ความยำเกรงในสงฆ์ทำได้ยาก [ทักขิณาวิภังคสูตร]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  9 ก.ย. 2551
หมายเลข  9794
อ่าน  2,888

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 407

ข้อความบางตอนจาก..

ทักขิณาวิภังคสูตร

ก็ทักขิณาที่ถึงสงฆ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้อาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ แต่ความยำเกรงในสงฆ์ ทำได้ยาก ก็บุคคลได้เตรียมไทยธรรมด้วยคิดว่า เราจักให้ทักขิณาถึงสงฆ์ ไปวิหารแล้วเรียนว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจง ให้พระเถระรูปหนึ่งเจาะจงสงฆ์เถิด ลำดับนั้น ได้สามเณรจากสงฆ์ย่อมถึง ความเป็นประการอื่นว่า เราได้สามเณรแล้ว ดังนี้ ทักขิณาของบุคคลนั้น ย่อมไม่ถึงสงฆ์ เมื่อได้พระมหาเถระแม้เกิดความโสมนัสว่า เราได้มหาเถระ แล้ว ดังนี้ ทักขิณาก็ไม่ถึงสงฆ์เหมือนกัน ส่วนบุคคลใดได้สามเณร ผู้อุปสมบทแล้ว ภิกษุหนุ่ม หรือเถระ ผู้พาล หรือ บัณฑิต รูปใดรูปหนึ่งจากสงฆ์แล้ว ไม่สงสัย ย่อมอาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ว่า เราจะถวายสงฆ์ ทักขิณาของบุคคลนั้นเป็นอัน ชื่อว่าถึงสงฆ์แล้ว ได้ยินว่า พวกอุบาสกชาวสมุทรฝังโน้น กระทำอย่างนี้ ก็ในอุบาสกเหล่านั้น คนหนึ่งเป็นเจ้าของวัด เป็นกุฏุมพี เจาะจงจากสงฆ์ว่า เราจักถวายทักขิณาที่ถึงสงฆ์ จึงเรียนว่า ขอท่านจงให้ภิกษุรูปหนึ่ง

อุบาสกนั้น ได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง พาไปสู่สถานที่นั่ง ปูอาสนะผูกเพดานเบื้องบน บูชาด้วยของหอม ธูป และดอกไม้ ล้างเท้า ทาด้วยน้ำมัน ได้ถวายไทยธรรมด้วยความยำเกรงในสงฆ์ ดุจทำความนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้น มาสู่ประตูเรือนว่าท่านจงให้จอบเพื่อประโยชน์ แก่การปฏิบัติวัดในภายหลังภัต อุบาสกนั่งเขี่ยจอบด้วยเท้าแล้วให้ว่า จงรับไป มนุษย์ทั้งหลายได้กล่าวกะเขานั้นว่าท่านได้ทำสักการะแก่ภิกษุนี้แต่เช้าตรู่เทียว ไม่อาจเพื่อจะกล่าว บัดนี้ แม้สักว่า อุปจาระ (มรรยาท) ก็ไม่มีนี้ชื่อว่าอะไร ดังนี้.

อุบาสก กล่าวว่า แนะนาย ความยำเกรงนั้นมีต่อสงฆ์ ไม่มีแก่ภิกษุนั้น ถามว่า ก็ใครย่อมยังทักขิณาที่ถวายสงฆ์ ซึ่งมีภิกษุมีผ้ากาสาวะ พันคอให้หมดจด ตอบว่า พระมหาเถระ ๘๐ รูป มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เป็นต้น ย่อมให้หมดจดได้ อนึ่ง พระเถระทั้งหลายปรินิพพาน นานแล้ว พระขีณาสพทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ตั้งแต่พระเถระเป็นต้น จนถึงทุก วันนี้ ย่อมให้หมดจดเหมือนกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 9 ก.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถามว่า ก็ใครย่อมยังทักขิณาที่ถวายสงฆ์ ซึ่งมีภิกษุมีผ้ากาสาวะ พันคอให้หมดจด ตอบว่า พระมหาเถระ ๘๐ รูป มีพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ เป็นต้น ย่อมให้หมดจดได้ อนึ่ง พระเถระทั้งหลายปรินิพพานนานแล้ว พระขีณาสพทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระเถระเป็นต้น จนถึงทุกวันนี้ ย่อมให้หมดจดเหมือนกัน

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
michii
วันที่ 16 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
opanayigo
วันที่ 10 ต.ค. 2551

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
mick
วันที่ 30 มี.ค. 2552

อุบาสกนั้น ได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง พาไปสู่สถานที่นั่ง ปูอาสนะผูกเพดานเบื้องบน บูชาด้วยของหอม ธูป และดอกไม้ ล้างเท้า ทาด้วยน้ำมัน ได้ถวายไทยธรรมด้วยความยำเกรงในสงฆ์ ดุจทำความนอบน้อม แด่พระพุทธเจ้า.

