ผลจากการฟังพระธรรม
สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์สุจินต์และวิทยากรทุกท่าน
ดิฉันเริ่มฟังพระธรรม จากมูลนิธิฯ เมื่อ เดือน พค.2545 ฟังเรื่อยมาโดยตลอด จะได้ยินประโยคที่ว่า ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ และพิจารณาไป จนวันนี้เริ่มถามตัวเองว่า เวลาเห็น ได้ยิน ฟุ้งซ่าน หรือปรุงแต่งหรือเปล่า และรู้สึกแปลกมากความสงบเริ่มเกิดขึ้นอยากเรียนถามว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการฟังพระธรรมหรือเปล่าค่ะ ยอมรับว่า พระธรรมเป็นเรื่องยากมาก แต่ผลที่ได้รับมากมายมหาศาล ต้องอาศัยความอดทนที่จะฟังอย่าง
มาก ดั่งที่ อ. สุจินต์ พูดอยู่เป็นประจำ
ขอบคุณมากค่ะ
การฟังพระธรรมเป็นจุดเริ่มต้นของการอบรมเจริญปัญญา เมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นทำให้ค่อยๆ รู้ความจริงทุกอย่าง ขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจเป็นความ
สงบเป็นกุศลจิต
ไม่มีบุคคลผู้ใดที่จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้โดยไม่มีการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมการฟังพระธรรมจะทำให้เรามีความเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น จากการเป็นผู้ที่ไม่เคยรู้ ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องมีความอดทนในการที่จะศึกษา ในการที่จะฟัง พิจารณาไตร่ตรองความลึกซึ้งของพระธรรม
ข้อสำคัญ คือเมื่อฟังธรรมที่ถูกต้องแล้ว ต้องสามารถแยกได้ ว่า หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูก (สัมมามรรค) และ หนทางไหนเป็นหนทางที่ผิด (มิจฉามรรค)
ฟังแล้วฟังอีก ฟังอีกฟังแล้ว ฟังจนจรดกระดูกจนรู้สึกว่าที่แปลกก็เป็นธรรมะ
ดิฉันเข้าใจว่า ขณะฟังธรรม จิตที่เป็นกุศล เป็นอนันตรปัจจัย ให้จิตขณะต่อไปเป็นกุศลจิตเช่นกัน ทำให้มีการสะสมการอยากฟังธรรมมากขึ้นๆ และมีเข้าใจมากขึ้นๆ เป็นลำดับ เป็นอนันตรปัจจัยเช่นกัน จึงเห็นความสำคัญของการฟังธรรมมาก จะไม่ละโอกาสที่จะฟังธรรมเลย แม้ในเวลาสั้นๆ ก็ยังดีกว่าเสียโอกาสไปค่ะ
พระพุทธศาสนา คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา การเข้าใจธรรมต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ต้องมีความเข้าใจก่อนว่า ธรรมะคืออะไร ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ อาจมีความเข้าใจผิดในธรรมได้ เพราะว่าหลายคนศึกษาธรรม แสวงหาธรรม แต่ไม่ทราบว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจตามลำดับ ตั้งแต่ต้นการฟังธรรมทุกครั้งก็เพื่อให้เกิดความเห็นถูก เป็นปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
ประโยคที่ว่า ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ และพิจารณาไป ตามความเข้าใจของดิฉัน ในขั้นต้นคือการพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้เข้าใจ ฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็จะทำให้ความเข้าใจนั้นเพิ่มมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีสภาพธรรมเกิดขึ้น เช่นความโกรธ ความไม่พอใจ ความดีใจ เสียใจ ก็จะค่อยๆ เริ่มมีการสังเกตในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ขึ้น แต่ต้องมีความเข้าใจที่ตรงและถูกตามที่ได้ยินได้ฟังมา ไม่คาดคะเนเอง คุณยุพาเข้าใจไม่ผิดเลยค่ะที่ว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ใครก็ตามที่บอกว่าธรรมเป็นเรื่องง่าย ผู้นั้นดูถูกในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังต่อไปนะคะ แม้ว่าชั่วชีวิตนี้ก็ยังไม่พอค่ะ