ภิกขุ - ผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงดับกิเลสโดยทุกข์ได้สิ้นเชิงผู้ทรงตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ข้อความต่อไปมีว่า ...
คำว่า "ภิกขุ" คือชื่อว่าภิกขุเพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการคือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสราคะ โทสะ โมหะ มานะ ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชราและมรณะต่อไป.
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร สภิยะ)
ภิกษุนั้นบรรลุถึงปรินิพพานแล้ว เพราะธรรมเป็นหนทางที่ตนทำ (ดำเนิน) แล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละแล้วซึ่งความเสื่อมและความเจริญ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีภพใหม่สิ้นแล้ว.
ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณา โดยที่ไม่ผ่านไปเพราะคิดว่าเข้าใจแล้วก็ย่อมจะได้เหตุผลชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ข้อความที่ว่า "ชื่อว่าภิกขุเพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ คือเป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ"
ต้องรู้ว่า ขณะไหนเป็นสักกายทิฏฐิ ขณะที่หลงลืมสติ เห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ละทวารตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถที่จะละสักกายทิฏฐิได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นภิกษุ คือเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการคือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ ไม่ใช่ทำลายเองตามใจชอบ แต่ต้องอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง รู้แจ้งอริยสัจ ๔ จึงจะทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ
"ภิกษุนั้น เป็นผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป" ซึ่งถ้าทำลายกิเลสเหล่านี้ได้ เป็นพระโสดาบัน ก็ย่อมจะนำไปถึงการเป็นพระอรหันตบุคคลในภายหลัง
บรรยายโดย ท่าน อ. สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๘๔๑