ความเห็นผิด...ซึ่งอาศัยการชักจูงของบุคคลอื่น

 
พุทธรักษา
วันที่  4 ก.ย. 2551
หมายเลข  9758
อ่าน  1,122

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๓๒ บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

โลภมูลจิตดวงที่ ๒ ก็คือ "โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ" คือจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นโสมนัสไม่ใช่จิตที่มีกำลังแรงกล้า จึงเป็นสสังขาริก เมื่อเกิดความไม่รู้ในลักษณะของนามของรูปหมายถึง "ฆนสัญญา" คือ ขณะที่เห็น สิ่งที่ประชุมรวมกันว่า เป็นกลุ่มเป็นก้อนและมีการยึดถือว่า เป็นตัวตนแล้วยังมีคำสอน ที่ได้ยินได้ฟังเป็นไปในเรื่องของตัวตน หนักแน่นขึ้นอีกไม่เห็นว่ามีการเกิดขึ้น ไม่เห็นว่ามีการดับไป ถึงแม้ว่าตายไปแล้วจากโลกนี้ แต่อัตตาก็ยังอยู่นี่เป็นสภาพความเห็นผิด ซึ่งอาศัยการชักจูงของบุคคลอื่น การได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วขาดการพิจารณาอย่างถูกต้องก็ทำให้เชื่อถือในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงได้ นั่นก็คือ "โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ" มีข้อสงสัยไหม เวลาที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของรูปก็จะต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง คือสี สิ่งที่ปรากฏทางหู ก็เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง คือเสียง สิ่งที่ปรากฏทางจมูก ก็เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง คือกลิ่น สิ่งที่ปรากฏทางลิ้น ก็เป็นลักษณะของรูปชนิดหนึ่ง คือรส สิ่งที่ปรากฏทางกายก็เป็นลักษณะของรูป คือรูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง รูปตึง รูปไหว

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติ เป็นผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญฟัง เทียบเคียง สอบทาน แม้ในขณะที่สติเกิด ถ้ามีลักษณะของรูป ที่ปรากฏ ก็เป็นรูปปรมัตถ์ ถ้าไม่มีลักษณะของรูปที่ปรากฏ ก็ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ แต่เป็นสิ่งที่ท่านมี (ฆน) สัญญา ยึดโยงรูปนั้นไว้

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์


พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ธรรมทั้งหลาย อันชนพวกใด แทงตลอดดีแล้วชนพวกนั้น ย่อมไม่ถูกจูงไป ในวาทะของชนพวกอื่นบุคคล ผู้รู้ดีทั้งหลาย รู้ทั่วถึงโดยชอบแล้วย่อมประพฤติเสมอ ในหมู่สัตว์ ผู้ประพฤติไม่เสมอ

อัปปฏิวิฑิตสูตรพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรคเล่มที่ ๑ ภาคที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 4 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
opanayigo
วันที่ 4 ก.ย. 2551

อนุโมทนานะคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
choonj
วันที่ 4 ก.ย. 2551

นกสามตัวบินตามกัน ถ้าคุณปริศนาเป็นนกตัวที่หนึ่งแล้วเห็นผิด ตัวที่สองก็น่าจะเห็นผิดด้วยพร้อมกับตัวที่สาม เพราะถูกตัวที่หนึ่งชวน ถ้าคุณปริศนาเป็นนกตัวที่หนึ่งแล้วไม่เห็นผิด ถามว่าตัวที่สองและสามเมื่อถูกชวนยังจะเห็นผิดได้ไหม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปริศนา
วันที่ 4 ก.ย. 2551

คิดเป็นเรื่องยาวไปถึงไหนๆ แล้วค่ะ

พิจารณาข้อความที่ท่านอาจารย์บรรยาย เพื่อเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานดีกว่าไหมคะ

จุดประสงค์คือความเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องราวค่ะ

ขออนุโมทนา...ถ้าจะกลับไปทบทวนเพื่อความเข้าใจ...อีกครั้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prakaimuk.k
วันที่ 5 ก.ย. 2551

ขอนำข้อความจาก พระอภิธรรมมัตถสังคหะ ในเรื่องสาเหตุของอสังขาริก (ไม่ถูกชักจูง) และสสังขาริก (ถูกชักจูง) เพื่อเกื้อกูลต่อความเข้าใจและการพิจารณาค่ะ...

