ธรรม...อธรรม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอน จากหนังสือ บารมีในชีวิตประจำวัน (ขันติบารมี) โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
อธรรมเทพบุตร กล่าวกับ ธรรมเทพบุตรว่า "ค้อนเหล็กทุบเงินได้ เงินทุบค้อนเหล็กไม่ได้ หากวันนี้ อธรรมจะฆ่าธรรมได้ เราผู้เป็นเหล็ก จะพึงแสดงให้เห็นเป็นดุจทองคำ"
ธรรมเทวบุตร กล่าวตอบ อธรรมเทพบุตรว่า "เราอดทนวาจาหยาบของท่านได้"
ท่านอาจารย์สุจินต์ อธิบายคาถานี้ไว้ว่า ถ้าฝ่ายอธรรม ก็ต้องเข้าใจว่าค้อนเหล็กทุบเงินได้ และเงินทุบค้อนเหล็กไม่ได้ทำให้เข้าใจว่า อธรรมจะฆ่าธรรมได้ฉะนั้น ผู้ที่มีอธรรมคิดว่า จะเป็นเหมือนเหล็กแต่แสดงให้เห็นเป็นดุจทองคำคือ แสดงให้ใครๆ เห็นว่า อกุศล ดีกว่ากุศล
และท่านอาจารย์สุจินต์ ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อมีใครทำผิด เป็นที่ติเตียนของสังคมจิตของท่านคิดอย่างไร ถ้าคิดช่วยกันซ้ำเติมบุคลนั้นจะเห็นได้หรือไม่ว่าขณะนั้น เข้าใจว่า อธรรมดีกว่าธรรมเพราะในขณะที่ช่วยกันกระหน่ำซ้ำเติมนั้นเป็นอธรรม ไม่ใช่ธรรม
ถ้าเป็นธรรมแล้ว ย่อมทำให้เกิดสติสัมปชัญญะที่จะระลึกได้และมีความเมตตา ความอดกลั้น ความอดทนแทนที่จะช่วยกันก่อให้เกิดอกุศล หรือโทสะเพิ่มขึ้น
โดยส่วนตัวแล้ว ขณะที่ข้าพเจ้าระลึกได้ว่ากำลังสำคัญตนว่าเป็นทองคำ สุภาษิตบทนี้ เตือนใจว่า กำลังเป็นฝ่ายอธรรมแต่ยังไม่พอที่จะต้านทานกระแสของฝ่ายอธรรมได้
ข้าพเจ้าขออนุญาติ ถามความเห็น ของสหายธรรมท่านอื่นว่า ท่านพอที่จะมีสุภาษิตบท
ขออนุโมทนาค่ะ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๑๙
[เล่มที่ 23] อรณวิภังคสูตร (บางส่วน) .
ความยกย่องเป็นต้น
[๖๕๗] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกย่องและการตำหนิ ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกย่อง ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเป็นการยกย่อง เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม คือไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีด้วยความแค้นใจ มีความเร่าร้อนเป็นผู้ปฏิบัติผิด
กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบซึ่งความเพียร เครื่องประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้น ทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่า อันความไม่ตามประกอบนี้แล เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น.
ไม่กล่าวอย่างนี้ว่าชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้น ทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด กล่าวอยู่ว่า เมื่อยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละไม่ได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้น ทั้งหมดไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ กล่าวอยู่ว่าก็ เมื่อละสัญโญชน์ในภพได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละได้ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลไม่เป็นการยกย่อง ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกย่องและการตำหนิ ครั้นรู้แล้วไม่พึงยกย่อง ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้ว
[๖๖๐] ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการแรกนั้น พึงรู้วาทะลับหลังใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าววาทะลับหลังนั้นเป็นอันขาด แม้รู้วาทะลับหลังใดจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าววาทะลับหลังนั้น
และรู้วาทะลับหลังใด จริง แท้ประกอบด้วยประโยชน์ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าววาทะลับหลังนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในประการหลังนั้น พึงรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด ไม่เป็นจริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้นเป็นอันขาด
แม้รู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็พึงสำเหนียกเพื่อจะไม่กล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น และรู้คำล่วงเกินต่อหน้าใด จริง แท้ ประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น พึงเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อจะกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้านั้น ข้อที่กล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงกล่าววาทะลับหลัง ไม่พึงกล่าวคำล่วงเกินต่อหน้า นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้ว
[๖๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้แลว่า เราทั้งหลายจักรู้ธรรมยังมีกิเลสต้องรณรงค์ และรู้ธรรมไม่มีกิเลสต้องรณรงค์ ครั้นรู้แล้ว จักปฏิบัติปฏิปทา ไม่มีกิเลสต้องรณรงค์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แหละกุลบุตรสุภูติ ปฏิบัติปฏิปทาไม่มีกิเลส ต้องรณรงค์แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส พระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล
จบ อรณวิภังคสูตรที่ ๙
ลองอ่านพระสูตรนี้ดูนะครับ
พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญขันติธรรมสุภาสิตชยสูตร ว่าด้วยการแข่งขันคำสุภาษิต
...ขออนุโมทนาครับ...
