ขณะที่จิตเมตตาสงสารนั้นเพราะเราเห็นว่ามี สัตว์ บุคคล ใช่หรือไม่

 
lichinda
วันที่  7 ก.ค. 2551
หมายเลข  9177
อ่าน  1,596

เมื่อเราเมตตากรุณานั้น เพราะว่าเราเห็นว่ามี สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ใช่ไหม ยิ่งเมตตาสงสารมาก ยิ่งมีความเป็นเราเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเราเมตตากรุณาสี่ที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับ แต่เพราะเห็นความเป็นสัตว์บุคคลปรากฏจึงเมตตาสงสารใช่หรือไม่


Tag  เมตตา  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 8 ก.ค. 2551

พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ และแตกต่างจากขณะที่อกุศลจิตที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลจริงๆ ขณะที่พระพุทธเจ้ามีพระมหากรุณาแก่สัตว์โลก พระองค์ไม่มีความยึดถือสิ่งใดๆ ว่าเป็นเราเลย ดังนั้น ขณะที่เมตตาเกิดขึ้นเป็นสภาพจิตที่ดีงาม และไม่ชื่อว่าเพิ่มความเป็นเรา เพราะการรู้โวหารสมมติของชาวโลก พระอริยบุคคลท่านก็รู้ตามปกติ คือรู้ว่าใครเป็นใคร เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีคุณเป็นต้น ท่านก็รู้ แต่ท่านไม่เข้าใจผิด รู้ว่าสิ่งไหน จริงตามสมมมุติ สิ่งไหนจริงตามปรมัตถ์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พะรัตนตรัย เมื่อเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ เป็นอกุศล ที่เป็นโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ โมหะก็ได้ ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิก (ความเห็นผิด) เกิดร่วมด้วย

เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จิตเป็นโลภะติดข้องอย่างเดียวเท่านั้นก็ได้ ไม่มี ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้นไมได้หมายความว่า เมื่อเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วจะต้องหมายถึงมีความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ขณะนั้น (มีความเห็นผิด) ขณะที่เห็นเป็นสัตว์บุคคลสิ่งต่างๆ เป็นกุศลจิตก็ได้ (เช่น เมตตา) ขณะนั้นไมได้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แม้จะเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นเป็นสัตว์ บุคคล สิ่งต่างๆ แต่ไม่มีความเห็นผิด หรือบางบุคคลเมื่อเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เป็นอกุศลโดยไมได้มีความเห็นผิดก็ได้ แม้จะเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม

ขออนุโมทนาครับ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lichinda
วันที่ 8 ก.ค. 2551

รู้ว่าสิ่งไหนจริงตามสมมมุติ สิ่งไหนจริงตามปรมัตถ์ บัญญัติก็รู้ ปรมัตถ์ก็รู้หรือยังมีเหตุปัจจัยที่เป็นบัญญัติอยู่หรือ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 8 ก.ค. 2551

เมตตา หรืออโทสเจตสิกและกรุณาเจตสิกเกิดกับโสภณจิตคือ จิตฝ่ายดี ไม่เกิดกับอกุศลจิต ที่เจตสิกทั้งสองข้างต้นนี้จะเกิดได้ ก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัยเพียงพอจึงเกิดขึ้น หากเจตสิกทั้งสองข้างต้นนี้ เกิดร่วมกับกุศลจิต ก็เป็นเพราะว่า มีปัจจัยที่มาจากการสะสมของกุศลจิตในอดีต ที่เมื่อมีกำลังพอ ก็สามารถที่จะเกิดแทรกคั่นอกุศลได้ หากเกิดร่วมกับกับกุศลวิบากจิต ก็ต้องมีชาติวิบาก เป็นกุศลวิบากเจตสิก คือเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่เป็นผลของกุศลกรรมในอดีต เช่น เจตสิกที่เกิดกับภวังคจิตของผู้ที่ปฏิสนธิในมนุสสภูมิ ที่ไม่เป็นผู้พิการ บ้า ใบ้ บอดหนวก หรือเป็นกะเทยตั้งแต่กำเนิด และถ้าหากเกิดกับกิริยาจิต ก็ต้องเป็นเพราะเหตุว่าได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท บรรลุอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์

