ด้วยเหตุอย่างไรจึงเรียกว่าการคบหา....

 
Sam
วันที่  23 ก.ค. 2551
หมายเลข  9333
อ่าน  2,236

จากการศึกษาได้พบคำอธิบายลักษณะของ บัณฑิต, สัตบุรุษ และ คนพาล, อสัตบุรุษจึงขอเรียนถามถึงความหมายของคำว่า "คบ" ตามที่ทรงแสดงไว้ในหลายข้อความว่ามีความหมายอย่างไร ด้วยเหตุอย่างไรจึงเรียกว่า "คบ"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 23 ก.ค. 2551

คำว่า "คบ" มีความหมายกว้างพอสมควร คือ ตั้งแต่การเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ฟังเขาพูด พอใจในการคำพูดของเขา และทำตามที่เขาแนะนำ อย่างนี้เรียกว่า"คบ" ในปัจจุบันมีสื่อในรูปแบบต่างๆ ถ้าเราเปิดอ่าน เปิดชม เปิดฟังที่เขาพูดอย่างนี้ก็เรียกว่าการคบเช่นกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 23 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 ก.ค. 2551

คำว่า การคบ ถึงแม้ว่าจะมีพยัญชนะอยู่หลายคำที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็น การคบหา การสมาคม การส้องเสพ การจงรักภักดี การเข้าไปหา การเข้าไปนั่งใกล้ เป็นต้น ก็ตาม ก็เพื่อแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ถ้าเราอยู่กับใคร คลุกคลีกับบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนานๆ การโน้มเอียงไปตามบุคคลนั้น ก็ย่อมสามารถที่จะเป็นไปได้สูง

ถ้าคบคนพาล (คนพาล คือ ผู้ตัดประโยชน์ทั้งในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า, เป็นบุคคลที่คิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว, ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ เป็นต้น) ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่รู้ประโยชน์ของกุศล เป็นผู้ที่ประกอบแต่ทุจริตประการต่างๆ ใครแนะนำดีก็ไม่รับฟัง เป็นต้น ย่อมเป็นทางที่จะนำเราไปสู่ความเสื่อมได้ เพราะจะทำให้เราเหินห่างจากการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และเหินห่างจากการเจริญกุศลประการต่างๆ ด้วย ซึ่งความโน้มเอียงหรือความคล้อยตามย่อมจะเพิ่มขึ้นเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

ถ้าเราคบบัณฑิต (บัณฑิต คือ ผู้ดำเนินไปด้วยปัญญา, เป็นผู้ที่คิดดี ทำดี พูดดี,เห็นโทษโดยความเป็นโทษ เป็นต้น) หรือ สัตบุรุษ (บุคคลผู้สงบ, คนดี) ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้คุณค่าหรือเห็นประโยชน์ของกุศล มีจิตใจประกอบด้วยเมตตาธรรม คอยเกื้อกูลในทางธรรมอยู่เสมอๆ ก็จะส่งเสริมเกื้อหนุนให้เราเป็นผู้เจริญในกุศลธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปได้ ครับ

ดังนั้น การคบ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าคบคนพาล อาจนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเสื่อมได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคบบัณฑิต คบคนดี ก็มีแต่จะนำพาเราไปสู่หนทางแห่งความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ครับ ..

...ขออนุโมทนาครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prakaimuk.k
วันที่ 24 ก.ค. 2551

การมีศรัทธา คบหา เสพย์คุ้นกับสัตบุรุษและผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีลักษณะและให้ผลเป็นประโยชน์สูงสุด ดังพระสูตรกล่าวไว้ว่า....

กุลบุตรเกิดสัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ ย่อมนั่งใกล้

เมื่อนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยหูลง เมื่อเงี่ยหูลง ย่อมฟังธรรม

เมื่อฟังธรรมแล้ว ย่อมทรงธรรมไว้

เมื่อฟังธรรมแล้ว ย่อมพิจารณาแห่งเนื้อความที่ทรงไว้แล้ว

เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนซึ่งความพินิจ

เมื่อธรรมทนความพินิจอยู่ได้ ฉันทะย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ

ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียร

เมื่อมีตนส่งไปแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งชัดซึ่งปรมัตถสัจจะนั้นด้วยกาย

และเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา.

ขออนุโมทนาค่ะ....

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 24 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การคบจึงไม่ได้หมายถึงเพียงแค่พบปะพูดคุยกันทั่วๆ ไป แต่การคบ หมายถึงความยินดีที่จะไปไหนด้วยกันและไปร่วมกัน หรือยินดีที่จะพูดคุยกันและรับฟังสิ่งต่างๆ และมีความยินดีที่ความเห็นอย่างเดียวกัน ย่อมกระทำตามบุคคลนั้น ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับใครเลย แต่ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณา ว่าบุคคลใดควรคบ บุคคลใดควรเว้นที่จะไม่คบแต่อนุเคราะห์ได้ คือไมได้เสพคุ้นแต่ก็อนุเคราะห์ช่วยเหลือได้ ไม่เว้นการมีเมตตาในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีปัญญาเหมือนช่างทำรองเท้า ย่อมรู้ว่าสิ่งใดควรเว้น แล้วแสวงหาสิ่งดีๆ มาทำรองเท้า ย่อมได้รองเท้าที่ดีและมีความสุขจากการขายรองเท้าฉันใด ผู้มีปัญญาย่อมรู้จักเว้นในสิ่งที่ควรเว้น คบหาในสิ่งที่ควรคบหาเพื่อความเจริญในกุศลธรรมประการต่างๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 24 ก.ค. 2551

ด้วยว่า พวกคนพาลอันบุคคลไม่ควรคบ คือไม่ควรเข้านั่งใกล้ก่อนราวกะว่า ทางที่ควรเว้น ต่อจากนั้นก็ควรคบคือ ควรเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตทั้งหลาย ดุจทางที่ควรถือเอา. (ข้อความจากมงคลสูตร) [๒๓] "ข้าแต่พระราชา ก็คนคบชนิดใดๆ เป็นคนสงบหรือไม่สงบ มีศีลหรือไร้ศีลก็ตาม เขาย่อม (ตก) ไปสู่อำนาจของคนชนิดนั้นแล. บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตรและเสพสนิทกับคนเช่นใด, เขาก็เป็นคนเช่นนั้นแล เพราะการอยู่ร่วมกัน ย่อมเป็นเช่นนั้น.

[๓๘๙] ธรรม ๓ อย่างมีอุปการะมากเป็นไฉน. ได้แก่ การคบคนดี การฟังธรรม การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม. ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก. เพราะคบคนดี สัตบุรุษ จึงได้ฟังธรรม แต่ฟังยังไม่พอ ต้องเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ฟังด้วย นี่คือประโยชน์ของพระธรรม

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Sam
วันที่ 25 ก.ค. 2551

ขอบคุณทุกคำตอบครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 25 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 25 ก.ค. 2551

บางคนมีเพื่อนเห็น เพียงแค่รู้จักกัน แต่ไม่สนิทกัน ถ้าเขาเป็นคนพาล เราก็คบเพียง เพื่ออนุเคราะห์ ถ้าอนุเคราะห์ไม่ได้ เราก็ไม่คบ ไม่คลุกคลี่ บางคนมีเพื่อนคบ ถ้าได้ คบกับบัณฑิต มีแต่เจริญ เพราะว่ากัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ajarnkruo
วันที่ 25 ก.ค. 2551

ไม่มีตัวตนที่จะเลือกคบหรือไม่คบใคร ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัยและการสะสมถ้าสะสมธรรมะฝ่ายดีมาย่อมน้อมใจที่จะคบกับคนดี ถ้าสะสมธรรมะฝ่ายไม่ดีมาย่อมโน้มไปที่จะคบกับคนพาลเราเลือกไม่ได้ที่จะต้องพบปะกับใครในชีวิตประจำวัน บางขณะก็ได้โอกาสอันประเสริฐที่ได้พบกับคนดีหรือได้คบกันบัณฑิต บางขณะก็ไม่อาจจะหลีกหนีไปจากการงานที่ต้องสมาคมกับคนพาลแต่ถ้าเข้าใจความจริงก็จะรู้ว่า ธรรมะคบอยู่กับธรรมะทุกๆ ขณะ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 ก.ค. 2551

โบราณาจารย์ท่านว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด (ทางเสื่อมจากกุศลธรรม) คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล (ทางเจริญในกุศลธรรมทุกประการ)

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 ก.ค. 2551

การทราบว่ากัลยาณมิตรเป็นอย่างไรต้องเป็นความเห็นถูก ที่เป็นความเข้าใจจากการศึกษาพระธรรมวินัยและต้องอาศัยการเวลาเพราะจิตมนุษย์นั้นกลับกลอกเปลี่ยนแปลงได้ จึงต้องมั่นคงว่ามิตร คือผู้ที่แนะนำในทางเจริญกุศลทุกประการ การมีมิตรแท้แม้เพียงคนเดียวประเสริฐกว่าการมีมิตรเทียมจำนวนมากและมิตรแท้ที่ไม่ต้องคลางแคลงใจเลยคือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย อันได้แก่พุทธบริษัท ผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนา ด้วยความเห็นถูก. อันตรายที่สุดคืดการคลุกคลีกับความเห็นผิด.

จาก...คนประมาท.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
suwit02
วันที่ 26 ก.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Komsan
วันที่ 2 ส.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 5 เม.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