อรรถว่า - ไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
ข้อความบางตอนจากการถอดเทปวิทยุ
โดย คุณสงวน สุจริตกุล.
คุณทรงเกียรติ ตามที่ได้ศึกษามา เรื่องสติสังวร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเห็นแล้วไม่ให้ติด ไม่ให้ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ ถ้าไปถือเอานิมิต อนุพยัญชนะอกุศลมากมายก็จะเกิดขึ้น หมายความว่า เห็นตึกก็ไม่ให้รู้ว่าเป็นตึก อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่แน่นอนค่ะ นอกจากท่านผู้นั้นจะเข้าใจผิด แล้วหลอกตัวเอง พอเห็นตึก ก็ทำเป็นไม่รู้ว่าเป็นตึก นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่เป็นการหลอกตัวเอง เป็นตัวตนที่พยายามหลอกตัวเอง
คุณทรงเกียรติ แล้วท่านไม่ให้ถือเอา นิมิต อนุพยัญชนะ
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาค สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้ ที่จะบอกใครว่า ไม่ให้ถือในนิมิต อนุพยัญชนะ แต่ผู้ฟังต้องเข้าใจถึงเหตุว่าอบรมเจริญสติอย่างไรจึงจะไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะได้เป็นปัญญา ไม่ใช่ตัวตนที่พยายามจะหลอกตัวเอง แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าจะรู้ชัดแล้วจะเข้าใจในอรรถ ที่ทรงแสดงว่าไม่ถือในนิมิต อนุพยัญชนะไม่ใช่ตัวตนที่ไม่ถือ แต่เป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น แล้วค่อยๆ รู้ในลักษณะ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะละการติดในนิมิต อนุพยัญชนะ
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
ผมเข้าใจว่าเป็นผล เป็นลักษณะที่ปรากฏ น่าจะเป็นผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ ผลสำเร็จที่เป็น Output จากการดำเนินการ แต่เราต้องมี Input มีกระบวนการ อย่างไรขอโทษ ผมเทียบเคียงความเข้าใจ ไม่ใช้กำหนดมรรควิธีขึ้นใหม่ครับ มรรคาปฏิปทา ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว
ขออนุญาต เสริมความเห็นของคุณ "จำแนกไว้ดีจ้ะ" เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
เรื่องของภาษานั้น คลาดเคลื่อนได้ จึงต้องสนทนาธรรมกัน แต่เรื่องราวและภาษาเป็นการสื่อสารให้เข้าใจถึงอรรถ ที่สำคัญคือ "ลักษณะ" ค่ะ ไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไร ไทย จีน ฝรั่ง ต้องเข้าใจ "ลักษณะ" ตามความเป็นจริงค่ะ หากเข้าใจ "ลักษณะ" ที่รู้ได้ขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (เป็นสำคัญ) จะไม่หลงทาง
อนุโมทนาค่ะ
พอเห็นตึก ก็ทำเป็นไม่รู้ว่าเป็นตึก นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่เป็นการหลอกตัวเอง เป็นตัวตนที่พยายามหลอกตัวเอง แต่การอบรมเจริญปัญญานั้น เป็นการอบรมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ขณะเห็นเกิดขึ้นนั้น สิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ตึก การเห็นว่าเป็นตึกก็เป็นการคิดนึกไปแล้ว แต่ขณะที่คิดก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง จึงควรค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะเห็นเกิดขึ้น สิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และขณะที่เห็นเป็นตึกก็เป็นไปกับเรื่องราว บัญญัติซึ่งไม่มีสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่คิดมีสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ขออนุโมทนาท่านอาจารย์ค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
บังคับไม่ได้หรอกครับที่จะให้ไม่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่พระองค์ทรงมีปัญญารู้ว่าขณะใดเป็นปรมัตถ์ (เป็นสภาพธรรมที่มีจริง) ขณะใดเป็นบัญญัติหรือเรื่องราวที่คิดนึกเป็นสิ่งต่างๆ ดังนั้นการอบรมปัญญาก็คือ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เมื่อปัญญารู้ก็ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะขณะนั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ
เหมือนกับคำว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น ก็ไม่ใช่เห็นแล้วเฉยๆ แต่ก็ต้องมีปัญญารู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเราที่เห็น โดยทำนองเดียวกัน แม้จะเห็นเป็นสิ่งใด ก็รู้ว่าขณะใดเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ขณะใดเป็นธรรมด้วยปัญญา และสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จึงไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะด้วยปัญญา
ขออนุโมทนาด้วยครับ
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
จากแผ่นธรรมะ โสภณธรรม แผ่นที่ ๓
ขณะนี้ทางตาเห็น เป็นสิ่งที่มีจริง กำลังเห็น ถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็จะระลึกศึกษาลักษณะธาตุรู้ที่กำลังเห็นขณะนี้ หรือจะระลึกศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จนรู้ชัด ละการยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อนเป็นบุคคลต่างๆ ที่เนื่องมาจากการคิดนึกสืบต่อทางตา
ซึ่งผลก็คือว่า เมื่อปัญญาเจริญขื้น ก็จะรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงและปัญญาก็จะค่อยๆ โน้มไปสู่การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมะ โดยแยกออกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างไร และหลังจากนั้นคิดนึกเรื่องที่ปรากฏทางตา เป็นรูปร่างสัณฐานอย่างไร เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็จะอยู่กับความคิดเรื่องที่ปรากฏทางตา (หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเพียงชั่วขณะที่เกิดแล้วก็ดับ
ขออนุโมทนาและกราบท่านอาจารย์ค่ะ
สภาพธรรมที่มีจริงมีลักษณะที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เห็นมีจริง เป็นธรรม ได้ยินมีจริง เป็นธรรม
เป็นอันว่า เข้าใจที่สนทนากันนั้น ทุกแง่มุมแล้วนะครับ แต่ผมขอปุจฉาว่า "ที่ว่า เห็น ว่าไม่ใช่ตัวตนนั้น เห็นจริงๆ เลยใช่ไหมครับ ว่าไม่ใช่ตัวตนและที่ว่า เกิด-ดับ นั้น รูป-นาม เกิด-ดับ ให้เห็นเลยใช่ไหมครับ (ผมคิดว่า ผมตั้งปัญหาได้ดีมากๆ แต่ถ้าเป็นการไม่สมควร เพราะระลึกไม่ได้ ผมขออโหสิกรรมด้วยครับ)
ขอร่วมสนทนากับความคิดเห็นที่ 11 ครับ
ที่ว่า เห็น ว่าไม่ใช่ตัวตนนั้น เห็นจริงๆ เลยใช่ไหมว่าไม่ใช่ตัวตน
ลักษณะที่เห็น จริงๆ แล้วไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงเห็น เป็นเพียงขณะจิตหนึ่งเท่านั้น แต่การที่จะรู้ชัดว่า เห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นจิต หรือ สิ่งที่ถูกเห็นไม่ใช่ตัวตน เป็นรูป ต้องรู้ด้วยสติและปัญญาครับ ในขั้นต้น ไม่มีทางที่จะสามารถเห็นชัดเจนได้ทันทีว่า ไม่ใช่ตัวตนเป็นอย่างไร ต้องอาศัยการฟังพระธรรม การสังเกต การพิจารณาต่อไป ด้วยสติที่เกิดขึ้นระลึก แล้วปัญญาศึกษาในสภาพธรรมะที่ปรากฏนั้น โดยไม่ใช่การคิดเรื่องครับ
ที่ว่า เกิด-ดับ นั้น รูป-นาม เกิด-ดับ ให้เห็นเลยใช่ไหม สิ่งที่เกิด-ดับ ได้แก่ รูปธรรมทั้งหมด และนามธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิก รูป-นามใดไม่ปรากฏให้สติระลึก รูป-นาม นั้น เกิดแล้วดับแล้ว ปัญญาในขั้นอบรมขั้นต้นๆ ยังไม่สามารถที่จะรู้ถึงการเกิดดับของรูป-นามได้ เพียงแต่ศึกษาว่า สิ่งนั้นเป็นของจริง เป็นธรรมะ แล้วก็จะค่อยๆ รู้ละเอียดขึ้นตามลำดับครับ เช่น เป็นรูปหรือนาม เป็นกุศลหรืออกุศล มีสติหรือหลงลืมสติ ฯลฯ
ส่วนพระนิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่เกิด จึงไม่ดับ มีเพียงปัญญาขั้นโลกุตตระเท่านั้นที่จะประจักษ์แจ้งในนิพพานได้ครับ
ขออนุโมทนาในคำถามที่เป็นประโยชน์ครับ ...
เรียน คุณ "จำแนกไว้ดีจ้ะ" กรุณาอ่านกระทู้
ระลึกอีก เนืองๆ บ่อยๆ อนุสติ คือบ่อยๆ เนืองๆ !
ซึ่งเป็นการคัดลอกคำบรรยายธรรม ที่สืบต่อจากกระทู้นี้และอธิบายข้อสงสัย เรื่องเหตุให้เกิดผล ไว้ชัดเจน
ลองอ่านดูแล้วสนทนาธรรมกันต่อนะคะ ...
ขออนุโมทนาค่ะ.
