เชิญสนทนา: กิจของอารมณ์ กิจของจิต.

 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่  6 ส.ค. 2551
หมายเลข  9469
อ่าน  1,580

สมมติว่า บุรุษคนหนึ่งนอนคลุมศีรษะที่โคนต้นมะม่วงที่มีผลสุกแล้วหลับไป ขณะนั้นผลมะม่วงสุกผลหนึ่งหลุดจากขั้วหล่นลงพื้นดินเสียงดังเหมือนเสียดสีอยู่ซึ่งช่องหูของเขาเขาตื่นขึ้นด้วยเสียงของมะม่วงนั้นแล้วลืมตาแลดู ในทันทีนั้นจึงเหยียดมือไปหยิบผลมะม่วงบีบ สูดดมกลิ่น แล้วบริโภค.

ในคำอุปมาเหล่านั้น เวลาที่ภวังค์พร้อมเพียงกัน พึงทราบว่าเหมือนเวลาที่บุรุษคนนั้นนอนหลับที่โคนต้นมะม่วงเวลาที่อารมณ์กระทบประสาท เหมือนเวลาที่ผลมะม่วงสุกหลุดจากขั้วตกลงเสียดสีอยู่ซึ่งช่องหู เวลาที่มโนธาตุคือ กิริยายังภวังค์ให้เปลี่ยนไป เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นตื่นขึ้นด้วยเสียงมะม่วงตกเวลาที่จักขุวิญญาณยังทัศนกิจให้สำเร็จ เหมือนเวลาบุรุษนั้นลืมตาขึ้นแลดูเวลาที่มโนธาตุซึ่งเป็นวิบากรับอารมณ์ เหมือนเวลาที่บุรุษเหยียดมือไปหยิบผลมะม่วงนั้นเวลาที่มโนวิญญาณธาตุซึ่งเป็นวิบากพิจารณาอารมณ์ เหมือนเวลาที่บุรุษหยิบมะม่วงมาบีบเวลาที่มโนวิญญาณธาตุซึ่งเป็นกิริยากำหนดอารมณ์ เหมือนเวลาสูดดมกลิ่นมะม่วง เวลาที่ชวนจิตเสวยรสอารมณ์ เหมือนเวลาบุรุษนั้น บริโภคมะม่วง ฉะนั้น.

ถามว่า อุปมานี้แสดงเนื้อความอะไร

ตอบว่า แสดงถึงการกระทบประสาทเป็นกิจ * (หน้าที่) ของอารมณ์เท่านั้น คือเมื่ออารมณ์นั้นมากระทบประสาทแล้วการเปลี่ยนไปแห่งภวังค์นั้นเป็นกิจของกิริยามโนธาตุ กิจของจักขุวิญญาณมีเพียงการเห็นเท่านั้น กิจของวิบากมโนธาตุมีเพียงการรับอารมณ์เท่านั้น กิจของวิบากมโนวิญญาณธาตุมีเพียงการพิจารณาอารมณ์เท่านั้น กิจของกิริยามโนธาตุมีเพียงกำหนดอารมณ์เท่านั้น ชวนะเท่านั้นย่อมเสวยรสอารมณ์อย่างเดียว ดังนี้

* ท่านแสดงกิจทั้งหมดมี ๑๔ ที่นี่แสดงไว้ ๘ คือ ๑. การกระทบประสาทเป็นกิจของอารมณ์ ๒. การรำพึงถึงอารมณ์เป็นกิจของอาวัชชนะ ๓. การเห็นเป็นกิจของจักขุวิญญาณ ๔. การรับอารมณ์เป็นกิจของสัมปฏิจฉันนะ ๕. การพิจารณาเป็นกิจของสันติรณะ ๖. การตัดสินอารมณ์เป็นกิจของโวฏฐัพพนะ ๗. การเสวยรสอารมณ์เป็นกิจของชวนะ ๘. การเสวยรส อารมณ์ที่เหลือจากชวนะเป็นกิจของตทารัมมณะ

(พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘๐)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ขอเปิดประเด็นครับ "เมื่อกิจของอารมณ์มีอยู่ดังนี้ ก็อารมณ์กระทบบุคคลทั่วไปอยู่นั้นเป็นผลกรรมของทุกคนหรือ"

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 6 ส.ค. 2551

อารมณ์ไม่ใช่ผลของกรรม แต่จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เป็นผลของกรรม (จิตชาติวิบาก) ความจริงแล้วสัตว์บุคคลไม่มี แต่วิบากจิตเป็นผลของกรรม โดยสมมติโวหาร เรียกว่า คนเห็น สัตว์เห็น เทวดาหรือพรหมเห็น แต่จิตเห็นเป็นจิต ไม่ใช่คนสัตว์เทวดาหรือพรหม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ส.ค. 2551

เรื่องวิถีจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมากค่ะ ในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ อธิบายไว้ละเอียดมากค่ะ กรุณาอ่านดูก่อนนะคะ หากยังมีข้อสงสัยประเด็นต่างๆ แล้วค่อยมาสนทนากับท่านที่แตกฉานปริยัติ ถ้าไม่มีหนังสือ ก็ลองโทรขอกับ ทาง มศพ. ค่ะ ๐๒ ๔๖๘๐๒๓๙

ขออนุโมทนาค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sam
วันที่ 6 ส.ค. 2551

จิต เจตสิก รูป นิพพาน รวมทั้งบัญญัติ เป็นอารมณ์ได้ โดยเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้ มิใช่เป็นอารมณ์ของสัตว์ บุคคล ตัวตน อันเป็นสมมติบัญญัติ

ขณะที่จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นคืออารมณ์ของจิตและเจตสิกนั้น อารมณ์เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ควรศึกษาเรื่องอารมณ์ของวิถีจิต (และเจตสิก) ทั้งหกทวาร รวมทั้งของจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตด้วย จึงจะทำให้เข้าใจเรื่องอารมณ์มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก คือ พระธรรมที่ทรงแสดง คือสิ่งที่กำลังมีอยู่จริงๆ ในขณะนี้เอง ดังนั้น สิ่งที่ควรศึกษาและควรรู้ยิ่ง คือขณะนี้มีอารมณ์หรือไม่ อะไรกำลังเป็นอารมณ์ และอารมณ์ในขณะนี้มีลักษณะอย่างไร

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Pararawee
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ยอดเยี่ยมมากค่ะ กระทู้ดีมากๆ

อนุโมทนาทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 6 ส.ค. 2551

ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่า รู้แจ้งอารมณ์ อารมณ์ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกายนั้นเป็นรูปธรรม อารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่ถูกจิตรู้ เช่น สิ่งที่ปรากฎทางตา (รูปสี) เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ อารมณ์จึงไม่ใช่จิตจึงทำกิจไม่ได้ และก็ไม่ใช่ผลของกรรม ผลของกรรมได้แก่วิบากจิตเท่านั้น

ส่วนเรื่องกิจของจิตมี ๑๔ กิจ แต่ในคำอุปมาที่นำมาแสดงนั้นมี ๘ กิจเท่านั้น เหลืออีก ๖ กิจ ได้แก่

ปฎิสนธิกิจ คือทำกิจสืบต่อจากจุติจิตในภพก่อนซึ่งก็ผ่านมาแล้ว

สวนกิจ คือกิจได้ยิน

ฆายนกิจ คือ กิจได้กลิ่น

สายนกิจ คือ กิจลิ้มรส

ผุสสนกิจ คือ กิจรู้อารมณ์ที่กระทบกาย

จุติกิจ คือ กิจเคลื่อนจากภพชาติก็คือตาย

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
suwit02
วันที่ 6 ส.ค. 2551

สิ่งสำคัญที่ควรตระหนัก คือ พระธรรมที่ทรงแสดงคือสิ่งที่กำลังมีอยู่จริงๆ ในขณะนี้เอง ดังนั้น สิ่งที่ควรศึกษาและควรรู้ยิ่ง คือ ขณะนี้มีอารมณ์หรือไม่ อะไรกำลังเป็น อารมณ์ และอารมณ์ในขณะนี้มีลักษณะอย่างไร

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 6 ส.ค. 2551

เริ่มจากฟังให้เข้าใจก่อนครับจนมั่นคงว่าธรรมคืออะไร ไม่งั้นจะเพลินไป และหลงลืมจุดประสงค์ว่าเพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
choonj
วันที่ 7 ส.ค. 2551

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ได้ เมื่อได้รับอารมณ์ก็ชวนให้คิดว่า อารมณ์นี้น่าจะเป็นผลของกรรม แต่อารมณ์เป็นสิ่งที่ถูกรู้ ไม่สามารถรู้เองได้ และเป็นกุศลอกุศลได้ จิตและเจตสิกต่างหากที่รู้และที่เกิดเพราะอารมณ์นั้นเป็นกุศลอกุศลได้ จึงเรียกว่า วิบากจิต เป็นผลของกรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 7 ส.ค. 2551

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตรู้ หรือสิ่งที่ถูกจิตรู้ อารมณ์ มีหลากหลาย โดยประเภทใหญ่ๆ มี ๖ อารมณ์ ได้แก่

รูปารมณ์ (สี)

สัททารมณ์ (เสียง)

คันธารมณ์ (กลิ่น)

รสารมณ์ (รส)

โผฏฐัพพารมณ์ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็งตึง ไหว) และ

ธรรมารมณ์ (สิ่งที่รู้ได้ทางใจ ได้แก่ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน และบัญญัติ)

เมื่อจิตเกิดขึ้นแต่ละขณะ ต้องรู้อารมณ์ไม่มีจิตประเภทใดเลยที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์

การศึกษาปรมัตถธรรมนั้น เป็นการศึกษาสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม มีธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งดูเหมือนไม่ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็ยากแสนยาก เพราะเราคุ้นเคยและสั่งสมอวิชชา (ความไม่รู้) มานานแสนนานนับชาติไม่ถ้วน ซึ่งกว่าจะเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นปัญญาของตนเองนั้น ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการสั่งสมอบรมเจริญ ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ยังหมายรวมถึงในชาติต่อๆ ไปด้วย ศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งสามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลาย ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ได้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ปริศนา
วันที่ 8 ส.ค. 2551

ที่สำคัญระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้หรือยัง ไม่พ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิด ธาตดิน ธาตุลม ธาตุไฟ รู้ได้ ทางกายธาตุน้ำ และบัญญัติ รู้ได้ทางใจ มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

อนุโมทนา.

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