ความประมาท
สิ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจ จากการศึกษาธรรมะ
๑. ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้น กำลังประมาท
๒. ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นกำลังประมาท
๓. ขณะที่อกุศลวิบากให้ผล และไม่มีปัญญาแก้ปัญหา ขณะนั้นทำได้แค่รู้ รู้ลักษณะของอกุศลจิตที่กำลังเกิด (เป็นส่วนใหญ่) เท่านั้น
กรุณาอธิบายเพื่อความมั่นว่า นั่นคือความหมายของคำว่าประมาท และหากปัญญาไม่มีกำลัง ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องอดทนเท่านั้น ถูกต้องใช่ไหมคะ
ควรทราบว่าปัญญาในขั้นกำลังอบรม ยังไม่มีกำลังที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ในชีวิตประจำวันขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดขึ้น ขณะนั้นชื่อว่ากำลังละอกุศลเรียกว่า ตทังคประหาน เนื่องจากปัญญาระดับโลกุตรปัญญาจะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยการสะสม อบรมสติสัมปชัญญะเป็นเวลานานมาก ถ้าขาดการอบรมในชีวิตประจำวัน โลกุตรปัญญาย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นชื่อว่าไม่ประมาท ขณะที่จิตเป็นอกุศลชื่อว่าประมาท เมื่อยังไม่ถึงก็ต้องสะสมอบรมต่อไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่มีหนทางอื่นเลย
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ข้าพเจ้าและญาติกลับบ้านที่ ตจว.ปกติบ้านไม่มีคนอยู่ ปิดไว้เฉยๆ อีกทั้งใกล้ป่าดงดิบด้วย เท่าที่ผ่านมาเคยเห็นแต่คราบของงู (ที่ลอกคราบทิ้งไว้) แต่ไม่เคยเห็นตัวเป็นๆ เราเดินไปมาในบ้านผ่านจุดที่งูขดอยู่ตั้งนานแต่เมื่อไม่เห็นก็ไม่กลัว เมื่อพี่ชายของข้าพเจ้าสังเกตุเห็น เขาตัดสินใจบอกว่ามีงู เมื่อมองไปตอนแรกคิดว่าเป็นกองอะไรสักอย่างสีดำๆ เหลืองๆ แต่พอมองชัดๆ ก็ทราบว่านั่นคือ งูปล้องทองโตเต็มวัย สีดำมะเมื่อม มีเกล็ดเงาวับสลับเส้นสีเหลืองเป็นปล้องๆ จากความรู้สึกเฉยๆ กลายเป็นความกลัว หวั่นไหว หวาดระแวงเมื่อพอคลายความตกใจลงได้บ้างแล้ว เรา (พี่น้อง) ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร จะไล่เองก็ไม่เคยทำ ไม่กล้าจะเรียกคนมาช่วยก็ลังเลว่าเขาจะใช้วิธีแบบสมัยก่อนคือ ฆ่าให้ตายวันนั้นเป็นวันอาสาฬหบูชา ไม่อยากให้มีการฆ่าเกิดขึ้นในบ้านเลยขณะนั้นสังเกตได้ว่า เมตตาไม่เกิดเลยเพราะมีแต่ความกลัวถ้าอยู่ กทม. เรื่องคงไม่ยาก เพราะมี ๑๙๑ แต่ที่นี่เป็นชนบท และ เป็นเวลาค่อนข้างดึกเราตัดสินใจโทรถามญาติ และญาติแนะนำให้แจ้งหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเพิ่งทราบว่ามี บริการ ๒๔ ชม. (มีตั้งแต่หลังเหตุการณ์สึนามิ เมื่อ ๓ ปีก่อน) จึงโล่งใจเพราะเขาบอกว่านโยบาย คือจับงูไปปล่อยในป่าบนเขา นอกชุมชนแต่ในช่วงที่กำลังจับ งูพยายามหนี ข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้าและระลึกถึงคำสอนที่ว่า ในสังสารวัฏฏ์อันยาวไม่มีใครที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกัน
ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่า งูจะไม่ต่อสู้ และจับได้ง่ายๆ และงูไม่ถูกทำร้าย ขณะที่กำลังช่วยกันจับ งูพยายามหนี และดูว่าจะกลัวตายมาก เพราะขณะที่คล้องคอได้และกำลังนำลงในกล่องไม้ มีอุจจาระปัสสาวะของงูเต็มไปหมด (เพิ่งเคยเห็น) รู้สึกโล่งใจที่จบลงอย่างเรียบร้อยไม่มีการฆ่าในช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าสังเกตุว่าความกลัวและความหวังว่างูจะไม่ถูกฆ่าเกิดสลับอยู่ตลอดเวลา และคิดว่า หากงูเลื้อยมาทางข้าพเจ้าจะเกิดอะไรขึ้น? ความรักตัวเองอย่างมาก อาจเกิดการฆ่าได้เสมอ เห็นได้ชัดว่า ขณะนั้นกำลังของเมตตาแทบไม่มีเลย ยกเว้นตอนที่ระลึกได้ถึงความยาวนานของสังสารวัฎฎ์และทราบว่างูนั้นกำลังกลัวตายมาก พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า พระโสดาบันเท่านั้น ที่เว้นการฆ่าได้เป็นสมุจเฉท
สถานการณ์ พิสูจน์ระดับของปัญญาและบารมีและคำตอบที่ว่า"ขณะที่จิตเป็นอกุศล ชื่อว่าประมาท" และที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "จงยังตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"ลึกซึ้ง และเข้าถึงได้ยาก จนไม่มีอะไรจะเทียบได้เลยค่ะ
ขออนุโมทนาท่านวิทยากร
๑. ขณะที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นประมาทครับ
๒. สติปัฏฐานเป็นอนัตตา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ประมาทเพราะรู้ตามความเป็นจริง แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะ เพราะสติปัฏฐานเกิดแล้วก็ต้องดับไป และเมื่อยังมีอกุศลก็ยังมีเหตุให้ประมาทได้อีก ซึ่งเป็นธรรมดา แต่มั่นคงขึ้นได้ว่าเป็นธรรมะ และธรรมะก็เป็นธรรมดา ถ้าเป็นเรา ก็คือลืมความเป็นธรรมะ ลืมความเป็นธรรมดา เพราะความจริงแล้ว ทั้งหมดเป็นแต่เพียงนามธรรม รูปธรรมเท่านั้นเอง เมื่อเข้าใจ จำได้ ระลึกได้ก็จะอบรมเจริญนามธรรมที่รู ความจริงที่เป็นธรรมดานี้ให้ยิ่งขึ้น จนรู้ชัดจริงๆ ว่าสิ่งนั้นไม่ผิดไปจากความเป็นธรรมดาของตัวมันเองได้เลย ใครก็ไปเปลี่ยนสภาพธรรมะที่กำลังประมาทเพราะความไม่รู้ไม่ได้ แต่เข้าใจขึ้นได้ว่า ทั้งหมดล้วนแต่เป็นธรรมะ ครับ
๓. ปัญญาแก้อกุศลวิบากที่ให้ผลแล้วไม่ได้ แต่ปัญญาสามารถที่จะบรรเทาละคลาย ขจัด ดับ ประหาน อกุศลต่างๆ ที่เกิดกับจิตในขณะนี้ได้ ตามกำลัง ตามลำดับขั้น และถ้าเป็นปัญญาที่รู้อกุศลโดยความเป็นธรรมะจริงๆ จะไม่ เพียงรู้เฉยๆ ครับ จะศึกษาไปจนรู้อย่างชัดเจนขึ้น แล้วก็จะค่อยๆ ละได้ด้วย
แต่ถ้าหากปัญญายังไม่มีกำลัง ก็จะต้องเป็นเราที่อดทนต่อไปครับ จนกว่าจะรู้ว่า ที่อดทนได้ก็เป็นนามธรรม เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นจากการสะสมอบรมกุศลธรรมมาก่อน ถ้าเป็นเราอดทนจะอดทนได้ไม่นาน เพราะไม่ได้เป็นไปกับความเข้าใจในความจริงที่ปรากฏในขณะนั้น แต่ถ้าปัญญารู้ว่าเป็นธรรมะ ก็จะอดทนได้มากขึ้นในทุกสถานการณ์ครับ เพราะเรื่องของวิบาก ไม่มีใครที่จะสามารถยับยั้งการให้ผลของกรรมได้ ด้วยเหตุที่เคยกระทำมาก่อนนั้นมี อยู่ เพียงแต่รอเวลาที่จะให้ผลเท่านั้น และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ เคยคาดฝันว่าจะเกิด ก็ย่อมจะเป็นเครื่องพิสูจน์กำลังของปัญญาได้ครับ ว่าจะความเข้าใจพระธรรมที่ได้ศึกษามาจะเป็นที่พึ่งได้เพียงใด
