สัมโพธิสูตร - เหตุเจริญแห่งโพธิปักขิยธรรม - ๐๖ ก.ย. ๒๕๕๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 ก.ย. 2551
หมายเลข  9726
อ่าน  2,283

สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๖ ก.ย. ๒๕๕๑ เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น. คือ

๑. สัมโพธิสูตรว่าด้วยเหตุเจริญแห่งโพธิปักขิยธรรม

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๖๙๗


[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๖๙๗

อังคุตตรนิกาย นวกนิบาตปัณณาสก์สัมโพธวรรคที่ ๑

๑. สัมโพธิสูตรว่าด้วยเหตุเจริญแห่งโพธิปักขิยธรรม

[๒๐๕] ข้าพเจ้าสดับมาอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อะไรเป็นเหตุ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้วพึงพยา-กรณ์แก่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่าอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกพึงถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย อะไรเป็นเหตุให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่อัญญ-เดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตร มีสหายดี มีเพื่อนดี ดูก่อนอาวุโสทั้งหลายนี้เป็นเหตุข้อที่ ๑ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๒ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเห็นปานนี้ อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสัง-สัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุต-ติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๓ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมเพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๔ ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย นี้เป็นเหตุข้อที่ ๕ให้ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้เจริญ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้คือ ตนจักเป็นผู้มีศีล จักสำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย. จักเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบากซึ่งกถาอันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายในการเปิดจิต คืออัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถาสีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา. จักเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม. จักเป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แหละภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประ-การนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ พึงเจริญเมตตาเพื่อละความพยาบาท พึงเจริญอานา-ปานสติเพื่อเข้าไปตัดวิตก พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันทีเดียว.

จบ สัมโพธิสูตรที่ ๑


มโนรถปูรณีอรรถกถาอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต

สัมโพธวรรควรรณนาที่ ๑อรรถกถาสัมโพธิสูตรที่ ๑สัมโพธวรรคที่ ๑ สัมโพธวรรคที่ ๑ แห่งนวกนิบาต สัมโพธิสูตรที่ ๑

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า สมฺโพธิกานํ ได้แก่ เจริญในฝ่ายแห่งธรรมเครื่องตรัสรู้กล่าวคือ มรรค ๔ อธิบายว่า เป็นอุปการะ ย่อมถามมุ่งถึงธรรม ๙ ประ-การซึ่งมาแล้วในบาลี. บทว่า กา อุปนิสา ได้แก่ อะไรเป็นเหตุคือเป็นปัจจัย. กถาชื่อว่า อภิสลฺเลขิกา เพราะย่อมขัดเกลากิเลส.ชื่อว่า เจโตวิวรณสปฺปยา เพราะเป็นที่สบายและมีอุปการะในการเปิดจิตด้วยสมณะและวิปัสสนา. ถ้อยคำที่เป็นไปปรารภถึงความมักน้อยชื่อว่าอัปปิจฉกถา แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อสุภา ภาเวตพฺพา ราคสฺส ปหานาย เนื้อความพึงอธิบายให้แจ่มแจ้ง ด้วยการเปรียบเทียบกับคนผู้เกี่ยวข้าวสาลีดังต่อไปนี้ ได้ยินว่า บุรุษคนหนึ่งถือเคียวแล้วเกี่ยวข้าวสาลีทั้งหลาย ในนาข้าวสาลีตั้งแต่ปลาย. ต่อมา โคทั้งหลายทำลายรั้วนาข้าสาลีนั้นแล้วเข้าไป เขาวางเคียว ถือไม้ไล่โคทั้งหลายออกไปตามทางนั้นแล ทำรั้วให้เป็นปกติแล้ว จึงถือเคียวเกี่ยวข้าวสาลีอีก. ในข้อเปรียบเทียบนั้นพึงเห็นพระพุทธศาสนา เปรียบเหมือนนาข้าวสาลี พระโยคาวจรเปรียบเหมือนคนผู้เกี่ยวข้าวสาลี ปัญญาเปรียบเหมือนเคียวเวลาทำวิปัสสนาเปรียบเหมือนเวลาเกี่ยว อสุภกัมมัฏฐานเปรียบเหมือนไม้ ความสำรวมระวังเปรียบเหมือนรั้ว ความเลินเล่อยังไม่ทันพิจารณาราคะเกิดขึ้นฉับพลัน เปรียบเหมือนโคทั้งหลายทำลายรั้วแล้วเข้าไป เวลาที่ข่มราคะไว้ได้ด้วยอสุภกัมมัฏฐานแล้วเริ่มทำวิปัสสนาอีก เปรียบเหมือนการวางเคียวถือไม้ไล่โค ออกไปตามทางที่เข้ามานั้นแล ทำรั้วให้กลับเป็น

ปกติแล้ว จึงเกี่ยวข้าวสาลีอีก. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงเนื้อความนี้ จึงตรัสว่า อสุภา ภาเวตพฺพา ราคสฺส ปหานาย ดังนี้ ในบทเหล่านั้น บทว่า ราคสฺส ได้แก่ ราคะประกอบด้วยเบญจกามคุณ. เมตตากัมมัฏฐาน ชื่อว่าเมตตา. บทว่า พฺยาปาทสฺส ปหานาย ได้แก่ เพื่อละความโกรธที่เกิดขึ้นโดยนัยที่กล่าวแล้ว. บทว่าอานาปานสติ ได้แก่ อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก) มีอารมณ์ ๑๖. บทว่า วิตกฺกูปจฺเฉทาย ได้แก่ เพื่อเข้าไปตัดวิตกทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยนัยที่กล่าวนั้น. บทว่า อสฺมิมานสมุคฺฆาตาย ได้แก่เพื่อถอนมานะ ๙ อย่างที่เกิดขึ้นว่า เรา ดังนี้. บทว่า อนตฺตสฺญฺญาสณฺฐาติ ได้แก่ เมื่อบุคคลเห็นอนิจจลักขณะแล้ว อนัตตลักขณะก็ได้เห็นแล้วเหมือนกัน. ด้วยว่า ในลักขณะสามเหล่านั้น เมื่อเห็นลักขณะหนึ่งแล้ว สองสักขณะนอกนี้ก็ได้เห็นแล้วเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า อนิจฺจสญฺิโนภิกฺขเว อนตฺตสญฺฐา สณฺญาติ ดังนี้. บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม นิพฺพานํ ความว่า ผู้ที่ได้อนัตตสัญญา ย่อมถึงการดับสนิทโดยไม่มีปัจจัยในปัจจุบันทีเดียว. ในสูตรนี้ท่านกล่าวไว้ ทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.

จบ อรรถกถาสัมโพธิสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปริศนา
วันที่ 3 ก.ย. 2551


อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 3 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 3 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chakri
วันที่ 3 ก.ย. 2551
สาธุ สาธุ สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prakaimuk.k
วันที่ 4 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ....
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
opanayigo
วันที่ 4 ก.ย. 2551

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 5 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 17 ต.ค. 2554

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