(ผมอาจถามแบบผู้ศึกษา เหมือนรู้มาบ้าง แต่ผมไม่แน่ใจ ขออโหสิกรรม ถ้าล่วงเกิน)
ถามว่า จิต ๑๗ ขณะ รู้รูปตามความเป็นจริงอย่างไรครับ เหมือนที่จักขุวิญญาณเห็นรูปไหมครับ (กล่าวคือ เข้าใจว่า การเห็นเกิดที่จิตขณะเดียว คือ จักขุวิญญาณ จิตขณะต่อไปไม่เห็น ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ ขณะ สันตีรณจิต ๑ ขณะ โวฎฐัพพนจิต ๑ ขณะ และ ชวนะ ๗ ขณะนั้น เกิดที่รูปเดียวกัน เห็นรูปเหมือนกันไหมครับ ถ้าไม่เหมือน ก็รูปเดียวกันไม่ใช่หรือ ทำไมไม่เหมือนกัน ถ้าเหมือนกัน คงไม่ใช่เพราะจำแนกไว้ ๑๗ ขณะ)
คำถามต่อไป คือ ที่ว่าสติระลึกนั้น สติเกิดที่ขณะจิตใดครับ
จิต ๑๗ ขณะนี่ ไม่ช้าและไม่รอให้เรามานั่งคิดพิจารณาไปทีละขณะเลยครับ เพราะการเกิด-ดับของจิตนั้น เร็วเกินกว่าที่ใครจะประมาณได้ แต่ถ้าหากจะศึกษา ก็ควรที่จะศึกษาเพื่อให้เห็นถึงพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงพระอภิธรรม ให้สาวกได้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของธรรมะทั้งปวง โดยทรงแสดงความละเอียดมากมายของสภาพธรรมที่เกิดแม้ในหนึ่งขณะจิต พระธรรมที่ทรงแสดงจึงเป็นพระธรรมที่พ้นจากการตรึกของปุถุชนโดยสิ้นเชิง เพราะจะตรึกยังไงก็รู้ไม่ทันขณะจิตที่เกิด-ดับในขณะนี้ได้เลย ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการอบรมภาวนาจนมีกำลังมากเท่านั้นครับ ถึงจะรู้ได้ ซึ่งถ้ายังไม่รู้ ก็จะต้องมีความสงสัยเกิดขึ้นเป็นของธรรมดาครับ ผมจะขอตอบตามความเข้าใจเท่าที่มีนะครับ ผิด-ถูกอย่างไร ขอท่านโปรดพิจารณา ...
๑. จิต ๑๗ ขณะ รู้รูป ตามความเป็นจริงอย่างไร
จิตทั้ง ๑๗ ขณะ เป็นวิถีจิตทางปัญจทวารวิถี ที่มีรูปภายนอกเป็นอารมณ์ รู้รูปโดยความที่รูปนั้นเป็นปรมัตถอารมณ์ คือ อารมณ์ที่มีจริง ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัส
๒. เหมือนที่จักขุวิญญาณเห็นรูปไหม
จักขุวิญญาณ เป็นเพียงจิตดวงเดียวที่ทำทัสสนกิจ คือ กิจเห็น จิตดวงอื่นๆ ไม่ได้ทำกิจเห็น จึงไม่เห็น แต่มีรูป คือ สีนั้นเป็นอารมณ์ได้เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เห็นรูป คือ สีต่างๆ และมีสีต่างๆ เป็นอารมณ์ จิตต่อๆ มาไม่เห็นรูป แต่มีรูป คือสีเหล่านั้นเป็นอารมณ์ได้ ถ้าจะให้ชัดเจน ต้องเข้าใจระหว่าง กิจของจิตแต่ละประเภท กับ สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจิตครับ ไม่อย่างนั้นจะทำให้เราสับสนได้
๓. ที่ว่าสติระลึกนั้น สติเกิดที่ขณะจิตใด
ตามความเป็นจริง สติที่จะระลึกได้ ต้องเกิดที่ชวนจิตครับ แต่ก็ไม่ควรจะไปคำนึงถึงขณะของจิตเลย เพราะขณะนี้กำลังเห็น แล้วก็คิด สลับกันไปมากับทางทวารอื่นๆ อย่างรวดเร็วด้วย ถ้ายังปรากฏพร้อมกันก็แสดงว่า ปัญญายังไม่สมบูรณ์พอที่จะแยกรู้แต่ละขณะจิตทางทวารต่างๆ ได้ครับ ค่อยๆ ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ครับ มั่นคงที่จะไม่ลืมว่า "ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา และสติก็เป็นอนัตตา"
รู้สิ่งที่ "กำลังปรากฏให้รู้ได้ในขณะนี้" ก่อนที่จะรู้ในสิ่งที่เกินกำลังปัญญา ขณะนี้จะรู้ได้ คือ ขณะนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้ ความเข้าใจ ต้องอาศัยการฟังธรรม ความรู้ ต้องอาศัยปัญญาที่เจริญไปตามลำดับด้วยการไม่ขาดการฟัง อ่าน พิจารณา ใคร่ครวญจนกว่าเหตุจะสมควรแก่ผล รู้ในสิ่งที่รู้ได้ ขณะนี้