พระผู้พระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่า เจตสิกทั้งสองนี้เป็นธรรมะ เป็นเจตสิกธรรม แม้ว่าบางขณะจะเกิดร่วมกับจิตคิดนึกที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ พระองค์ก็ทรงแสดงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เจตสิกทั้งสองนี้เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แล้วเรามานั่งคิดเอง ว่าเป็นเพราะเราเมตตา เป็นเพราะเรากรุณา แต่เพราะเหตุว่า ผู้ที่ยังมีความไม่รู้ มีความเห็นผิด เป็นปุถุชน เป็นผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ถึงการเกิดดับของสภาพธรรมะที่แสนสั้นและรวดเร็ว จึงยึดถือเอาสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตา ซึ่งรับรู้สืบต่อทางใจว่ามีสัตว์บุคคล สิ่งต่างๆ จริงๆ เป็นผู้หลงอยู่ในโลกของความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แม้ว่าจะได้กระทำกุศลกรรมที่มีเมตตา/กรุณาเจตสิกเกิดร่วมกับจิต ก็ไม่รู้ว่าจิตและเจตสิกนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรมที่มีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์เกิดเพราะยังมีเหตุปัจจัยให้เกิด ดับเพราะมีเหตุปัจจัยให้ดับ แต่เพราะไม่รู้จึงทำให้เกิดความเห็นผิดว่ามีเราจริงๆ ที่เป็นคนดี มีเราจริงๆ ที่ใจดี เพราะมองเห็นทีไรก็เป็นสัตว์เป็นบุคคลทุกที จนกว่าจะได้ฟัง ได้เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง และได้เจริญปัญญาที่จะค่อยๆ รู้ความจริงที่เป็นสัจจธรรมมากขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง เข้าใจว่าขณะสติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เช่นขณะที่จิตมีบัญญัติ (สัตว์ บุคคล) เป็นอารมณ์ไม่ใช่ขณะเดียวกับจิตที่ประกอบด้วยเมตตากรุณาลองสังเกตุดูนะคะ ว่าเวลาที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลกับขณะที่จิตมีความอ่อนโยน ปรารถนาดี เป็นมิตร เป็นคนละขณะกันค่ะและพระอริยะบุคล เท่านั้น ที่จะไม่เห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลแต่ลักษณะของเมตตา กรุณา เกิดกับใครก็สภาพธรรมอย่างเดียวกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
choonj
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนา อาจารย์ครู ความคิดเห็นที่ ๔ อ่านแล้วได้ความรู้มากครับ จะขอถามความสงสัยนิดหน่อยดังนี้ ขออ้างย่อหน้า ๓ " หากเกิดร่วมกับกุสลวิบากจิตตั้งแต่กำเนิด"ถามว่าเมื่อเป็นกุศลวิบากเจตสิต จะให้ผลอย่างไร จะเป็นเพียงจิตมีเจตสิตนี้เกิดร่วมด้วยเฉยๆ หรือว่าให้ผลเหมือนกับการสังสมกุศลในอดีต ที่สามารถเกิดแทรกคั่นอกุศลได้
ขอบพระคุณ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ajarnkruo
วันที่ 9 ก.ค. 2551

กุศลวิบากเจตสิก เกิดกับกุศลวิบากจิต ซึ่งเป็นจิตที่เป็นผลของกรรม เป็นตัวที่เป็นผลแล้ว จึงให้ผลอีกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวเหตุอย่างกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดผลที่ดีหรือตัวเหตุอย่างอกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดให้ผลที่ไม่ดี เจตสิกทุกประเภทมีกิจหน้าที่ของตน เช่น สติมีกิจในการระลึกได้ สติจึงไม่ได้เกิดกับจิตขึ้นมาแล้วเฉยๆ ไม่ทำอะไร จิตและเจตสิกต่างๆ เกิดดับตามเหตุปัจจัยที่หลากหลายของตน ขณะที่เป็นปกติจิตของปุถุชนนั้นส่วนใหญ่เป็นไปกับอกุศล เกิดดับสลับกับจิตชาติอื่นๆ ตามควร นานๆ ทีจึงจะมีปัจจัยให้กุศลจิตในขั้นของทาน ศีลภาวนา เกิดแทรกคั่นอกุศลจิตได้บ้างครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ขณะที่เมตตาเกิดจึงมีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ว่าเห็นเป็นสัตว์ บุคคล จึงเกิดเมตตา เพราะบางครั้งก็เห็นเป็นสัตว์บุคคล เมตตาก็ไม่เกิด กุศลเกิดมีอารมณ์เป็นบัญญัติก็ได้ แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานเกิดต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
happyindy
วันที่ 9 ก.ค. 2551

* * ขออนุโมทนาท่านที่มีความเมตตาอธิบายขยายความเพื่อความเข้าใจถูกทุกท่าน * *

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
choonj
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ขอบคุณอาจารย์ครู ผมยังไม่ค่อยเข้าใจ ขณะที่เมตตาเกิดกับกุศลจิตแล้วเป็นวิบาก จิตดวงนี้เมื่อเกิดก็ต้องประกอบด้วยวิตก และวิตกเป็นท้าวของโลกแล้วที่จะทำให้เมตตากุศลจิตเกิดต่อไปไม่ได้เพราะจิตดวงนี้เป็นวิบาก จึงไม่เข้าใจตรงนี้ หรือว่าวิบากจิตดวงนี้ไม่ส่งผล แต่เป็นเพราะวิตกในวิบากจิตดวงนี้ที่เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดพอเขียนมาตรงนี้ ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า วิบากจิตไม่เป็นกรรมปัจจัยให้วิบากเกิดแต่เจตสิตในวิบากจิตที่เกิดขึ้นทำให้จิตที่เกิดต่อเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่รู้ถูกผิดอย่างไร