เป็นสุภาษิตที่ขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อการละอกุศลรักษาประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านทั้ง ๓ สูตร.
ขออนุโมทนาในธรรมทานค่ะ.
.................................................
แต่ละบุคคลสั่งสมอุปนิสัยมาแตกต่างกัน ชอบไม่เหมือนกัน การกระทำพร้อมทั้งคำพูดอาจจะออกมาในทางที่ไม่ดี ไม่เป็นที่ถูกใจของบุคคลอื่น แต่นั่นไม่เป็นมาณ เพราะเหตุว่าผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ประกอบด้วยความอดทน ไม่ว่าใครจะพูดไม่ดีหรือกระทำไม่ดีกระทบกระทั่งต่อท่านอย่างไร ก็ไม่โกรธ ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ เพราะการกระทำหรือคำพูดที่ไม่ดีของบุคคลทั้งหลายนั้น จะเป็นเครื่องเพิ่มพูนความอดทน เป็นเครื่องที่จะทำให้ขันติบารมีเจริญขึ้น และอีกประการหนึ่ง พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญความเป็นผู้อดทน สรรเสริญการฆ่าซึ่งความโกรธ เพราะบุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมอยู่เป็นสุข ครับ
...ขออนุโมทนาครับ ..
กระทู้นี้ ข้าพเจ้าอ่านแล้วอ่านอีก กว่าจะพอเข้าใจได้ก็เพราะพระธรรมเป็นของลึกซึ้ง เป็นของยากจริงๆ เมื่อเกิดความเข้าใจก็เกิดความปีติ เอิบอิ่มใจ ต้องขออนุโมทนาคุณพุทธรักษาและสหายธรรมอีกท่านคุณ suvito2 ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นเข้ามาและได้กรุณาแปลสรุปเนื้อหาสาระในพระสูตรให้เข้าใจ
ต้องขออนุโมทนาคุณพุทธรักษา ที่ระลึกได้ว่า กำลังสำคัญตนว่าเป็นทองคำกำลังเป็นอธรรม ด้วยเหตุที่อกุศลเกิดบ่อยกว่ากุศล ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลแล้วมีความอดทนต่อการที่จะไม่เป็นอกุศลนั้นๆ ขณะนั้นเป็นกุศล ดังที่ท่านอาจารย์บรรยายไว้ว่า ขันติบารมี คือ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด แล้วรู้ลักษณะสภาพของจิต ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศลก็จะเปลี่ยนเป็นกุศลได้ มีความอดทนเพิ่มขึ้น ที่เคยบ่นก็จะไม่บ่นหรือที่เคยหงุดหงิดก็จะรู้ว่าหงุดหงิดไม่มีประโยชน์เลย ที่มีความไม่พอใจก็จะรู้ว่า ความไม่พอใจในขณะนั้นเป็นอกุศล หรือพบคนที่มีอุปนิสัยไม่เหมาะไม่ควรก็จะต้องอดทนต่อความไม่ดีไม่เหมาะควรโดยไม่บ่นว่า แต่สติสัมปชัญญะจะระลึกได้ที่จะไม่วิจารณ์ ไม่ตำหนิและคิดด้วยเมตตาที่จะสอน เกื้อกูล แนะนำในโอกาสหรือในกาลนั้น
ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ
ต้องขอยอมรับว่า การขัดเกลากิเลส เป็นเรื่องที่ยากมากค่ะจึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้รู้ ช่วยเหลือเกื้อกูลชีวิตประจำวันนั้น อกุศล (เพ่งโทษผู้อื่นนั้นไวมากค่ะ) เมื่อก้าวล่วงผู้อื่นแล้วขอโทษบางท่านก็ให้อภัย แต่บางท่านก็ไม่ให้อภัยแต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเข้าใจอกุศลของเรายังจัดการไม่ได้เปล่าประโยชน์ที่จะจัดการอกุศลของผู้อื่น หน้าที่คือ ศึกษาพระธรรมต่อไป เพื่อค่อยๆ ขัดเกลากิเลสของตัวเองไปพระธรรมจะเป็นที่พึ่งของเราเสมอเมื่อเข้าใจพระธรรมแม้แต่ขั้นอนุบาลก็ตาม
การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสนทนาธรรมตามกาล ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อความเข้าใจถูกนี้ ชื่นใจหาใดปาน ความชุ่มชื่นใจใด ก็ไม่เท่าความชุ่มชื่นใจที่ได้ฟังพระธรรมและเข้าใจในพระธรรมนั้น
ขออนุโมทนาในการเจริญกุศลของทุกท่านอีกครั้งค่ะ
..