ถามความเห็นที่ 16
ตามที่ท่านว่า จิตดวงอื่นๆ ไม่ได้ทำกิจเห็น จึงไม่เห็น แต่มีรูปคือสีนั้นเป็นอารมณ์ได้เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณ
ผมขอถามว่า จิตดวงอื่นๆ มีรูปสีเป็นอารมณ์ เหมือนที่จักขุวิญาณมีรูปสีเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่
จิตดวงอื่นๆ มีรูปสีเป็นอารมณ์ เหมือนที่จักขุวิญาณมีรูปสีเป็นอารมณ์ใช่หรือไม่
คำถามนี้ ไม่ทราบว่าท่านหมายถึงจิตดวงใดครับ เพราะมีจิตนั้น มีมากมาย จำแนกออกเป็น ๘๙ ประเภท (หรือ ๑๒๑ ประเภทโดยพิสดาร) ถ้าไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นจิตดวงนี้ ไม่ใช่จิตดวงนี้ ก็ตอบไม่ได้จริงๆ ครับ
จิตทางจักขุทวารครับ ajarnkruo เหมือนที่จักขุวิญาณมีรูปสีเป็นอารมณ์ไหมครับ
จิตทุกประเภทเหมือนกันทั้งหมด คือ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์แต่หน้าที่ของจิต (กิจ) ต่างกันตามประเภทนั้นๆ เช่น จักขุวิญญาณ ทำกิจเห็น จิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณรู้สีเหมือนกัน แต่ทำกิจต่างกัน มีสัมปฏิจฉันนกิจ เป็นต้น
ผมว่ารูปสีที่จักขุวิญญาณเห็นเป็นรูปสีที่มีอายุเท่ากับขณะจิตที่ ๕ สัมปฏิจฉันนจิต รู้รูปสีเป็นรูปที่มีอายุเท่ากับขณะจิตที่ ๖ ชวนจิตรู้สีขณะจิตที่ ๙ - ๑๕ โดยติดข้องรูปสีขณะจิตที่ ๕ โดยไม่รู้เลยว่ารูปชราแล้ว ๙ ขณะจิต และไม่รู้เลยว่าการเห็นที่ว่าสวยนั้นเกิดที่ขณะจิตที่ ๕ เพียงขณะเดียว แล้วดับไปเลย แต่จิตรับอารมณ์ส่งต่อ ทำกิจกันวุ่นวาย การเห็นไม่ใช่เราครับ (ขั้นการศึกษา)
รูปๆ หนึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต ขอยกตัวอย่างวาระหนึ่งๆ ที่เห็นเป็นจักขุทวารวิถี
วาระ คือ วิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันโดยรู้อารมณ์เดียวกันและทางทวารเดียวกัน
ขณะที่รูปารมณ์ (รูปสี) เกิดขึ้น
กระทบทวารและกระทบอตีตภวังค์ ซึ่งเป็นขณะจิตที่ ๑
ภวังคจรนะเป็นขณะจิตที่ ๒
ภวังคุปัจเฉทะเป็นขณะจิตที่ ๓
จักขุทวาราวัชชนะเป็นขณะจิตที่ ๔
จักขุวิญญาณเป็นขณะจิตที่ ๕
สัมปฏิจฉันนะเป็นขณะจิตที่ ๖
สันตีรณะเป็นขณะจิตที่ ๗
โวฏฐัพพนะเป็นขณะจิตที่ ๘
ชวนะที่ ๑ เป็นขณะจิตที่ ๙ จนถึงชวนะที่ ๗ ก็เป็นขณะจิตที่ ๑๕ ตทาลัมมพนะที่ ๑ เป็นขณะจิตที่ ๑๖ ตทาลัมพนะที่ ๒ เป็นขณะจิตที่ ๑๗ รวมเป็นอายุของรูปที่เกิดตั้งแต่อตีตภวังคจิตถึงตทาลัมพนจิต มีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะพอดี แต่ทางจักขุทวารนั้นมีวิถีจิต ๗ วิถี ได้แก่ จักขุทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิตและตทาลัมมนจิต วิถีจิตทั้ง ๗ วิถีซึ่งเกิดดับสืบต่อกันทางจักขุทวารนั้น รู้อารมณ์เดียวกันคือมีรูปสีเป็นอารมณ์
ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ
จักขุทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ก่อน ที่ตาจะเห็น ก่อนที่จะพิจารณา ตัดสินอารมณ์อาวัชชนจิตรับผลของกรรมก่อนด้วยไหม ถ้าอารมณ์อ่อนภวังค์ไม่ไหว ก็ไม่ต้องรับผลของกรรมเลยหรือ
อาวัชชนะไม่ใช่จิตชาติวิบากครับ ขณะที่เป็นภวังค์ขณะนั้นก็เป็นวิบากเหมือนกัน