การพิจารณาสภาวธรรม

 
Nareopak
วันที่  7 ก.ย. 2551
หมายเลข  9783
อ่าน  1,866

ขอถามเกี่ยวกับการพิจารณาสภาวธรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่ออาบน้ำรู้สึกตัวว่ากายสัมผัสความเย็น พิจารณาดูจิต บางครั้งมีสุขเวทนา (ชอบใจ) บางครั้งมีทุกขเวทนา (น้ำเย็นเกินไป) หลังอาบน้ำพิจารณาความรู้สึกชอบ (สดชื่น) ดับไปแล้ว การพิจารณาแบบที่กล่าวมานี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไรค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 8 ก.ย. 2551

การพิจารณาสภาวธรรมในชีวิตประจำวัน ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แต่สภาวธรรมใดปรากฏก็รู้หรือพิจารณาสิ่งนั้นว่าเป็นธัมมะ เป็นนาม เป็นรูป อย่างไรไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาย่อมรู้และพิจารณาโดยความละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น พิจารณารู้ปัจจัย สมุฏฐาน เหตุเกิด ความดับ เป็นต้น ในเบื้องต้นยังไม่ต้องห่วงหรือรีบพิจารณาอะไร ขอให้ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าใจมากยิ่งขึ้น ปัญญาย่อมกระทำกิจของปัญญาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 8 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 8 ก.ย. 2551

"...ในเบื้องต้นยังไม่ต้องห่วงหรือรีบพิจารณาอะไร ขอให้ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

เมื่อเข้าใจมากยิ่งขึ้น ปัญญาย่อมกระทำกิจของปัญญาครับ..."

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ควรเข้าใจก่อนครับว่า สติปัฏฐานจริงๆ แล้วคืออะไร สติปัฏฐาน คือการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยรู้ลักษณะว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราในขณะนั้น ที่สำคัญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏ เช่น พยายามดู ตามดูสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น คิดว่าขณะนี้เป็นสภาพเย็น คิดพิจารณาว่าเป็นความรู้สึกชอบ ขณะที่คิดพิจารณาอย่างนั้น ไม่ได้ไถ่ถอนหรือรู้ความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราเลย เพราะไม่มีลักษณะของสภาพธรรมให้รู้ เป็นแต่เพียงการคิดถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้วเท่านั้น การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้รู้สึกเฉยๆ กับสิ่งที่มากระทบ แต่ต้องเป็นปัญญารู้ความจริงในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 8 ก.ย. 2551

ที่สำคัญสำหรับการอบรมปัญญา (สติปัฏฐาน) จะต้องมีความเข้าใจมั่นคงในเรื่องของความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือบังคับบัญชาให้เกิดไม่ได้เพราะเป็นธรรมไม่ใช่เรา สติและปัญญาก็เป็นธรรม เช่นกัน บังคับว่าจะให้เกิดเลือกให้รู้ขณะนั้น หรือเลือกเกิดตอนอาบน้ำ เลือกเกิดรู้อารมณ์นี้ เป็นไปไม่ได้เลย แต่ขณะที่เลือก พยายามจะดูนั้นเป็นความต้องการ (โลภะ) ที่อยากจะรู้สภาพธรรมที่เกิดขณะนั้น โดยไม่รู้ตัวเลยว่าขณะนั้นเป็นโลภะที่เกิดขึ้น

สติปัฏฐานจึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิด แต่อาศัยการฟังให้เข้าใจทีละเล็กละน้อย สติปัฏฐานไม่ใช่การคิด ไม่ใช่การตามดูจิต เพราะขณะนั้นลืมความเป็นอนัตตา และไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ครับ ฟังต่อไปในหนทางนี้นะครับ ถ้าฟังหลายแนวทางจะสับสนคิดว่ามีตัวตนที่จะตามดูจิตได้ครับ ช้าๆ แต่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี ขออนุโมทนาครับ อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปริศนา
วันที่ 8 ก.ย. 2551

การฟังธรรม ศึกษาธรรม

พิจารณาธรรมที่ได้ศึกษาเป็นปัจจัยแก่สติปัฏฐาน.
ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 8 ก.ย. 2551

เมื่ออาบน้ำรู้สึกตัวว่ากายสัมผัสความเย็น พิจารณาดูจิต บางครั้งมีสุขเวทนา (ชอบใจ) บางครั้งมีทุกขเวทนา (น้ำเย็นเกินไป) หลังอาบน้ำพิจารณาความรู้สึกชอบ (สดชื่น) ดับไปแล้ว

ทุกๆ คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็สามารถรู้ได้เมื่ออาบน้ำว่ากายสัมผัสความเย็น พิจารณาดูจิตบางครั้งชอบใจ บางครั้งทุกข์ใจและหลังอาบน้ำพิจารณาความรู้สึกชอบ การพิจารณาอย่างนี้เป็นตัวตน เป็นเราที่พิจารณารู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สติ ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะสติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครได้ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ด้วยการศึกษาพิจารณาให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฎในชีวิต

ปัจจุบันไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฎในชีวิตปัจจุบันอย่างปกติ (แม้ไม่มีความต้องการให้สติเกิด) ความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นๆ ในลักษณะของสภาพธรรมเป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฎฐานเกิด ต้องค่อยๆ อบรมเจริญปัญญา จิรกาลภาวนาค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
choonj
วันที่ 9 ก.ย. 2551


ขณะอาบน้ำมีสุขเวทนา (ชอบใจ) เป็นโลภะ ทุกขเวทนา (น้ำเย็นเกินไป) เป็นโทสะ อาบน้ำเสร็จรู้สีกชอบ (สดชื่น) เป็นโลภะอีก ถามว่าอย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า เป็น (สงสัย) วิจิกิจฉา พิจารณาอย่างนี้ไม่จำเป็นจะต้องขณะอาบน้ำ พิจารณาได้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 10 ก.ย. 2551

ขณะที่รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมะ ขณะนั้นไม่ใช่การคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ชื่อ เรื่องราว และต้องไม่ปรากฏปะปนเหมือนพร้อมกันกับทวารอื่นๆ อย่างในขณะที่ไม่รู้ ขณะที่นึกถึงคำ เช่น ชอบก็นึกว่าเป็น "โลภะ" ไม่ชอบก็นึกว่าเป็น "โทสะ" ขณะนั้นเป็นความเข้าใจในขั้นคิดนึก แต่สภาพธรรมะนั้นดับไปนานแล้ว ไม่ใช่ขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกไปในสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ตรงตามความเป็นจริงครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 11 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wirat.k
วันที่ 15 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
pornpaon
วันที่ 15 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