ลมหายใจกับความสงบ !
ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความบางตอนจากการถอดเทปวิทยุ โดย คุณสงวน สุจริตกุล ท่านอาจารย์สุจินต์ สนทนาธรรมกับ คุณทรงเกียรติ
คุณทรงเกียรติ อยากจะถามว่า ขณะที่กำลังเป็นตัวตน กำลังทำความสงบอยู่จะเป็นการเดินจงกรมก็ดี นั่งขัดสมาธิก็ดี ขณะนั้นจิตของเขาก็เป็นกุศล เมื่อเป็นกุศล ขณะนั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์ซีครับ
ท่านอาจารย์ ทำยังไงคะ เดินจงกรมแล้วสงบน่ะค่ะ
คุณทรงเกียรติ เดินจงกรม ก็พิจารณาอารมณ์กัมมัฏฐานได้นี่ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ อะไรล่ะคะ
คุณทรงเกียรติ ขณะที่เดิน ขณะนั้นก็พิจารณาอารมณ์กัมมัฏฐาน อารมณ์หนี่งอารมณ์ใด แล้วแต่บุคคล.
ท่านอาจารย์ อะไรล่ะคะ อารมณ์กัมมัฏฐาน อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ก็ยังไม่ได้รู้ว่าอารมณ์อะไร ผิดถูกแค่ไหน ต้องให้ชัดเจน เพราะว่าเป็นเรื่องของความรู้ เป็นเรื่องของปัญญา ที่จะต้องรู้จริงๆ
คุณทรงเกียรติ ขณะที่เดิน ขณะนั้น จะรู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้
ท่านอาจารย์ แล้วรู้ได้อย่างไรว่าสงบ ...?
คุณทรงเกียรติ ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้สิครับ ขณะที่สงบก็ต้องรู้ว่า สงบ ขณะที่ไม่สงบก็ต้องรู้ว่า ไม่สงบ
ท่านอาจารย์ ต้องมีสติสัมปชัญญะ ใช่ไหมคะ ต้องรู้ว่า ปกติธรรมดา ที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ กับในขณะที่ มีลมหายใจเป็นอารมณ์ แล้วสงบนั้นเพราะอะไร ต้องมีเหตุผลค่ะ.
คุณทรงเกียรติ เพราะขณะนั้นมีสติ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ คือ ลมหายใจ
ท่านอาจารย์ สติ หรือ สมาธิ
คุณทรงเกียรติ ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาด้วยครับ.
ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร ในขณะที่ลมหายใจปรากฏ
คุณทรงเกียรติ รู้ลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง
ท่านอาจารย์ แล้วทำไมจึงสงบ
คุณทรงเกียรติ ก็ขณะนั้น ไม่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ มีลมหายใจเป็นอารมณ์ จึงสงบ
ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็น ขณะนี้ มีอไรเป็นอารมณ์บ้างไหมคะ มีโลภะบ้างไหม ขณะที่กำลังเห็น
คุณทรงเกียรติ มีบ้าง ไม่มีบ้าง
ท่านอาจารย์ รู้หรือคะ รู้ว่ามีโลภะ ในขณะที่กำลังเห็นหรือคะ หรือเข้าใจว่ามี แต่ไม่รู้ว่ามี
คุณทรงเกียรติ ครับ เข้าใจว่ามี
ท่านอาจารย์ เวลาที่มีลมหายใจเป็นอารมณ์ เข้าใจว่าสงบ แต่ไม่รู้ว่าสงบ เพราะว่าแม้ในขณะที่กำลังเห็น ก็ไม่รู้ว่ามีโลภะ เพียงแต่เข้าใจว่ามี ฉะนั้น เวลาที่มีลมหายใจจริงๆ เป็นอารมณ์ ก็เข้าใจว่า คงจะสงบทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จริงๆ ว่าสงบหรือเปล่า.
คุณทรงเกียรติ ไม่ใช่ครับ ขณะที่รู้ลมหายใจ กับขณะที่เห็น ไม่เหมือนกันหรอกครับ.
ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไรคะ เพราะว่าการรู้อารมณ์มี ๖ ทาง.
คุณทรงเกียรติ ต่างกันที่ว่า ... มีการใส่ใจ กับ ไม่มีการใส่ใจ.
