วิภวตัณหา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  28 ก.ค. 2551
หมายเลข  9392
อ่าน  8,898

วิภวตัณหา

วิภว (ไม่มีภพ ความเห็นว่าขาดสูญ) + ตณฺหา (ความทะยานอยาก)

ความทะยานอยากไม่มีภพ หมายถึง โลภะที่เจือด้วยอุจเฉททิฏฐิ คือ มีความยินดีพอใจซึ่งเจือด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornpaon
วันที่ 15 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 31 ต.ค. 2551

โปรดอธิบายว่าถ

๑. ความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเจือด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ เป็นวิภวตัณหา หรือไม่

๒. ความยินดีพอใจในการเกิดขึ้นของนามรูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่ ซึ่งเจือด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ เป็นวิภวตัณหา หรือไม่

๓. วิภวตัณหา เกี่ยวข้องกับ อสัญญสัตตาพรหม หรือไม่ อย่างไร

๔. วิภวตัณหา เกี่ยวข้องกับ อรูปพรหม หรือไม่ อย่างไร

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 1 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 2 โดย suwit02 โปรดอธิบายว่า

๑. ความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเจือด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ เป็นวิภวตัณหา หรือไม่

๒. ความยินดีพอใจ ในการเกิดขึ้นของนามรูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่ ซึ่งเจือด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ เป็นวิภวตัณหา หรือไม่

๓. วิภวตัณหา เกี่ยวข้องกับ อสัญญสัตตาพรหม หรือไม่ อย่างไร

๔. วิภวตัณหา เกี่ยวข้องกับ อรูปพรหม หรือไม่ อย่างไร

ขอบพระคุณครับ

๑. ขณะที่ยินดีพอใจในรูป เสียง ... เป็นกามตัณหา เป็นโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะที่ยินดีพอใจในความเห็นว่าขาดสูญขณะนั้นเป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นยินดีในความเห็นผิด ไม่ได้ยินดีในรูป เสียง ...

๒. วิภวตัณหา ต้องเป็นความยินดีพอใจในความเห็นผิดว่าขาดสูญครับ ถ้ายินดีพอใจในการเกิดขึ้นของนามรูป ขณะนั้น ไม่ใช่ยินดีพอใจในความเห็นผิด ไม่ใช่วิภวตัณหาครับ

๓. พรหมที่เห็นโทษในการมีนาม เกิดจากการอบรมฌาน เป็นพรหมที่ไม่มีนามเกิดขึ้นเลย ดังนั้น ต้องเกิดจากอบรมกุศล ส่วนวิภวตัณหาเป็นอกุศลที่เห็นผิดจึงไม่เกี่ยวกันครับ

๔. โดยนัยเดียวกันกับข้อ ๓. ส่วนพรหมที่เป็นปุถุชน ยังมีอนุสัยกิเลสที่ทำให้เกิดความยินดีที่เป็นกามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 1 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตคุณpadermค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 5 พ.ย. 2551

ตามคำตอบในความเห็นที่ 4 นั้นผมยังข้องใจอยู่ ๓ ประเด็น คือ

ก. ตามที่คุณผเดิมตอบมาในข้อ ๓-๔

ผมเห็นด้วยว่า กุศล กับ อกุศล มีสภาพต่างกันเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ว่า กุศล ก็เป็นปัจจัย ให้เกิด อกุศลได้ ตามนัยแห่งกระทู้

ปกตูปนิสสยปัจจัย....กุศล เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิด อกุศล. โดย ปริศนา

เมื่อกล่าวโดยเฉพาะในกระทู้นี้ อภิญญาและสมาบัติ ก็เป็นปัจจัยแก่ความเห็นผิดได้ เช่น ระลึกชาติได้ไม่แจ่มแจ้ง ระลึกย้อนไปได้ไม่ตลอดจะชักพาให้เกิดความเห็นผิดได้ ทั้งนี้โดยเทียบเคียง พรหมชาลสูตร ดังต่อไปนี้

[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 38

๑๗.๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีเทวดาชื่ออสัญญีสัตว์ ก็และเทวดาเหล่านั้น ย่อมจุติจากหมู่นั้นเพราะความเกิดขึ้นแห่งสัญญา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากหมู่นั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อาศัยความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส อาศัยความเพียรที่ตั้งมั่น อาศัยการประกอบเนืองๆ อาศัยความไม่ประมาท อาศัยมนสิการโดยชอบ แล้วสัมผัสเจโตสมาธิอันเป็นเครื่องให้จิตตั้งมั่น ย่อมระลึกถึงความเกิดขึ้นแห่งสัญญาได้ เกินกว่านั้นไประลึกไม่ได้. เขากล่าวอย่างนี้ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ . ข้อนั้นเพราะเหตุไร. เพราะเมื่อก่อนข้าพเจ้าไม่ได้มีแล้ว เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้านั้นก็ไม่มี จึงน้อมไปเพื่อความเป็นผู้สงบ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นฐานะที่ ๑ ที่สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง อาศัยแล้ว ปรารภแล้ว มีความเห็นว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ย่อมบัญญัติอัตตาและโลก ว่าเกิดขึ้นลอยๆ .

