อานิสงส์แห่งการจงกรม ๕ ประการ [จังกมสูตร]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ส.ค. 2551
หมายเลข  9631
อ่าน  2,863

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓- หน้าที่ 55

๙. จังกมสูตร ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการจงกรม ๕ ประการ

[๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการจงกรม ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑ ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑ สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรม ย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล.

จบจังกมสูตรที่ ๙

อรรถกถาจังกมสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในจังกมสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อทฺธานกฺขโม โหติ ได้แก่ เมื่อเดินทางไกลก็เดินได้ทน คืออดทนได้. บทว่า ปธานกฺขโม ได้แก่ เพียรได้ทน. บทว่า จงฺกมาธิคโตจ สมาธิ ได้แก่ สมาธิแห่งสมาบัติ ๘ อย่างใดอย่างหนึ่ง อันผู้อธิษฐานจงกรมถึงแล้ว. บทว่า จิรฏฐิติโก โหติ แปลว่า ตั้งอยู่ได้นาน. ด้วยว่านิมิตอันผู้ยืนอยู่ถือเอาเมื่อนั่งก็หายไป นิมิตอันผู้นั่งถือเอาเมื่อนอนก็หายไปส่วนนิมิตอันผู้อธิษฐานจงกรม ถือเอาในอารมณ์ที่หวั่นไหวแล้วเมื่อยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ย่อมไม่หายไป.

จบอรรถกถาจังกมสูตรที่ ๙


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 22 ส.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 29 ส.ค. 2551

นิมิตอันผู้นั่งถือเอาเมื่อนอนก็หายไปส่วนนิมิตอันผู้อธิษฐานจงกรม ถือเอาในอารมณ์ที่หวั่นไหวแล้วเมื่อยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ย่อมไม่หายไป.

ขอความกรุณาท่านวิทยากรช่วยอธิบายข้อความด้านบนด้วยค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