วิริยารัมภกถา
วิริยารัมภกถา
วิริย (ความเพียร) +อารมฺภ (การปรารภ การเริ่มต้น) +กถา (คำพูด)
คำพูดที่ทำให้เกิดการปรารภความเพียร หมายถึง พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยของพระสูตร เป็นปุคคลาธิษฐาน คือ มีสัตว์บุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น"คนดีควรดูหมิ่นอายุนั้นเสีย ควรประพฤติดุจคนที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะฉะนั้น" หรือ"พึงทำความเพียรในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั่นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ"
การแสดงธรรมเช่นนี้ เป็นปัจจัยให้ผู้ฟังที่มีศรัทธาเกิดความน้อมใจไป เพื่อการปรารภความเพียร แต่ถ้าฟังไม่เข้าใจพระอภิธรรมซึ่งแสดงว่า "สภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา" ก็จะมีความจงใจ ความตั้งใจ ด้วยความเป็นตัวตนที่จะเพียร หรือเมื่อความเพียรย่อหย่อน ไม่ได้ดังใจที่หวัง ก็เกิดความเดือดร้อน ซึ่งไม่ใช่แนวทางหรือข้อปฏิบัติที่พระผู้พระภาคทรงประสงค์ สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจมั่นคงว่า "สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา"
เมื่อได้ฟังกถาปรารภความเพียร อาจเป็นปัจจัยให้เกิดความเพียร หรือไม่เกิดก็ได้ตามแต่เหตุปัจจัย ซึ่งผู้นั้นไม่เข้าใจผิด แล้วรู้ว่าความเพียรก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และความเพียรที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เพียรอย่างอื่น นอกจากการระลึกศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้สติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่เดือดร้อน แต่เห็นประโยชน์ของกุศลทุกขั้น และเห็นโทษของอกุศลทุกชนิด ซึ่งก็แล้วแต่กุศลจิต หรืออกุศลจิตจะเกิดตามเหตุปัจจัย