ขอความกรุณาอีกที่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ajarnkruo
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ถ้าหากว่าจะให้เข้าใจขึ้น ต้องค่อยๆ อ่านอีกทีนะครับ อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจหน่อย และอาจจะต้องย้อนกลับไปทบทวนจิตชาติต่างๆ ทั้งกุศล อกุศล วิบาก กิริยาว่ามีความแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร ซึ่งถ้าได้เข้าใจเรื่องชาติของจิตอย่างละเอียดขึ้น ก็จะช่วยให้ค่อยๆ คลายความสงสัยได้ครับ รวมทั้งจะเกื้อกูลให้เกิดความชัดเจนในการศึกษาพระธรรมในขั้นเรื่องราวของธรรมะได้มากขึ้น จนเกิดความรู้ที่ถูกต้องว่าแม้จะเป็นเรื่องราว แต่ก็เป็นเรื่องราวที่กำลังชี้ให้ปัญญาเห็นถึงความจริงที่กำลังมีปรากฏในขณะนี้ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ให้สาวกได้ศึกษาโดยละเอียดครับ เพราะเหตุว่าจิตชาติต่างๆ มีจริง แต่เกิดดับสลับกันรวดเร็วทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ไม่ได้อยู่เป็นตัวหนังสือสีดำๆ ตัวเล็กๆ บนจอคอมพิวเตอร์เลย แต่กำลังมีในขณะนี้นี่เอง ซึ่งถ้าเราได้ค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น เราก็จะค่อยๆ จำได้ และสามารถที่จะต่อเติมความเข้าใจจากขั้นพื้นฐานขั้นการฟัง ไปสู่ความเข้าใจในขั้นคิดพิจารณา ไปสู่ขั้นที่จะค่อยๆ รู้ความจริงที่มีโดยไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวของจิตได้ ที่สำคัญ ปัญญาที่เกิดเพราะมีความเข้าใจที่ละเอียดขึ้น จะช่วยตัดปัญหาเรื่องคำต่างๆ ที่ทำให้การศึกษาธรรมะของเราสับสน หรือไม่ตรงจุดได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
lichinda
วันที่ 10 ก.ค. 2551

ใช่ครับ เพราะสะสมมาแล้ว "เมื่อเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางมโนทวารก็รู้ว่าสิ่งนั้นมีชีวิต เป็นเด็กนักเรียนเหมือนลูกเหมือนหลาน ก็ปรารถนาให้เขาเป็นสุข ไม่มีทุกข์" ใช่ครับ จิตคนละขณะกันก็รู้ ไม่ใช่ตัวตนก็รู้ สิ่งนั้นมีชีวิตก็รู้ เมตตากรุณามีอยู่ก็รู้ สงสารก็รู้ ก็ดับไป ดับไปก็รู้ แม้มีความเป็นเรา ก็ไม่ติดข้อง เพราะว่าสิ่งนั้น หรือสิ่งไหน ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราที่ไปเมตตาเมตตาเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
choonj
วันที่ 10 ก.ค. 2551


ขอบคุณ อาจารย์ครู ปัญหาคือปัญญาน้อยครับ จึงไม่สามารถค่อยๆ อ่าน จำ คลายความสงสัยได้ เมื่อปัญญาไม่เกิดความเข้าใจก็ไม่มีจึงต้องถามเพื่อปัญญาจะเจริญได้มั้งเข้าใจครับคำถามคำตอบเป็นเรื่องราว แต่เรื่องราวทีถูกจากผู้รู้และมีประสพการณ์ก็ช่วยปัญญาได้ ขอบคุณอาจารย์ครูอีกครังครับที่ให้ความรู้

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
opanayigo
วันที่ 11 ก.ค. 2551

ในการอ่าน+ฟังแต่ละครั้งความเข้าใจก็แตกต่างกัน เข้ามาอ่านค่ะ

ขออนุโมทนาทุกท่านนะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
opanayigo
วันที่ 11 ก.ค. 2551

"ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ให้สาวกได้ศึกษาโดยละเอียดครับ เพราะเหตุว่าจิตชาติต่างๆ มีจริง แต่เกิดดับสลับกันรวดเร็วทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา " "แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานเกิดต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ค่ะ"

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