๕๗. ๗ สมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวกะสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านกล่าวถึงนั้น มีอยู่จริง ข้าพเจ้ามิได้กล่าวว่าไม่มี ท่านผู้เจริญ แต่อัตตานี้มิได้ขาดสูญอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ท่านผู้เจริญ ยังมีอัตตาอย่างอื่นที่เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีอารมณ์ว่า นั่นละเอียด นั่นประณีต เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง ซึ่งท่านไม่รู้ไม่เห็น ข้าพเจ้ารู้ ข้าพเจ้าเห็นอัตตานั้น ท่านผู้เจริญ เพราะกายแตก อัตตานั้นแลย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี ฉะนั้นหลังแต่ความตาย ท่านผู้เจริญ อัตตานี้จึงเป็นอันขาดสูญอย่างเด็ดขาด. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความไม่มีของสัตว์ที่มีอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

... สมณพราหมณ์เหล่าใด กำหนดขันธ์ส่วนอดีตก็ดี กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดี กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคตก็ดี มีความเห็นตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต กล่าวคำแสดงวาทะหลายชนิด ด้วยวัตถุ ๖๒ นีัแล. ... สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดถูกต้องแล้วถูกต้องเล่าด้วยผัสสายตนะทั้ง ๖ ย่อมเสวยเวทนา เพราะเวทนาของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส.

ตามคำถาม ข้อ ๓-๔ ของผม นั้นผมอยากให้วิทยากรอธิบายว่า ท่านที่ได้อภิญญา สมาบัติเหล่านั้นหลงเข้าไปใน ภวตัณหา กับ วิภวตัณหาได้หรือไม่อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
suwit02
วันที่ 5 พ.ย. 2551

ข. ตามคำตอบในข้อ ๑-๒ นั้น วิภวตัณหา คือความยินดีพอใจ ติดข้องในความเห็นผิด แต่ผมเข้าใจว่าวิภวตัณหานั้นมีความหมายกว้างกว่านั้น คือเป็นความยินดีพอใจ ติดข้องในรูป เสียง ... ธรรมารมณ์ใดๆ ก็ได้ (ซึ่งความเห็นผิดนั้นเองก็เป็นธรรมารมณ์ชนิดหนึ่ง) พร้อมกับมีอุจเฉททิฏฐิ ใน รูป เสียง ... ธรรมารมณ์นั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ ตามนัย

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 536

บรรดาตัณหา ๖ เหล่านั้น พึงทราบอรรถแห่งคำโดยนัยนี้ว่า รูเป ตณฺหา รูปตณฺหา ตัณหาในรูป ชื่อว่า รูปตัณหา ดังนี้.

ว่าด้วยตัณหา ๑๘ อย่าง

ก็แล บรรดาตัณหาเหล่านั้น ตัณหาแต่ละอย่าง ตรัสไว้ ๓ อย่างนี้ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตามอาการที่เป็นไป จริงอยู่ ในกาลใดรูปตัณหาแหละยินดีรูปารมณ์ที่มาสู่คลองจักษุด้วยอำนาจความยินดีในกามเป็นไป ในกาลนั้นชื่อว่า กามตัณหา ในกาลใดรูปตัณหาเป็นไปพร้อมกับทิฏฐิที่เป็นไปว่า รูปารมณ์นั้นนั่นแหละเที่ยง ยั่งยืน ดังนี้ ในกาลนั้นชื่อว่าภวตัณหาเพราะราคะเกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า ภวตัณหา แต่ในกาลใด รูปตัณหานั้นเป็นพร้อมกับอุจเฉททิฏฐิที่เป็นไปว่า รูปารมณ์นั้นนั่นแหละขาดสูญ ย่อมพินาศ ดังนี้ ในกาลนั้น ชื่อว่า วิภวตัณหา เพราะราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ ตรัสเรียกว่า วิภวตัณหา. แม้ในสัททตัณหาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ตัณหาเหล่านี้ จึงรวมเป็น ๑๘.

ตัณหาเหล่านั้นในรูปภายในเป็นต้นมี ๑๘ อย่าง ในภายนอกมี ๑๘ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงเป็น ตัณหา ๓๖ อย่าง ตัณหาเหล่านั้นเป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ รวม ตัณหา ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้.

อนึ่งในอภิธรรม ที่จำแนกจิตเป็นประเภทต่างๆ ก็มี โลภมูลจิต ชนิดที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ไม่ได้จำกัดว่าโลภะเช่นนั้นจะต้องมีความเห็นผิดเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว (คือติดข้องในอารมณ์ใดๆ ก็ได้พระนิพพาน)

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
suwit02
วันที่ 5 พ.ย. 2551

ค. คำนิยามที่ดูคล้ายจะกลืนกัน ทับซ้อนกัน ของ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา (ถ้าอรรถกถาจารย์ ไม่กล่าวห้ามไว้ อาจกล่าวได้ว่า ภวตัณหา และวิภวตัณหาเป็นซับเซทของ กามตัณหา)

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 293

อีกนัยหนึ่ง ยกเว้นตัณหา ๒ อย่างหลัง (คือภวตัณหา และวิภวตัณหา) ตัณหาที่เหลือ ชื่อว่า กามตัณหา. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า "บรรดาตัณหาเหล่านั้น ภวตัณหาคืออะไร คือราคะ ที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ. สาราคะ (ความกำหนัดจัด) ฯลฯ สาราคะแห่งจิตนี้ เรียกว่า ภวตัณหา. บรรดาตัณหาเหล่านั้น วิภวตัณหาคืออะไร คือราคะที่ประกอบด้วย อุจเฉททิฏฐิ. สาราคะ ฯลฯ สาราคะแห่งจิตนี้เรียกว่า วิภวตัณหา".

ผมเข้าใจว่า หากกามตัณหา ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิแล้วก็จัดเป็นภวตัณหา และหากหากกามตัณหา ประกอบด้วย อุจเฉททิฏฐิ แล้วก็จัดเป็น วิภวตัณหา ดังนี้ จะผิดถูกอย่างไร โปรดให้ความอนุเคราะห์ด้วย

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 7 พ.ย. 2551

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท โลภะที่ติดข้องในกามที่ดับไป ก็อาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้ คืออาศัยกามตัณหาที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ดับไปเป็นที่ตั้งให้เกิดการดำริผิด มีความคิดเห็นที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม โดยนัยของอุปนิสสยปัจจัย และยังมีนัยอื่นๆ โดยปัจจัยอื่นๆ อีกครับ

ขอเชิญอ่านข้อความโดยตรงครับ ...

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 544

ก็ในอุปาทาน ๔ ที่ทรงแสดงไว้ในนิเทศนี้ ด้วยอาการอย่างนี้ กามตัณหาย่อมเป็นปัจจัยอย่างเดียว ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย แก่กามุปาทานแรกเพราะเกิดในอารมณ์ทั้งหลายที่พอใจด้วยตัณหา แต่ตัณหานั้น ย่อมเป็นปัจจัย ๗ อย่าง ด้วยอำนาจสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย และเหตุปัจจัย หรือเป็นปัจจัย ๘ อย่าง พร้อมด้วยอุปนิสสยปัจจัย แก่อุปาทาน ๓ ที่เหลือ อนึ่ง เมื่อใดตัณหานั้นเป็นปัจจัย ด้วยอำนาจอุปนิสสยปัจจัย เมื่อนั้นตัณหานั้น ย่อมเกิดพร้อมกันทีเดียว.

นิเทศอุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
suwit02
วันที่ 7 พ.ย. 2551

ขอบพระคุณครูโอครับ แต่ว่า คงอีกนานกว่าผมจะเข้าใจปัจจัย ๒๔ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kulwilai
วันที่ 11 พ.ย. 2551

