จดหมายจากท่านผู้ฟัง [10]
จดหมายจากท่านผู้ฟัง 10
เนื้อหาในจดหมายฉบับนี้ ค่อนข้างยาวมาก คลิกเพื่อรับฟังได้ที่นี่ครับ -->
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640
ท่าน อ. สุจินต์ : ขอตอบจดหมายท่านผู้ฟังท่านหนึ่งนะคะ ท่านเขียนมาจาก
โรงงานสุราอยุธยา จดหมายฉบับนี้อ่านยากค่ะ เพราะฉะนั้น ก็จะขออ่านเองนะคะ เพราะเหตุว่า ได้อ่านมาแล้วที่บ้าน
เขียนที่โรงงานสุราอยุธยา
วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๙
เรียนท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพ
กระผมผู้รับฟังการบรรยายแนวทางการเจริญสติปัฏฐานของท่านผู้หนึ่งซึ่งเคยเขียนปัญหามาถามท่านอาจารย์มาบ้าง และใช้นามว่า " ผู้รับฟังทางอยุธยา " เมื่อประมาณ ๓-๔ ปีก่อน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้เขียนมาเลย แต่ถึงกระนั้น กระผมก็ติดตามฟังรายการของท่านตลอดมา ถ้าวันไหนบังเอิญติดธุระไม่สามารถที่จะฟังได้ วันนั้นรู้สึกว่า ชีวิตมันขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง นี้เป็นเรื่องจริง เพราะการฟังรายการของท่าน ได้ทั้งข้อคิดและได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค ซึ่งท่านได้นำมาอ่านออกอากาศให้ฟังและรู้สึกอนุโมทนาในส่วนกุศลของท่านเป็นอย่างยิ่ง
กระผมพยายามที่จะมาหาท่านอาจารย์ด้วยตนเองสักครั้ง แต่ก็ยังไม่มีโอกาส ทั้งนี้เพราะต้องประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัว แต่หวังว่า ถ้ายังมีชีวิตอยู่ คงมีโอกาสมาพบท่านอาจารย์จนได้ ที่กระผมเขียนมาในครั้งนี้นั้นกระผมมีความประสงค์ที่จะสนับสนุนท่านประการหนึ่ง และประการที่สอง ก็ใคร่เสนอความคิดเห็นของกระผม ซึ่งได้จากการฟังท่านอาจารย์ และจากการศึกษาในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับของกรมการศาสนา มาประมาณ ๔ - ๕ ปี
ในประการที่สองนี้ กระผมรู้สึกเกรงใจท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่บังอาจ แต่ก็หวังว่า ท่านอาจารย์คงจะยินดีรับฟัง และหวังว่าข้อคิดเห็นของกระผมนี้ ถ้าผิดพลาดด้วยประการใดๆ ก็ตาม หวังว่าท่านอาจารย์คงให้อภัย
ในประการที่ ๑ ที่ว่า กระผมขอสนับสนุนท่านอาจารย์นั้น ดังนี้ คือในข้อที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอิริยาบถนั้น ข้อนี้เป็นจริงและถูกต้องตรงตามหลักฐานในมหาสติปัฏฐานและสูตรอื่นๆ อีก ซึ่งกระผมจะไม่ขอยกมาอ้างอิง เพราะคิดว่า อาจารย์คงทราบดีแล้วที่ว่าถูกต้อง ตรงตามหลักฐานมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น กระผมพิจารณาจากข้อที่พระองค์ตรัสว่า ยืน เดิน นั่ง นอน เหยียด คู้ และอื่นๆ พึงเป็นผู้มีสติ (เจริญสติได้) ดังนี้เป็นต้น
ข้อพิสูจน์อีกข้อ คือพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตัณหาเมื่อมันเกิด ก็ย่อมเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ ๖ สิ่ง) และอื่นๆ และเมื่อจะละตัณหาก็ละที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้และอื่นๆ (ได้แก่สิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ) นี้แหละ
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง ตัณหา (โลภะ) โทสะ โมหะ มันเกิดขึ้นไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอิริยาบถ ไม่ว่ากลางคืน กลางวัน ไม่ว่าจะเป็นเช้า สายบ่าย เย็น ค่ำหรือไม่ว่าจะเป็นเวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด นุ่งห่ม มันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ทีนี้เมื่อเกิดขึ้นเราไม่ดับเดี๋ยวนั้น แล้วจะไปดับกันเมื่อไร (การเจริญสติปัฏฐานเป็นการดับ) เปรียบเหมือนไฟไหม้บ้านอยู่ (ดังที่คำพูดของท่านผู้ฟังในห้องบรรยายของท่านอาจารย์เคยพูดครั้งหนึ่งนานมาแล้ว) ถ้าเราไม่ดับไฟในขณะที่มันกำลังลุกไหม้อยู่แล้ว จะไปดับเมื่อไร จะรอให้ไฟมันลุกไหม้บ้านหมดไปทั้งหลังหรือ ย่อมไม่เป็นวิสัยและเป็นไปไม่ได้ ผู้ที่รอให้ไฟไหม้บ้านไปเช่นนั้น ถ้าไม่ใช่คนสติเสีย บ้าบอแล้ว คงไม่มีใครทำเช่นนั้นแน่นอนและก็เช่นเดียวกัน ในการเจริญสติปัฏฐานนั้นก็ต้องเจริญในขณะไฟคือ โลภะโทสะ โมหะกำลังลุกไหม้อัตภาพร่างกายและจิตใจอยู่นั่นแหละ จึงจะถูกต้องตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร อิริยาปถบรรพไว้นั้น ความมุ่งหมายก็เพื่อให้เจริญสติทุกๆ อิริยาบถนั้นเอง และเพื่อมิให้ประมาท