมรายการ T.V. จึงมีแต่โฆษณาส่งเสริมให้วัยรุ่นพยายามดึงดูดเพศตรงข้าม
ทำไมดาราหญิงที่ดูน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีงามกลับแต่งตัวโชว์ของสงวน
ทำไมพวกโกงกินชาติจึงลอยนวล
ทำไมทั้งที่รู้เห็นว่าคนนั้นชั่วแต่ก็ยังได้โอกาสขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตทำลายชาติต่อไป ฯลฯ
พอครุ่นคิดก็เครียด และพะวงสงสัย ซึ่งนั่นแสดงว่าดิฉันยังไม่มั่นคงในพระธรรมและผลของกรรม
แต่วาทะที่ว่า เราไม่ใช่ผู้จัดการโลก ก็ได้คิด (คงได้สักระยะหนึ่ง) จึงรีบหันกลับมาจัดการตนเองโดยไว
ขอบพระคุณ คุณ khampan.a และทุกความเห็น
สบายใจ
ถ้าเราสามารถที่จะเกื้อกูลได้ก็พยายามเกื้อกูล แต่ถ้าสุดวิสัยทางที่ดี ก็ไม่คบกับความเห็นผิด ในครั้งพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิกะท่านก็มีเพื่อน ๕๐๐ คน เพื่อนของท่านมีความเห็นผิด นับถือลัทธิอื่น ท่านก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและก็ได้ฟังธรรม ต่อมาเพื่อนของท่านก็กลับไปเห็นผิดเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นแต่ละคน ประมาทไม่ได้ ต้องเป็นผู้มั่นคงจริงๆ พิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดยิ่งขึ้นค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ในกินติสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า หากบุคคลใดทำผิด ถ้าความลำบากจะมีแก่เราเมื่อกล่าวเตือน (เพราะเราอายุน้อยกว่า เป็นต้น) และรู้ว่าเมื่อกล่าวเตือนแล้ว คนนั้นจะต้องโกรธ ไม่พอใจ แต่ถ้าเธอพิจารณาแล้วว่า เมื่อเตือนแล้วเขาสามารถออกจากอกุศล และกุศลเกิดได้ ดังนั้น เรื่องที่ความลำบากของเราที่อาจไม่เป็นที่รัก เป็นต้น และทำให้เขาเกิดความขัดใจนั้น เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่การทำให้เขาตั้งอยู่ในกุศลธรรมได้เพราะกล่าวเตือน ดังนั้นเธอก็ควรพูด (เตือน) แสดงให้เห็นว่าต้องเป็นผู้กล้าและหวังดีจึงกล่าวเตือน แม้เขาจะไม่พอใจ แต่ต้องรู้จักบุคคลและกาลเวลาด้วยครับ ที่สำคัญในพระสูตรนี้แสดงว่า ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าคนนี้เตือนแล้วไม่สามารถทำให้เขาออกจาก อกุศลได้ พวกเธอก็ควรวางเฉยเสีย
ในโจทนาสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลบางคนเมื่อถูกเตือน โดยกาลอันควรหรือไม่ควรก็โกรธ ถูกเตือนในเรื่องจริงหรือไม่จริงก็โกรธ ถูกเตือนในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ก็โกรธ ถูกเตือนด้วยคำเป็นที่รักหรือหยาบคายก็โกรธ ถูกเตือนด้วยเมตตาจิตหรือด้วยจิตเพ่งโทษก็โกรธ ดังนั้นผู้เตือนควรกล่าวด้วยเรื่องจริง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์ ด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน มีจิตเมตตากล่าว ตามปกติเรามักเป็นผู้รักตน ย่อมกลัวไม่เป็นที่รักและก็ไม่ชอบคำที่ไม่เป็นที่รักเมื่อเห็นสิ่งใดผิด ก็ไม่กล้าเตือนเพราะกลัวไม่เป็นที่รัก หากแต่เป็นผู้ที่เคารพพระธรรมแล้ว และมีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูลเพื่อให้บุคคลนั้นเจริญกุศลมากขึ้น ก็ย่อมเตือน แต่ต้องเป็นคำที่จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และถูกกาลเวลาด้วยที่สำคัญบุคคลที่จะเตือนใครนั้น บุคคลนั้นก็ต้องตั้งอยู่ในคุณธรรมนั้นด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นเพื่อนแท้ ไม่ใชการตามใจหรือกล่าวชมแต่เตือนให้เพื่อนออกจากอกุศลธรรมและกุศลธรรมเจริญ แต่ควรรู้จักกาลเวลาและประกอบด้วยเมตตา
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ควรต้องดูทั้งกาละเทศะและบุคคล
หากเขาไม่ถาม เรากล่าว เขาอาจโกรธเพราะคิดว่าเราติติงมากกว่าช่วยเตือน
ความคิดเห็นของทุกท่านในที่นี้เตือนใจได้อย่างดียิ่ง
เพราะในที่สุด บุคคลที่ต้องรับฟังคำเตือนก่อนเป็นบุคคลแรกคือ ตัวเราเอง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
ถ้าเตือนโดยตรงไม่ได้ก็ต้องหาหลักฐานประกอบ เช่น พระพุทธพจน์หรือพระไตรปิฏก ครับ เพราะไม่ได้ใช้ความคิดของคุณล้วนๆ ทำให้คำเตือนของคุณมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ กระผมเห็นควรเตือน เพราะถือว่าคุณจะได้สงเคราะห์คนอีกจำนวนมากคือ ตัวผู้กล่าวธรรมผิดหนึ่ง ผู้ฟังท่านอื่นๆ ที่ไม่รู้จริง ที่อาจหลงผิดตามผู้แสดงธรรมและที่สำคัญ คือ ช่วยต่ออายุพระศาสนา เพราะการทำลายพระศาสนาโดยตรงคือการบิดเบือนพระธรรม จะน่าสงสารมากถ้าผู้แสดงธรรมผิดโดยไม่เจตนาเพราะจะได้รับโทษมาก ถ้าท่านผู้นั้นมีใจเป็นธรรมหรือเป็นวิญญูชนย่อมรับฟังและจะยอมรับถ้าตนผิดจริง
ขออนุโมทนาในความกล้าหาญของท่านเจ้าของกระทู้ครับ
ควรเตือน เพื่อรักษาประโยชน์ท่านแต่ควรคิดก่อนพูด เพื่อรักษาประโยชน์ท่านความคิดที่ว่าธุระไม่ใช่ ไม่ใช่วิสัยของมิตรค่ะ.
