พระสูตรเรื่อง โจรผู้ทำลายปม - ๑๒ ก.ค. ๒๕๕๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย•••
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๕๑
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.
๔. เรื่องโจรผู้ทำลายปม [๔๘]
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 187
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 187
๔. เรื่องโจรผู้ทำลายปม [๔๘]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกโจรผู้ทำลายปม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โย พาโล มญฺตี พาลฺยํ เป็นต้น
โจรลักของที่ขอดไว้ที่พกผ้า
ได้ยินว่า โจร ๒ คนนั้นเป็นสหายกัน ไปสู่พระเชตวันกับมหาชนผู้ไปอยู่ เพื่อต้องการฟังธรรม โจรคนหนึ่งได้ฟังธรรมกถาแล้ว โจรคนหนึ่งมองดูของที่ตนควรถือเอา บรรดาโจรทั้งสองนั้น โจรผู้ฟังธรรมอยู่ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว โจรนอกนี้ได้ทรัพย์ประมาณ ๕ มาสกที่ขอดไว้ที่ชายผ้าของอุบาสกคนหนึ่ง ทรัพย์นั้นเป็นค่าอาหารในเรือนของเขาแล้ว ย่อมไม่สำเร็จผลในเรือนของโจรผู้โสดาบันนอกนี้ ครั้งนั้น โจรผู้สหายกับภรรยาของตน เมื่อจะเย้ยหยันโจรผู้โสดาบันนั้น จึงกล่าวว่า "ท่านไม่ยังแม้ค่าอาหารให้สำเร็จในเรือนของตน เพราะความที่คนฉลาดเกินไป" สหายผู้โสดาบันนอกนี้คิดว่า "เจ้าคนนี้ ย่อมสำคัญความที่คนเป็นบัณฑิต ด้วยความเป็นพาลทีเดียวหนอ" เพื่อจะกราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระศาสดา จึงไปสู่พระเชตวันกับญาติทั้งหลาย กราบทูลแล้ว
ผู้รู้สึกตัวว่าโง่ย่อมเป็นบัณฑิตได้
พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่เขา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๔. โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ "บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่แห่งตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต บุคคลนั้นแล เราเรียกว่า 'คนโง่'
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า โย พาโล ความว่า บุคคลใดเป็นคนโง่ คือ มิใช่เป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญ คือย่อมรู้ความที่ตนเป็นคนโง่คือความเป็นคนเขลานั้น ด้วยตนเองว่า "เราเป็นคนเขลา"
สองบทว่า เตน โส ความว่า ด้วยเหตุนั้น บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิตได้บ้าง หรือจะเป็นเช่นกับบัณฑิตได้บ้าง ก็เขารู้อยู่ว่า "เราเป็นคนโง่" เข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้คนอื่นซึ่งเป็นบัณฑิต อันบัณฑิตนั้นกล่าวสอนอยู่ พร่ำสอนอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นบัณฑิต เรียนเอาโอวาทนั้นแล้ว ย่อมเป็นบัณฑิต หรือเป็นบัณฑิตกว่าได้
สองบทว่า ส เว พาโล ความว่า ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่อยู่ เป็นผู้มีความสำคัญว่าคนเป็นบัณฑิตถ่ายเดียวอย่างนั้นว่า "คนอื่นใครเล่า จะเป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก ทรงวินัย มีวาทะ กล่าวคุณเครื่องขจัดกิเลสเช่นกับด้วยเรามีอยู่" บุคคลนั้นไม่เข้าไปหา ไม่เข้าไปนั่งใกล้บุคคลอื่นซึ่งเป็นบัณฑิต ย่อมไม่เรียนปริยัติเลย ย่อมไม่บำเพ็ญข้อปฏิบัติ ย่อมถึงความเป็นคนโง่โดยส่วนเดียวแท้ บุคคลนั้นย่อมเป็นเหมือนโจรทำลายปมฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า ส เว พาโลติ วุจฺจติ ในกาลจบเทศนา มหาชนพร้อมด้วยญาติทั้งหลายของโจรผู้โสดาบันนอกนี้ บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ดังนี้แล
เรื่องโจรผู้ทำลายปม จบ
ผู้มีมานะ สำคัญมั่นหมายในตน
ย่อมเป็นผู้ไม่ฟังคำของบัณฑิต แม้ที่กำลังกล่าวอยู่ต่อหน้า
ขออนุโมทนาค่ะ
ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้ ด้วยเหตุนั้น ผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแล เรากล่าวว่าเป็นพาล ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมเหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกง ฉะนั้น ถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น
ในชีวิตประจำวัน การเป็นผู้สำคัญตนว่าโง่ หายากกว่า การสำคัญตนว่าเป็นผู้ฉลาดพระสูตรนี้เป็นประโยชน์จริงๆ
ขออนุโมทนาค่ะ