ตัณหาเป็นความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ และธรรมอื่นๆ ที่เป็นที่ตั้งของ ความยินดีพอใจ (วัตถุกาม) เว้นโลกุตตรธรรม ๙ โดยปรมัตถธรรมคือโลภเจตสิก เมื่อเกิดขึ้น ต้องเกิดพร้อมกับจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่ประกอบ มีความยินดีในรูป เป็นต้น โดยไม่มีความเห็นผิด (ทิฏฐิเจตสิก) เกิดร่วมด้วยหรือมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะที่มีความยินดีในรูปที่ปรากฏทางตาโดยไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเป็นกาม ตัณหา ขณะที่มีความยินดีในรูปที่ปรากฏทางตาพร้อมกับมีความเห็นผิดในรูปนั้นว่าเที่ยงและยั่งยืน เป็นภวตัณหา แต่ขณะที่มีความยินดีในรูปที่ปรากฏทางตาพร้อมกับมีความเห็นในรูปนั้นว่าขาดสูญ เป็นวิภวตัณหา ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน มีกามตัณหา หรือภวตัณหา หรือวิภวตัณหามากกว่ากัน เพียงยินดีติดข้องในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เป็นต้น เท่านั้น หรือมีความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริงเกิดร่วมด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 11 พ.ย. 2551

เรียน อ.กุลวิไล

ดังนั้น ชีวิตประจำวัน มีกามตัณหา หรือภวตัณหา หรือวิภวตัณหา มากกว่ากัน เพียงยินดีติดข้องใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ เป็นต้น เท่านั้น หรือมีความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริงเกิดร่วมด้วย เที่ยง ยั่งยืน เป็นของเราบ้าง ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน ผมจึงทั้งยินดี ติดข้องในขันธ์ ๕ และยังเห็นผิดจากความเป็นจริงอีกด้วย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
kulwilai
วันที่ 12 พ.ย. 2551

ในชีวิตประจำวัน บ่อยหรือเปล่าที่มีความคิดเห็นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเที่ยง ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่ขณะใดที่เพียงยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก ทางลิ้น เป็นต้น ก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่เป็นพระโสดาบันก็ยังมีความเห็นผิด ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงจะไม่รู้ว่าแม้ความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็มีและไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็มี จนกว่าเป็นปัญญาที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง จนดับความเห็นผิดได้ แต่ปัญญาก็มีหลายระดับขั้น ปัญญาขั้นฟังก็ไม่ใช่ขั้นที่พิจารณาศึกษาลักษณะธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือความยินดีพอใจในเสียงที่ปรากฏทางหู ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะ ถ้าไม่รู้ขณะที่ปรากฏก็หมดไป

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
suwit02
วันที่ 13 พ.ย. 2551

เรียน อ.กุลวิไล

ก่อนผมจะเข้าเว็บบ้านธัมมะนี้ ผมไม่มีฉันทะในการศึกษาพระอภิธรรมเลย เพราะผม เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว ยากลึกซึ้งไม่เหมาะกับอัธยาศัยของผม เพียงได้ยินชื่อจิต เจตสิก รูป ผมก็ง่วงนอนแล้ว หลังจากที่ผมเข้ามาในเว็บนี้ กัลยาณมิตรหลายท่าน เช่น อ.ประเชิญ คุณคำปั่น ครูโอ คุณผเดิม เป็นต้น ได้กรุณาชี้ให้ผมเห็นว่า อภิธรรม ปรมัตถธรรม เกิดขึ้นเฉพาะหน้านี้เอง และแม้ว่าจะยากลึกซึ้งรู้ได้ยาก เห็นตามได้ยาก แต่หากใส่ใจศึกษา จะได้วิริยะทำไปโดยปราศจากฉันทะ คำแนะนำท้วงติง ของ อ.กุล ในความเห็นที่ 13 ทำให้ผมเกิดฉันทะในการศึกษาพระอภิธรรม เป็นครั้งแรก (เพื่อสนองความใคร่รู้ มิใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส) ผมทราบดีว่า หากสอบถามกัลยาณมิตรไปคำหนึ่งว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุต เป็นอย่างไร อุจเฉททิฏฐิต่างกับความเห็นว่านิพพานเป็นสุญญตาอย่างไร ก็คงได้รับคำตอบได้โดยง่ายไม่เคยมีมาก่อน ผมจึงอยากศึกษา ๒ คำนี้ด้วยตนเอง แล้วนำผลการศึกษามาสอบถามกัลยาณมิตรต่อไป โดยผมหวังผลเช่นเดียวกับการศึกษาพระสูตร คือยิ่งเปิดอ่านก็ยิ่งเกิดฉันทะในการศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป (และบางทีอาจทำให้ผมเกิดฉันทะในการศึกษาอภิธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้าไปด้วยก็เป็นได้) จะง่วงหลับหรือไม่ จะรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

ขอขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
พล.ต.อินทวัชร ลี้จินดา
วันที่ 7 ธ.ค. 2565

สาธุครับ ฯ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