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ความไม่ประมาท หมายถึงการไม่อยู่ปราศจากสติ นั่นคือ มีสตินั่นเอง ซึ่งสติเป็นธรรมฝ่ายดีเกิดกับสภาพธรรมที่เป็นกุศล วิบากและกิริยาก็ได้ แต่ควรพิจารณาว่า ความไม่ประมาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้นหมายถึงอะไรซึ่งในข้อความในมหานิเทส และจูฬนิทเทส แสดงความไม่ประมาทคือ ความเพียร ความไม่ย่อหย่อนและความเพียร ทำให้กิเลสเร่าร้อนและการหมั่นประกอบกุศลธรรมเพื่อความเจริญแห่งศีลขันธ์ สมาธิ และปัญญาขันธ์เพื่อหลุดพ้น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความไม่ประมาทต้องเป็นสติที่เกิดกับกุศลธรรมที่เป็นไปเพื่อดับกิเลสคือ สติปัฏฐาน เป็นต้น หากแต่ว่ากุศลประการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ทาน แม้ในศาสนาอื่นก็เกิดได้ แต่ถ้าจะเป็นความไม่ประมาท ในปัจฉิมโอวาทแล้วคือต้องเป็นไปเพื่อดับกิเลสคือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง หากไม่เข้าใจหนทาง แม้จะทำกุศลแต่เป็นไปในวัฏฏะ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๖๖
[๑๔๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างไร ภิกษุสำรวมจักขุนทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรูปทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ภิกษุนั้นมีจิตไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ กายก็สงบ ภิกษุผู้มีกายสงบ ก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ
ภิกษุนั้นก็ถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทแท้จริง ฯลฯ เมื่อภิกษุสำรวมชิวหินทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในรสทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ เมื่อภิกษุสำรวมมนินทรีย์อยู่ จิตก็ไม่แส่ไปในธรรมารมณ์ทั้งหลายที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ ภิกษุมีจิตไม่แส่ไปแล้ว ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ปีติก็เกิด เมื่อใจเกิดปีติ กายก็สงบ ภิกษุผู้มีกายสงบแล้วก็อยู่สบาย จิตของภิกษุผู้มีความสุขก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ธรรมทั้งหลายก็ปรากฏ เพราะธรรมทั้งหลายปรากฏ ภิกษุนั้นถึงความนับว่า เป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยประการฉะนี้
ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ
ขออนุโมทนาทุกท่าน
ขอเรียนถามเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
๑. สติเป็นธรรมฝ่ายดีเกิดกับกุศล รวมกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาด้วยหรือไม่
๒. สติที่เกิดกับจิตชาติวิบาก และชาติกิริยา มีลักษณะอย่างไร จะรออ่านค่ะ
"ความไม่ประมาท คือ การอยู่โดยไม่ปราศจากสติ" จากความเห็นของ แล้วเจอกัน ข้อสรุปที่สั้นๆ แต่ความหมายครอบจักรวาล
อนุโมทนาค่ะ
ตอบความเห็นที่ ๗
๑. สติเกิดร่วมกับกุศลทุกประเภทครับ
๒. สติที่เกิดกับจิตชาติวิบากกระทำกิจตามชาติของจิต มีภวังค์ เป็นต้น
ส่วนสติที่เกิดกับจิตชาติกิริยาเป็นสติของพระอรหันต์
ขออนุโมทนาคุณstudy และท่านอื่นๆ ค่ะ
ขณะที่กุศลจิตเกิดไม่ว่าจะเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย เกิดกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ได้
สติเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต ๙๑ ประเภท สติที่เกิดกับจิตชาติวิบากมีกิจหน้าที่ปฎิสนธิ ภวังค์ และจุติ ส่วนสติที่เกิดกับจิตชาติกิริยาเป็นสติของพระอรหันต์