ท่านอาจารย์ ทางตา มีการเห็น ทางหู มีการได้ยิน ทางจมูก มีการได้กลิ่นทางลิ้น มีการลิ้มรส ทางกายมีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสลมหายใจ ปรากฏทางกาย กระทบช่องจมูก เหมือนกับขณะนี้ล่ะค่ะ เย็นหรือร้อน ปรากฏทางกายกระทบกายปสาทส่วนอื่น เช่น อาจจะเป็นที่แขน ที่หลัง ที่เท้าก็เป็นเพียงสภาพของลม ที่กระทบสัมผัส กับกายปสาท และขณะนี้ ที่ไม่ใช่ลมหายใจ ต่างกับขณะที่จิต รู้ลมหายใจอย่างไร จึงกล่าวว่า ขณะที่รู้ลมหายใจ สงบ และขณะที่ ลมกำลังกระทบสัมผัส กายปสาทส่วนอื่นเช่นหลัง เท้า มือ หน้า แขน เป็นต้น ต่างกันอย่างไร ที่จะรู้ว่า ... ขณะใดสงบ ขณะใดไม่สงบ.
คุณทรงเกียรติ ต่างกันตรงที่ มีการใส่ใจ กับ ไม่มีการใส่ใจ
ท่านอาจารย์ มีการจดจ้องใช่ไหมคะ ที่จะให้ตั้งมั่นอยู่ตรงนั้น.
คุณทรงเกียรติ บางครั้งก็จดจ้อง บางครั้งก็ไม่ได้จดจ้อง
ท่านอาจารย์ ต้องเทียบเคียงนะคะ ลมหายใจ เป็นเพียง รูป ที่กระทบสัมผัสกายปสาท แล้วปรากฏ ในลักษณะที่เย็น ในลักษณะที่ร้อนในลักษณะที่เบา หรือลักษณะที่แรง เช่นเดียวกับลมอื่น ที่กระทบสัมผัสกายปสาทส่วนต่างๆ ของกาย
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ ญาติมิตร ที่ล่วงลับ
สรรพสัตว์ ที่ล่วงรู้ได้อนุโมทนาร่วมกันค่ะ.
การให้ทานต้องมีจิตคิดจะให้เพื่อ
๑. มุ่งอนุเคราะห์
๒. บูชาผู้ที่ควรบูชา
สิ่งที่ควรทำในการให้ คือกิริยาที่มอบให้ควรเรียบร้อย นอบน้อม
ไม่ว่าจะให้ทานสักเท่าใด ทำจิตให้สงบสักเท่าใด แต่กิเลสทั้งหลายก็ไม่หมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงหนทางเดียวที่จะดับกิเลส คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานค่ะ
ความเข้าใจผิดเรื่องการจดจ้องที่ใดที่หนึ่งในอิริยาบถต่างๆ หรือรูปร่างกายนี้ ว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐานมีมากในประเทศไทย แก้ไขยากค่ะ
ก็ใครๆ ก็อยากได้ความสงบ อยากได้ความเป็นพระอริยะกันทั้งนั้น หวังเป็นได้ด้วยทางลัด การเจริญสติปัฏฐานแบบผิดๆ จึงไม่มีวันหมดไป เพราะโลภะ (ความอยากมีอยากได้) เป็นเพื่อนรักเพื่อนสนิทที่คุ้นเคย จึงไม่ค่อยมองเห็นโทษของเพื่อนคนนี้เลยจริงๆ
๑๑๑ ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ ๑๑๑
เด็กๆ เวลาหายใจก็รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก หรือขณะที่ลมกระทบที่แขนก็รู้ว่า เย็น หรือ ร้อน จิตจะสงบได้อย่างไรเพียงรู้แค่นี้ ขณะที่จิตสงบขณะนั้นจิตต้องเป็นกุศล และขณะที่จิตเป็นกุศลขณะนั้นจิตเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะ เย็น ร้อน ของลมหายใจกระทบที่โพรงจมูก หรือขณะที่สติระลึกรู้ เย็น หรือ ร้อนปรากฏที่กายเช่น ที่แขน ที่หลัง ที่เท้า ขณะนั้นจิตสงบ แต่ไม่ใช่ตัวตนไปจดจ้องที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือไปจดจ้องที่เย็นหรือร้อนที่แขน ที่หลัง ที่เท้า เพราะขณะที่เป็นตัวตนเป็นอกุศลจิต เป็นความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนซึ่งเป็นสักกายทิฏิฐิ ขณะนั้นไม่ใช่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง สติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับให้สติเกิดได้ การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้นจึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้
ขออนุโมทนากุศลจิตของทุกท่านค่ะ