หากมีผู้กล่าวธรรมะที่ไม่ถูกต้อง เราควรกล่าวอ้างพระธรรมที่ถูกต้องและชี้แจงหลักฐานที่ชัดเจนจากพระไตรปิฎกเพื่อสงเคราะห์ผู้ฟังท่านอื่น จะได้ไม่เข้าใจผิดในพระธรรมค่ะ
1. ควรหรือไม่ควร แล้วแต่เหตุปัจจัยค่ะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการพิจารณาจิตของคุณ ก่อนว่าเป็นอกุศลหรือกุศลที่ไปเตื่อนผู้อื่น ด้วยเมตตาที่จะเกื้อกูล หรือด้วยมานะ
2. ก็ถ้าคุณจะเตือนเค้าด้วยความหวังดี ด้วยความเป็นเพื่อนมีเมตตา ก็คงไม่ต้องเดือด ร้อนอะไร จริงไหมคะ สุดท้ายถ้าบุคคลนั้นจะเกิดโทสะ ก็เป็นธรรมะ เป็นอกุศลของบุคคลนั้น
เรื่องคนอื่นนั้นคงจะขอแนะนำให้พักเอาไว้ก่อน ที่สำคัญคือ ตัวเราเองรู้หรือยังว่า ทุกอย่างเป็นธรรมะ หรือหลงลืมตลอดเวลา?
การปกป้องพระธรรมที่ถูกต้อง คือ การศึกษาธรรมะให้เกิดปัญญาของตนเองแล้วแนะนำสิ่งที่ถูกต้องนั้นแก่ผู้อื่นตามสมควรแก่บุคคล/กาลเทศะ แต่ปุถุชนก็เป็นผู้ที่มีอกุศลหนาแน่นมากๆ และก็เป็นผู้ที่ว่ายากจริงๆ นอกจากจะมีปรกติหลงลืมสติแล้ว ก็ยังขาดความแยบคายในการพิจารณาคำที่เป็นสุภาษิต ทุพภาษิตอีกด้วย ฟังดีก็แล้ว คิดดีก็แล้ว ก็ลืมอีก ก็ยังกลับไปกระทำในสิ่งที่ไม่ดีอีก จึงเป็นผู้ที่ทุกข์ใจ เดือดร้อนเพราะความคิดในเรื่องต่างๆ ด้วยความหลงลืมว่าเป็นแต่เพียงธรรม มีแต่การศึกษาธรรมที่ค่อยๆ ละเอียดขึ้น เข้าใจความเป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น ที่จะอุปการะเกื้อกูลประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นได้ครับ แต่ไม่ใช่ว่า ศึกษาธรรมแล้วจะให้เห็นแก่ตัว ไม่สนใจใยดีในประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้อื่น หรือว่าจะต้องไปเว้นไว้ก่อนว่าจะไม่ให้ช่วยคนนั้น ไม่ให้ช่วยคนนี้ แต่ความจริง คือช่วยเมื่อกุศลจิตเกิดจึงช่วยทันที ไม่ใช่เพียงคิดว่าจะช่วย แล้วสุดท้ายก็ผ่านไปๆ ไม่ได้ช่วยอะไร ผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ไม่มีหรอกครับที่จะไม่ยอมใส่ใจเห็นคุณค่าของการเจริญกุศล แล้วมัวมานั่งคิดถึงแต่ความสุขสบายกาย ใจของตนเองอย่างเดียว แต่จะเป็นผู้ที่ให้อภัยเพราะเห็นใจจริงๆ ในความผิดพลาดจากความไม่รู้ของผู้อื่น แล้วก็พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้นั้นได้ทุกเมื่อด้วยครับ
...ขออนุโมทนาในความคิดเห็นของทุกๆ ท่านครับ...
00505 เตือนด้วยพระธรรม
บุคคลผู้ทำกรรมไม่สมควร เมื่อถูกตักเตือนว่า ท่านทำกรรมไม่ควรแล้ว จะโกรธโดยส่วนเดียวก็ตาม หรือไม่โกรธก็ตาม. อีกอย่างหนึ่งเขาจะเขี่ยทิ้งเหมือนกำแกลบหว่านทิ้งก็ตาม แต่ว่าเมื่อเรากล่าวคำเป็นธรรมอยู่ ขึ้นชื่อว่าบาปย่อมไม่มี.
คันธารชาดก
[เล่มที่ 59] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๓๒๙
ธรรมเตือนใจวันที่ : 11-07-2551