เหตุให้เกิดอสังขาริก ๖ คือ

๑. เป็นผู้มีปฏิสนธิดัวยกรรมที่เป็นอสังขาริก หมายความว่า เป็นผลของกรรมที่เป็นอสังขาริก เมื่อกรรมที่เป็นอสังขาริกเป็นชนกกรรมนำปฏิสนธิ ก็ทำไห้ปฏิสนธิจิตเป็นอสังขาริก ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยกรรมที่เป็นอสังขาริกนั้น ย่อมเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ฉะนั้น เมื่อจะทำกิจการใด ก็ย่อมกล้าที่จะทำตามลำพัง ไม่ต้องอาศัยการชักชวน ไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อี่น

๒. เป็นผู้มีกายและจิตแข็งแรง หมายความว่าสภาพจิตและกายของบุคคลนั้น มีความสามารถในตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่งชักนำจากคนอื่น สภาพจิตตุปบาทของเขานั้น ย่อมเกิดเมื่อถึงเวลาสมควร กุศลก็ดี อกุศลก็ดี ที่เขาได้อบรมสั่งสมมานั้น ย่อมมีกำลังกล้าขึ้นเอง เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องชักชวน ไม่คล้อยตามใครๆ ได้ง่าย

๓. เป็นผู้มากด้วยความอดทน หมายความว่า เป็นผู้มีความอดทน พยายามต่อความหนาว ความร้อน ทนต่อสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่จิตของตนจนเกิดความเคยชิน ธรรมดาผุูเข้มแข็งอดทนย่อมทำกรรมใดๆ ด้วยจิตที่เป็นอสังขาริก ไม่ต้องคอยอาศัยการชักชวนของผู้อื่น เพราะเคยอดทนต่อความยากลำบากมาก และผ่านอุปสรรคมามาก ถึงจะประสบความผิดพลาด ก็พยายามแก้ไข ไม่ท้อถอย

๔. เป็นผู้เห็นประโยชน์ในการงานที่พึงกระทำ หมายความว่า จิตของเขาได้เห็นผลจากการงานที่สำเร็จจากการกระทำมาแล้ว เมื่อเห็นประโยชน์ในการงานนั้นๆ ก็ย่อมกล้าที่จะทำเอง โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่นชักชวน

๕. เป็นผู้ชำนาญในการงานทั้งหลาย หมายความว่า เป็นผู้เคยทำการงานนั้นๆ มาแล้วจึงมีความชำนาญ ไม่ต้องอาศัยคนอื่นชักนำ หรือชักจูงให้กล้าทำ เพราะเคยทำและมั่นใจ

๖. ได้ความสบายใจในอุตุ และโภชนะ เป็นต้น หมายความว่า ได้รับฤดู คืออากาศที่ดี อาหารที่เหมาะสม มีความสะดวกสบาย คือมีอนามัยดี ปราศจากโรคภัย เมื่อร่างกายไม่มีโรคเบียดเบียน จิตก็ปลอดโปร่ง สบาย เข้มแข็ง ที่อ่อนแอสามารถทำกิจการใดๆ ด้วยจิตที่เป็นอสังขาริก

สำหรับเหตุให้เกิดสสังขาริก ๖ ก็มีเนื้อความตรงกันข้ามกับเหตุที่ทำให้เกิดอสังขาริก ๖ นั้นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 5 ก.ย. 2551

การได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วขาดการพิจารณาอย่างถูกต้องก็ทำให้เชื่อถือในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงได้ นั่นก็คือ "โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ"

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปริศนา
วันที่ 5 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาคุณ prakaimuk.k ค่ะ ที่กรุณาแสดงข้อความเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาต่อไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pornpaon
วันที่ 6 ก.ย. 2551

ละเอียดมากๆ

ขอบพระคุณค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
คุณ
วันที่ 9 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
pamali
วันที่ 12 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เข้าใจ
วันที่ 5 มี.ค. 2556

ขอกราบอนุโมทนาในสัจจะ ธัมมะความจริงเพื่อยังใหักุศลธรรมเจริญขึ้นด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