เพื่อมิให้ละเว้นแม้แต่วินาทีเดียวเท่านั้น มิได้หมายความว่า ให้ไปนั่งเพ่งดูท่านั่ง ดังที่ท่านทั้งหลายผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักปฏิบัติ ซึ่งการกระทำนั้น ถ้าพิจารณาดูแล้ว กระผมเห็นว่าไม่เข้าหลักอะไรเลย จะเป็นสมถะก็ไม่ใช่ เพราะอารมณ์ของสมถะมีอยู่ ๔๐ (แต่การที่ไปนั่งเพ่งดูท่านั่งอย่างนั้นเป็นลักษณะของสมถะ แต่อารมณ์ที่นำมาเพ่งไม่ใช่สมถะ) จะว่าเป็นวิปัสสนาก็ฟังไม่ได้อีก เพราะการเจริญวิปัสสนา ท่านให้แยกรูป แยกนาม ออกเป็นขันธ์ ธาตุอายตนะ อินทรีย์เป็นเหตุเป็นปัจจัย (แต่นี่ปรากฏว่าไปนั่งเพ่งดูความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของท่านั่ง) เมื่อรู้ทัน ในเมื่อโลภะ โทสะ โมหะ ที่มันเกิดขึ้นในขณะที่ตาเห็นรูป ตลอดไปจนถึงใจรู้ธัมมารมณ์ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บางท่านปฏิบัติมาแล้ว (เข้าห้องปฏิบัติ) เป็นสิบๆ ปีก็มี แต่ไม่ได้อะไรเลย ในขณะเข้าห้องปฏิบัติเห็นทุกข์ได้ชัดเจนเหลือเกิน แต่พอออกจากห้องปฏิบัติกลับไม่เห็น ไม่รู้อะไรเลย อย่างนี้ฟังไม่ขึ้นพระอริยเจ้าเมื่อเห็นทุกข์แล้ว กลับไม่เห็นอีก มีหรือ?
บางท่านมีความศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะปฏิบัติธรรมะกับเขาบ้าง แต่ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะห้องไม่ว่าง ไม่มีห้องบ้าง ยังสร้างไม่เสร็จบ้าง บังเอิญตายพอดี เลยอด ที่เป็นเช่นนี้เกิดจากไม่เข้าใจในหลักปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นเอง
เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ กระผมอดที่จะอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ไม่ได้ ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาบรรยายแนวทางการเจริญสติปัฏฐานให้บรรดาพุทธศาสนิกชนบางพวกได้หูตาสว่างขึ้น อย่างน้อยก็กระผมคนหนึ่งที่ได้รับความสว่างจากท่านอาจารย์ กระผมขอสนับสนุนท่านอาจารย์ด้วยหลักธรรมะมาเพียงคร่าวๆ เท่านี้ เพราะถ้าเขียนมากไป เกรงว่าเป็นการรบกวนเวลาของท่านอาจารย์เกินไป ฉะนั้น จึงขอยุติในข้อสนับสนุนท่านอาจารย์แต่เพียงนี้ ในประการที่สองที่ว่า
โปรดรับฟังต่อจาก -->
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 640 นาทีที่ 8.24
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขออนุโมทนา ในกุศลวิริยะจากการให้ธรรมทาน.
(รับฟังได้ชัดดีด้วยค่ะ)
ข้อพิสูจน์อีกข้อ คือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ตัณหาเมื่อมันเกิด ก็ย่อมเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ ๖ สิ่ง) และอื่นๆ และเมื่อจะละตัณหาก็ละที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ และอื่นๆ (ได้แก่สิ่งเป็นที่รักที่ชอบใจ) นี้แหละ
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง ตัณหา (โลภะ) โทสะ โมหะ มันเกิดขึ้นไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอิริยาบถ ไม่ว่ากลางคืน กลางวัน ไม่ว่าจะเป็นเช้า สายบ่าย เย็น ค่ำหรือไม่ว่าจะเป็นเวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด นุ่งห่ม มันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ทีนี้เมื่อเกิดขึ้น เราไม่ดับเดี๋ยวนั้น แล้วจะไปดับกันเมื่อไร (การเจริญสติปัฏฐานเป็นการดับ) เปรียบเหมือนไฟไหม้บ้านอยู่ (ดังที่คำพูดของท่านผู้ฟังในห้องบรรยายของท่านอาจารย์เคยพูดครั้งหนึ่งนานมาแล้ว) ถ้าเราไม่ดับไฟในขณะที่มันกำลังลุกไหม้อยู่แล้ว จะไปดับเมื่อไร จะรอให้ไฟมันลุกไหม้บ้านหมดไปทั้งหลังหรือ ย่อมไม่เป็นวิสัยและเป็นไปไม่ได้
ขออนุโมทนาท่านเจ้าของจดหมาย คุณสารธรรม และผู้เจริญกุศลทุกท่านค่ะ
วันนี้ได้มีโอกาสฟังการบรรยายธรรม ชุดปกิณกธรรมท่านอาจารย์กล่าวว่า (ประมาณว่า)
"เสียงมีอยู่มากมายแต่การได้ยินเสียงพระธรรมเพราะได้กระทำบุญไว้ บางท่านเกิดมาในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนาหรือเกิดเป็นสัตว์ก็ไม่มีโอกาสเข้าใจพระธรรม"
กราบขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่ท่านได้กรุณาบรรยาย แนวทางเจริญวิปัสสนา เพื่อให้ผู้ศึกษาทั้งหลายเข้าใจแนวทางการปฎิบัติธรรมที่ถูกต้องตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
ความยินดีในธรรมะ ชนะความยินดีทั้งปวง
รสแห่งธรรมะ ชนะรสทั้งปวง
ความสิ้นไปแห่งตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง
ขออนุโมทนาค่ะ