ปฐมนาถสูตร - ๐๒ ส.ค. ๒๕๕๑
สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๒ ส.ค. ๒๕๕๑
เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.
๗. ปฐมนาถสูตร
ว่าด้วยธรรมอันกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการ
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๕ หน้าที่ 40
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๕ หน้าที่ 40
๗. ปฐมนาถสูตร
ว่าด้วยธรรมอันกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการ
[๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิด อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย (เพราะ) บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่ง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมในปาฎิโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้สดับมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย คือ ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับอนุสาสนีโดยเคารพดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย คือ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับอนุสาสนีโดยเคารพ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไรทั้งสูงทั้งต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ฯลฯ อาจทำอาจจัดได้นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมอันเป็นที่รัก มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมอันเป็นที่รัก มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่งในวินัยอันยิ่ง นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมการทำที่พึ่ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาตเสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของคนไข้ ตามมีตามได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยของคนไข้ ตามมีตามได้ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ซึ่งสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือประกอบด้วยสติเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกได้ ตามระลึกได้ซึ่งสิ่งที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานได้ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง.
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิดอย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย (เพราะว่า) บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมกระทำที่พึ่ง ๑๐ ประการนี้แล.
จบปฐมนาถสูตรที่ ๗
อรรถกถาปฐมนาถสูตรที่ ๗
ปฐมนาถสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า สนาถา ความว่า มีญาติ คือ มีญาติพวกพ้องมากอยู่. ชนเหล่าใดทำที่พึ่ง เหตุนั้นชนเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ทำที่พึ่ง อธิบายว่า กระทำให้มีที่พึ่ง ที่พำนักแก่ตน. ในบทว่า กลฺยาณมิตฺโต เป็นต้นชื่อว่า มีกัลยาณมิตร ก็เพราะมีมิตรดี ที่สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น ชื่อว่ามีกัลยาณสหาย ก็เพราะชนเหล่านั้นเป็นสหายของเขา เพราะไปร่วมกันในอิริยาบถมียืน นั่งเป็นต้น. ชื่อว่ากัลยาณสัมปวังกะ ก็เพราะเอออวยโอนอ่อนในพวกกัลยาณมิตร ด้วยกายและใจ.
บทว่า สุวโจ โหติ ความว่า ย่อมเป็นผู้ที่เขาพึงว่ากล่าวโดยง่าย ที่เขาพึงสั่งสอนได้ง่าย. บทว่า ขโม ได้แก่ แม้ถูกว่ากล่าวด้วยคำหยาบคาย กักขฬะ ก็ทนได้ ไม่โกรธ. บทว่า ปทกฺขิณคฺคาหีอนุสาสนึ ความว่า ไม่การทำเหมือนบางคน ที่เมื่อถูกท่านโอวาทก็รับเอาข้างซ้าย [ไม่เคารพ] ตอบโต้หรือไม่ฟังเดินไปเสีย รับเอาเบื้องขวา [คือโดยเคารพ] ด้วยกล่าวว่า โอวาทพร่ำสอนเถิดท่าน เมื่อท่านไม่โอวาท คนอื่นใครเล่าจักโอวาท ดังนี้.
บทว่า อุจฺจาวจานิ แปลว่า สูงต่ำ. บทว่า กึกรณียานิได้แก่กิจกรรมที่ถามอย่างนี้ว่า ผมจะทำอะไร แล้วกระทำ. บรรดากิจกรรมสูงต่ำ ชื่อว่า กิจกรรมสูง ได้แก่ กิจกรรม เช่นว่า ทำจีวรย้อมจีวร โบกปูนพระเจดีย์ กิจกรรมที่จะพึงทำในโรงอุโบสถ เรือนพระเจดีย์ และเรือนโพธิ์ อย่างนี้เป็นต้น . ชื่อว่ากิจกรรมต่ำ ได้แก่กิจกรรมเล็กน้อย เช่น ล้างบาตร ทาน้ำมันเป็นต้น .
บทว่า ตตฺรุปายาย ได้แก่อัน ดำเนินไปในกิจกรรมนั้น. บทว่า อลํ กาตุํ แปลว่า เป็นผู้สามารถทำได้เอง. บทว่า อลํ สํวิธาตุํ แปลว่า ผู้สามารถจัดการได้. ภิกษุ ชื่อว่า ธรรมกามะ เพราะมีความรักใคร่ธรรม อธิบายว่าย่อมรักพระไตรปิฎกพุทธวจนะ. บทว่า ปิยสมุทาหาโร ความว่าเมื่อผู้อื่นกล่าวอยู่ ก็ฟังโดยเคารพ ทั้งตัวเองก็ใคร่จะแสดงแก่ผู้อื่น.ในคำว่า อภิธมฺเม อภิวินเย นี้ พึงทราบ ๔ หมวด คือ ธรรมอภิธรรมวินัย อภิวินัย. ใน ๔ หมวดนั้น ชื่อว่า ธรรม ได้แก่พระสุตตันตปิฎก ชื่อว่า อภิธรรม ได้แก่ ปกรณ์ทั้ง ๗. ชื่อว่า วินัย ได้แก่วิภังค์ทั้งสอง [ภิกขุวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์] ชื่อว่า อภิวินัย ได้แก่ขันธกะและบริวาร. อีกนัยหนึ่ง ทั้งสุตตันตปิฎก ทั้งอภิธัมมปิฎก ชื่อว่าธรรมทั้งนั้น. มรรคผล ชื่อว่า อุภิธรรม วินัยปิฎกทั้งสิ้น ชื่อว่า วินัย การทำการระงับกิเลส ชื่อว่า อภิวินัย อธิบายว่า เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างโอฬารในธรรม อภิธรรม วินัย และอภิวินัยนั้นทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถตติยาวิภัตติ. อธิบายว่า เป็นผู้ไม่ทอดธุระ เพื่อต้องการบรรลุธรรมเหล่านั้นเพราะเหตุแห่งกุศลธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔.
จบอรรถกถาปฐมนาถสูตรที่ ๗
สรุป นาถกรณธรรม (นา-ถะ-กะ-ระ-นะ-ทำ)
๑. ภิกษุเป็นผู้มีศีล...
๒. ภิกษุเป็นพหุสุตตะ
๓. ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี
๔. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย
๕. ภิกษุเป็นผู้ขยัน
๖. ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในธรรม
๗. ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร
๘. ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร
๙. ภิกษุเป็นผู้มีสติ
๑๐. ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา