การต้องสมาคมกับผู้ที่มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
เนื่องจากเคยได้ฟังจากซีดีท่านอาจารย์ ได้กล่าวถึงคำสอนของพระพุทธองค์ถึงเรื่องทำนองนี้ ซึ่งจำได้แต่เพียงข้ออุปมาข้อหนึ่งว่า เหมือนดื่มน้ำในรอยเท้าโค อันที่จริงดูเหมือนจะมีข้ออุปมามากกว่านี้แต่จำไม่ได้ว่าอย่างไร ขอท่านผู้รู้กรุณาให้ข้อมูลเป็นธรรมทานด้วยค่ะ ขอขอบพระคุณ
ที่ท่านยกข้อความมา เป็นข้อความมาจากทุติยอาฆาตวินยสูตร อังคุตตรนิกายปัญจก-นิบาติ ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้แสดงกับภิกษุทั้งหลายเพื่อพิจารณาถึงความดีของผู้อื่นและกรุณาในคนที่ทำไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไป เราย่อมโกรธในบุคคลที่ทำไม่ดี แต่ธรรมะสอนให้ไม่ให้โกรธ สอนให้มีเมตตา ให้มีกรุณาหรืออุเบกขาในทุกคนตามสมควรครับ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 339
๒. ทุติยอาฆาตวินยสูตร ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ในสูตรนี้แสดงให้เห็นถึงการระงับความโกรธความอาฆาตในบุคคลต่างๆ ซึ่งโดยรวม
แล้วให้ไม่ใส่ใจความไม่ดีของบุคคลอื่น แต่ใส่ใจแต่ความดีของเขาที่มี ย่อมสามารถ
ระงับความโกรธ ความอาฆาตได้
ทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนก็ย่อมมีดีและไม่ดีบ้าง ดังนั้นจึงควรเข้าใจความจริง มองในส่วน
ที่ดี ก็ย่อมทำให้จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นได้ และควรพิจารณาว่าแม้ตัวเราเองก็ยังมีดีและ-ไม่ดี จึงควรเห็นใจกันแทนที่จะไม่ชอบคนที่ไม่ดี เพราะความดีเล็กน้อยของเขาก็คือ
กุศล ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ อนุโมทนาในความดี ไม่เลือกบุคคล แม้จะเล็กน้อยก็คือ
ความดีครับ
ข้ออุปมาต่างๆ ในพระสูตรมีดังนี้
1.พึงระงับความอาฆาตในบุคคลที่การกระทำทางกายไม่ดี แต่วาจาดี อุปมาเหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ต้องการผ้า เจอผ้าเก่า เลือกส่วนที่ดี ส่วนที่ดีก็ไม่เอา ฉันใด คนที่กายไม่ดี วาจาดี ก็ใส่ใจแต่ส่วนที่ดีของเขาคือวาจาที่ดี ส่วนกายที่ไม่ดีก็ไม่ใส่ใจ2.พึงระงับความอาฆาตในบุคคลที่กายดี แต่วาจาไม่ดี อุปมาเหมือนสระน้ำที่มีสาหร่ายปกคลุม บุคคลผู้ต้องการน้ำ ก็แหวกสาหร่าย กอบ
ดื่มแต่น้ำ ฉันใด คนที่กายดี แต่วาจาไม่ดี ก็ไม่ใส่ใจถึงวาจาไม่ดีของเขา เหมือนแหวก
สาหร่าย (วาจาไม่ดี) แล้วดื่มน้ำสะอาด (กายดี) คือใส่ใจแต่สิ่งที่ดีคือการกระทำทางกาย
ของเขานั่นเอง ย่อมทำให้ระงับความโกรธในบุคคลนั้นได้
3.พึงระงับความอาฆาตในบุคคลที่กายไม่ดี วาจาไม่ดี แต่ยังได้ความสงบใจบ้าง ได้ ความเลื่อมใสในกาลอันควรบ้าง
หมายความว่าบุคคลนี้กาย วาจา ไม่ดี แต่บางครั้งเพราะอาศัยฟังพระธรรมก็เกิดจิตที่เป็นกุศลบ้างเล็กน้อยบ้าง เช่น เกิดศรัทธา อุปมาเหมือน น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยเท้าโค ถ้าเอามือกอบขึ้นมาหรือใช้ภาชนะตักน้ำ
ก็จะขุ่นได้ ดังนั้นพึงก้มลงดื่มน้ำนั้น ฉันใด คนที่กาย วาจาไม่ดี แต่มีกุศลเกิดบ้างเล็ก-
น้อย กุศลเล็กน้อยนั้นเหมือนน้ำเล็กน้อยในรอยเท้าโค จึงควรใส่ใจในกุศลเล็กน้อยนั้น
ไม่ใส่ใจในกาย วาจาที่ไม่ดีของเขา ก็ย่อมระงับความโกรธ อาฆาตในบุคคลนั้นได้
4.พึงระงับความอาฆาตในบุคลที่กายไม่ดี วาจาไม่ดีและไม่ได้ความสงบใจ
บางบุคคลกาย วาจาไม่ดี และไม่ได้ความสงบใจ เพราะไม่ได้โอกาสฟังพระธรรม ไม่ได้คบสัตบุรุษ อุปมาเหมือนคนที่ป่วยหนัก ต้องเดินทางไกล คนรักษาเขาก็ไม่มีเสบียงก็ไม่มี ทางก็อีกไกล คนที่เห็นก็เกิดสงสารเพราะเขาจะต้องประสบทุกข์หนัก ฉันใด คนที่กาย วาจาไม่ดีและไม่ได้ความสงบใจ ไม่สนใจพระธรรม จึงควรสงสารเขามากกว่าที่จะไปโกรธ เพราะเขาจะต้องประสบทุกข์ในวัฏฏะทีทำสิ่งไม่ดีและต้องอยู่ในวัฏฏะตลอดไป5.พึงระงับความอาฆาตในบุคคลที่กาย วาจาดีและได้ความสงบใจและความเลื่อมใสใน กาลอันควร บางคนกาย วาจาดี และใจก็ดีหรือเกิดกุศลจิตและฟังธรรม แต่ก็ยังมีคนโกรธได้ เช่นพระเทวทัตโกรธพระพุทธเจ้า เป็นต้น แต่ควรพิจารณา ดังอุปมาดังนี้ มีสระน้ำสะอาดคนที่เหนื่อยต้องการน้ำ พบน้ำก็ดื่มและอาบ ฉันใด คนที่กาย วาจาดีและได้ความสงบใจ ก็ควรพิจารณาในส่วนที่ดีของเขาอาจจะเป็นทางกาย วาจาหรือใจของบุคคลนั้น ก็จะไม่โกรธไม่อาฆาตในบุคคลนั้นครับ อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ขอขอบพระคุณ คุณprachern.s มากค่ะ จากการตามไปอ่านในพระไตรปิฎกหมวดดังกล่าวต่อ พอสรุปง่ายๆ ได้ว่า ไม่ใสใจในส่วนไม่ดีของบุคคลอื่น ควรใส่ใจแต่ในส่วนดีของบุคคลนั้น แต่สำหรับผู้ที่ประพฤติทั้งทางกาย วาจา ไม่บริสุทธิ์ และไม่มีความสงบใจ ผู้ต้องสมาคมด้วยต้องมีความเมตตา กรุณาและอุเบกขาต่อบุคคลนั้น เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ และเป็นการฝึกขัดเกลากิเลสของเราด้วย สรุปเช่นนี้จะถูกต้องหรือไม่คะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ถูกต้องครับ คือ บุคคลที่ไม่ดีทั้งกาย วาจา และไม่ได้ความสงบใจ ก็ควรสงสารบุคคล
นั้น ไม่ควรใส่ใจความไม่ดีของบุคคลนั้นครับ จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมก็คือเพื่อ
ขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ใช่ไปจัดการความไม่ดีของคนอื่น แต่ควรมีเมตตา กรุณา
ตามที่คุณกล่าวมา ซึ่งใน (ปฐมอาฆาตวินยสูตร) ก็ให้พิจารณาว่า ควรมีเมตตา กรุณา
อุเบกขาและพิจารณาว่า สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน หรือไม่ใส่นึกถึงบุคคลนั้น ก็เป็นการ
ระงับความโกรธ ความอาฆาตครับ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าเมื่อได้อ่านพระสูตรเหล่านี้
แล้วจะไปทำให้มีเมตตา หรือนึกถึงความดีได้ตามใจชอบ ต้องเป็นความเข้าใจ ธรรมจึง
จะปรุงแต่งให้เป็นไปในทางที่ดี เป็นหน้าที่ของธรรมครับ และการอบรมปัญญาเพื่อดับ
กิเลสนั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะหากพิจารณา แม้ไม่โกรธเขา ก็
เป็นเรา เป็นเขา ยังละความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลไมได้ ปัญญาขั้นแรกจึงต้องละ
ความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ บุคคลก่อนครับ ขออนุโมทนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
แม้โกรธเขา ก็ไม่ใช่เราแม้ไม่โกรธเขา ก็ไม่ใช่เราเพราะไม่มีทั้งเขา และไม่มีทั้งเราเป็นเพียงสภาพของธรรมะแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นทำกิจของตนแล้วดับไป...เท่านั้นเอง...ขออนุโมทนาครับ...
การที่บุคคลประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจนั้น แท้ที่จริง ไม่มีสัตว์ ไม่มี-บุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีบุคคลผู้ประพฤติ แต่เป็นเพราะอกุศลธรรมที่มีกำลังเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น เมื่อพบเห็นบุคคลผู้ประพฤติไม่ดีเช่นนี้ จึงไม่ควรที่จะเพิ่มกิเลสให้กับตนเองด้วยการไปโกรธหรือผูกโกรธเขา แต่ควรที่จะสงสารเขา เพราะเมื่อเขาทำไม่ดี ผลที่ไม่ดีย่อมเกิดขึ้นแก่เขาอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเราด้วยแล้ว ก็ควรที่จะให้คำแนะนำทีดีให้เห็นโทษของอกุศล ให้เห็นคุณประโยชน์ของกุศล ตามกำลังของความเข้าใจ
ฟังพระธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจสภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมนามธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ แล้ว ก็คงจะไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคืองใจอย่างแน่นอน การฟังพระธรรมการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตประจำวัน อย่างยิ่ง ครับ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอขอบพระคุณ คุณpaderm และทุกท่านมากค่ะ แต่ด้วยความเป็นปุถุชนแม้เพียรฟังธรรมก็ระลึกได้ว่าเมตตาเกิดยากมากเมื่อต้องสมาคมกับบุคคลที่กาย วาจา ใจไม่ดี และอกุศลจิตที่คิดเพ่งโทษจะเกิดขึ้นทันที หากสติระลึกได้ความละอายใจจะเกิดขึ้นตามมาว่าอาการที่เกิดนี้ก็อกุศลเช่นกัน แม้จะคนละประเภท ด้วยความนึกคิดเช่นนี้ แม้จะยังไม่ถึงขั้นจะเมตตาได้ แต่ก็หยุดอาการเพ่งโทษได้บ้าง กว่าจะไม่มีเขา ไม่มีเรา คงอีกเนิ่นนานจนไม่อาจจะคิดถึงได้ จากการฟังธรรมและพิจารณาเองตามลำพัง อาการที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น เรียกว่าเป็นสภาพของธรรมะแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นทำกิจของตนแล้วดับไป ใช่หรือไม่คะ
ใช่ครับ ทั้งหมดเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจแล้วก็ดับไป
ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่น่าพิจารณาถึงว่าทุกอย่างเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและ
ดับไป ไม่ควรโกรธครับ เพระเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปเท่านั้นครับ "ทำความเสียหายด้วยธรรมใดและทำในที่ใด ธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดก็ดับไปใน
ขณะนั้นเอง. บัดนี้ใครพึงทำความโกรธแก่ใคร. และใครผิดแก่ใครเพราะธรรมทั้ง
ปวงเป็นอนัตตา พิจารณาดังนี้ควรเพิ่มพูนขันติสัมปทาด้วยประการฉะนี้."
