ความคิดนึก....

 
oom
วันที่  16 ก.ค. 2551
หมายเลข  9273
อ่าน  1,083

การที่เรามีความคิดที่เป็นกุศล มองโลกในแง่ดี เช่นมีคนอื่นมาทำให้เราไม่พอใจ เราก็ไม่โกรธเขา เพราะคิดในด้านบวกว่าเขาเป็นครูสอนเราให้ได้ฝึกขันติและมีความอดทนได้ วิธีคิดแบบนี้ถือว่าเป็นจิตเจตสิตฝ่ายกุศลได้หรือไม่ เพราะจิตเกิดกุศลหรืออกุศล ขึ้นอยู่กับการนึกคิดด้วย ที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งใช่หรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 18 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาพธรรมที่เป็นจิตเกิดและดับเร็วมาก ดังนั้นการจะรู้ว่าจิตใดเป็นกุศลและอกุศลก็ต้องเป็นสติสัมปชัญญะของผู้นั้นเอง หากเมื่อเราพิจารณาถึงสภาพธรรมที่เป็นขันติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ซึ่งก็มีหลายระดับ ทั้งที่เป็นกุศลในขั้นคิดนึกด้วย คิดด้วยความแยบคายในทางที่ถูกต้องในจริยาปิฎก ได้อธิบายเรื่องขันติไว้ ประการหนึ่งว่า ถ้าไม่มีผู้ทำให้เสียหาย ขันติสัมปทาของเราจะเกิดได้อย่างไร

หมายความว่า หากเรากระทบแต่อารมณ์ที่ดีๆ ก็ย่อมไม่เกิดความโกรธได้ง่าย แต่เพราะอาศัยการกระทบอารมณ์ที่ไม่ดีหรือผู้ที่ทำให้เสียหาย เมื่อพิจารณาด้วยความถูกต้อง ก็ย่อมเพิ่มความไม่โกรธ ความมีขันติ จิตก็ย่อมไม่โกรธต่อสิ่งนั้นแม้เพียงในใจ จากการได้รับกระทบสิ่งที่ไม่ดี

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 18 ก.ค. 2551

แต่สภาพธรรมก็เป็นอนัตตา แม้ขันติ ซึ่งก็แล้วแต่การสะสม และที่สำคัญคือกำลังของปัญญาที่สะสมด้วยครับ ดังข้อความในจริยาปิฎกตอนหนึ่งที่ว่า

อนึ่งผู้มีปัญญาเท่านั้นเป็นผู้มีความอดกลั้นต่อความเสียหายของผู้อื่น เป็นต้น ผู้มีปัญญาทรามไม่เป็นผู้อดกลั้น ความเสียหายที่ผู้อื่นนำไปให้แก่ผู้ปราศจากปัญญา ย่อมเพิ่มพูนความเป็นปฏิปักษ์ของความอดทน แต่ความเสียหายเหล่านั้นของผู้มีปัญญาย่อมเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งขันตินั้นด้วยเพิ่มพูนความสมบูรณ์แห่งขันติ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ปัญญาน้อยเมื่อมีใครทำให้เสียหายย่อมไม่อดทนและก็ทำให้เพิ่มพูนความโกรธมากขึ้น แต่ผู้ที่มีปัญญาย่อมเพิ่มพูนความอดทนมากขึ้น และไม่โกรธเมื่อใครทำความเสียหายให้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 18 ก.ค. 2551

ซึ่งจะขอนำข้อคิดธรรมดีๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและทำให้ขันติเจริญขึ้น

เราจะรู้จักกันอีกไม่นานการเห็นกันครั้งนี้อาจเป็นการเห็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ควรทำดีต่อกันและให้อภัยกัน เพราะไม่มีความอดทน (ขันติ) ทำให้เดือดร้อนในโลกนี้และโลกหน้า ถ้าผู้มีคุณทำความเสียหายไม่ควรโกรธ แม้ผู้ไม่มีคุณทำผิดก็ยิ่งควรสงสารเป็นพิเศษ ถ้าไม่มีผู้ทำให้เสียหาย ขันติสัมปทาของเราจะเกิดได้อย่างไร ทุกคนก็ยังมีกิเลส แม้คนที่ทำผิดและแม้ตัวเราเองก็ผิดพลาดเหมือนเขาได้ จะห่างไกลกันด้วยความเป็นมิตรหรือใกล้ชิดด้วยความเป็นศัตรู

เพราะเป็นธรรมฝ่ายดี (ขันติ) จึงไม่มีคำว่าสาย เมื่อเห็นประโยชน์ที่จะอบรม ไม่ใช่ทุกคนจะมีแต่ความไม่ดี ใครไม่ชอบเรากิเลสของเขา ส่วนเรามีความเป็นมิตรด้วยใจจริงได้ โกรธบุคคลอื่น ใครทุกข์ ตัวเองหรือบุคคลอื่น ควรสงสารคนที่ทำผิดหรือทำความเสียหายให้เพราะเขากำลังสร้างเหตุที่ไม่ดี ถ้าสะสมความผูกโกรธ ความไม่เป็นมิตร ชาติหน้าก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีไม่ได้ ทำความเสียหายด้วยธรรมใดและทำในที่ใด ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดก็ดับไปใน ขณะนั้นเอง บัดนี้ใครพึงทำความโกรธแก่ใคร และใครผิดแก่ใครเพราะธรรมทั้ง ปวงเป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 18 ก.ค. 2551

หากแต่ว่าการอบรมปัญญาเพื่อดับกิเลสจริงๆ นั้น คือ เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แม้จะพิจารณาตามที่กล่าวแล้ว ไม่โกรธ ก็ยังเป็นเราที่ไม่โกรธ ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่โกรธ ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ การอบรมปัญญาจึงไม่ใช่พยายามให้โกรธไม่เกิดขึ้น เป็นไปไม่ได้ แต่ให้เข้าใจว่าขณะนั้นป็นธรรม ไม่ใช่เรา และรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อละความยึดถือว่าเป็นตัวตนครับ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีก็ยังมีความโกรธเกิดขึ้นได้ แต่โกรธแล้วควรเข้าใจความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร พร้อมๆ กับการอบรมการคิดแยบคายด้วยความถูกต้อง แม้ขั้นคิดนึกตามข้อคิดที่ได้กล่าวมา ซึ่งเมื่อเป็นผู้ที่เห็นถูกแล้วย่อมรู้ว่าหนทางการดับกิเลสคือ รู้ว่าเป็นธรรม แต่ก็ขาดกุศลประการต่างๆ ไม่ได้เลย ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
suwit02
วันที่ 20 ก.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 20 ก.ค. 2551

ถ้าจิตเป็นกุศลก็จะตรึกหรือคิดไปในทาน ในศีล ในภาวนา คิดจะให้อภัย คิดที่จะฟังธรรม คิดช่วยเหลือคนอื่น คิดที่จะไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยกาย วาจา ใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
oom
วันที่ 21 ก.ค. 2551
ขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นของทุกท่านมากค่ะ ที่ให้ข้อคิด เตือนใจต่างๆ โดยเฉพาะความคิดเห็นที่ 3 อ่านแล้วทำให้ได้สติข้อคิดมากเลยค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Komsan
วันที่ 16 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