(จริยาปิฎก เล่ม 74 หน้า 609)
ผมว่าปัญหามันอยู่ที่ตัวเราที่สะสมความโกรธไว้มากเท่าใด ทางหนึ่งที่จะรู้ก็ต้องสังคมกับผู้ที่มี กาย วาจา ความสงบ ที่ไม่ดีเอามากๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วสังเกตและวัดดูดูว่าเรามีความโกรธมากน้อยเท่าไร ถ้าโกรธจนสติแตกเลยก็จะรู้ ถ้าสังคมกับพวกเขาได้โดยไม่เดือดร้อนก็สำเร็จ ผมก็มีปัญหานี้เหมือนกันแต่ไม่กล้าทดลองกลัวสติแตก
ขออนุโมทนาครับ
เห็นด้วยกับคุณchoonjค่ะ เมื่อต้องพบเห็นกันอยู่ทุกวันคงต้องคิดว่ากำลังทำแบบทดสอบอยู่ บางทีก็สอบผ่าน แต่ส่วนใหญ่จะสอบตก จึงต้องเพียรฟังพระธรรมเพื่อสะสมเหตุปัจจัยต่อไป
ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น และขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ
ปัญหา คือ เป็นธรรมะแต่ไม่รู้ครับอีกปัญหา คือ ไม่รู้ก็เป็นธรรมะ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าไม่รู้ปัญญาจะรู้ได้ ก็คือรู้ในขณะนี้ครับทดลองก็คือขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกสภาพธรรมะที่มีปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ ใจตามความเป็นจริงด้วยความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน
อย่างไรจึงเรียกว่า สติเกิดขึ้นระลึกสภาพธรรมะที่กำลังปรากฎตามความเป็นจริงด้วยความไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน คะ เนื่องจากดูเหมือนว่า เมื่อรู้ว่าสติเกิด ก็เลยเวลาขณะนั้นมาแล้ว และขณะที่คิดเช่นนั้นก็เป็นตัวตนที่รู้ว่าสติเกิด
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นต้องมีลักษณะของสภาพธรรมให้
รู้และมีปัญญารู้ในขณะนั้นว่าเป็นะรรมไม่ใช่เรา ต่างกับขณะนี้ที่แม้มีสภาพธรรมก็ไม่ได้มี
ลักษณะของสภาพธรรมปรากฎให้สติและปัญญารู้ตามความเป็นจริง และที่สำคัญต้อง
แยกให้ออกว่าขณะที่คิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะ
ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนั้น ดังนั้นสติปัฏฐานจึงต้องมี
ปรมัตถเป็นอารมณ์หมายถึงมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฎให้รู้และขณะนั้นก็มีปัญญา
รู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่าเป็นธรรม แต่ไม่ใช่คิดนึกต่อจากสภาพธรรมที่ปรากฏ
ครับ ที่สำคัญเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติปัฏฐานเกิดจริงๆ ก็จะรู้ความแตกต่างเองว่าขณะนี้
ที่สติไม่เกิดหรือสติเกิดแบบคิดนึกกับขณะที่สติปัฏฐานกิดต่างกันอย่างไร ไม่ต้องห่วง
ฟังไปเรื่อยๆ ครับ ขออนุโมทนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
หากจะกล่าวว่า สติปัฏฐาน เป็นผลของการนึกคิดและพิจารณาตามจากการฟังพระธรรมได้หรือไม่คะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สติปัฏฐานก็เกิดจากการฟังให้เข้าใจถูกเป็นเบื้องต้นก่อน และก็ปัญญาค่อยๆ เจริญ
ขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ จากการเห็นถูกขั้นการฟัง ย่อมทำให้เกิดมีความคิดถูกในเรื่องสติ-
ปัฏฐาน ในเรื่องของสภาพธรรม แต่ที่สำคัญต้องใช้เวลาและไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่จะเลือก
ที่จะทำว่าต้องคิด ต่อไปจึงจะสติจะเกิด เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ตามเหตุ-
ปัจจัยว่าเป็นอย่างไร ฟังต่อไป เป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมสติก็เกิดเอง แต่ต้องใช้เวลานาน ที่นานเพราะสะสมความไม่รู้มามากครับ ขออนุโมทนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์