ภิกษุรูปนั้น มาสู่ประตูเรือนว่าท่านจงให้จอบเพื่อประโยชน์แก่การปฏิบัติวัดในภายหลังภัต อุบาสกนั่งเขี่ยจอบด้วยเท้าแล้วให้ว่า จงรับไป มนุษย์ทั้งหลายได้กล่าวกะเขานั้นว่าท่านได้ทำสักการะแก่ภิกษุนี้แต่เช้าตรู่เทียว ไม่อาจเพื่อจะกล่าว บัดนี้ แม้สักว่า อุปจาระ (มรรยาท) ก็ไม่มีนี้ชื่อว่าอะไร ดังนี้ อุบาสก กล่าวว่า แนะนาย ความยำเกรงนั้นมีต่อสงฆ์ ไม่มีแก่ภิกษุนั้น

หมายถึงว่า ถ้าเราจะทำบุญกับพระสงฆ์ทุศีลแต่เราคิดผ่านเลยไปให้ถวายแด่สงฆ์ ถูกไหมค่ะ ขอรบกวนท่านผู้รู้ช่วยแปลให้ด้วยค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prachern.s
วันที่ 31 มี.ค. 2552

ทำบุญอุทิศต่อสงฆ์ แม้ผู้ที่เป็นตัวแทนของสงฆ์เป็นผู้ทุศีลก็สำหรับเป็นสังฆทาน แต่ขั้นตอนตั้งแต่แรกต้องมุ่งตรงต่อสงฆ์ไม่เลือกผู้รับและจิตไม่หวั่นไหวว่าใครเป็น ตัวแทนมารับทาน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
mick
วันที่ 2 เม.ย. 2552

"ก็ทักขิณาที่ถึงสงฆ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้อาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ แต่ความยำเกรงในสงฆ์ ทำได้ยาก."

เรียน คุณ prachern.s ค่ะ

ข้อความที่อ้างถึงนี้ จะหมายถึงว่าจะต้องตั้งจิตไว้อย่างไม่หวั่นไหว เคลือบแคลงสงสัยอะไรในภิกษุนั้น แต่จิตเรานั้นทำไม่ได้ง่ายใช่หรือเปล่าค่ะ สาธุค่ะ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 409

กาสาวะพันคอในอนาคต พึงกล่าวตามสมัยนั้นเท่านั้น ก็สมณปุถุชนซึ่งนำไป เฉพาะจากสงฆ์ เป็นปาฏิบุคคลิกโสดาบัน เมื่อบุคคลอาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ ทานที่ให้ในสมณะผู้ปุถุชน มีผลมากกว่า ในคำแม้มีอาทิว่า โสดาบันอันทายกถือเอาเจาะจง เป็นปาฏิบุคคลิกสทาคามี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน จริงอยู่เมื่อบุคคลอาจเพื่อทำความยำเกรงในสงฆ์ ให้ทานแม้ในภิกษุทุศีลซึ่งเจาะจงถือเอา มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายในพระขีณาสพนั้นแล ก็คำใดที่กล่าวว่า ดูก่อนมหาบพิตร ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลแล มีผลมากทานที่ให้ในผู้ทุศีลหามีผลมากอย่างนั้นไม่ คำนั้นพึงละนัยนี้แล้ว พึงเห็นในจตุกะนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ ก็ความบริสุทธิแห่งทักขิณานี้มี ๔ อย่าง

บทว่า ทายกโต วิสุชฺฌติ ความว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ โดยความมีผลมาก อธิบายว่า เป็นทาน มีผลมาก

บทว่า กลฺยาณธมฺโม ได้แก่ มีสุจริตธรรม

บทว่า ปาปธมฺโม คือ มีธรรมอันชั่ว ก็พึงแสดงพระเวสสันดรมหาราชในบทนี้ว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ก็พระเวสสันดรมหาราชนั้น ทรงให้พระโอรสพระธิดาแก่พราหมณ์ชูชกแล้ว ยังแผ่นดินให้หวั่นไหว พึงแสดงนายเกวัฏฏะ ผู้อาศัยอยู่ที่ประตูปากน้ำกัลยาณนทีในคำนี้ว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก. ได้ยินว่า เกวัฏฏะนั้น ได้ถวายบิณฑบาตแก่พระทีฆโสมเถระถึง ๓ ครั้ง นอนบนเตียงเป็นที่ตาย ได้กล่าวว่า บิณฑบาตที่ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าทีฆโสมเถระ ย่อมยกข้าพเจ้าขึ้น พึงแสดงถึงพรานผู้อยู่ในวัฑฒมานะ

ในบทว่า เนว ทายกโต นี้ ได้ยินว่า นายพรานนั้นเมื่อให้ทักขิณาอุทิศถึงผู้ตายได้ให้แก่ภิกษุผู้ทุศีลรูปหนึ่งนั้น แลถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ อมนุษย์ร้องขึ้นว่า ผู้ทุศีลปล้นฉัน ดังนี้ ในเวลาที่พรานนั้นถวายแก่ภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่งมาถึง ผลของทักขิณาก็ถึงแก่เขา พึงแสดงอสทิสทานในคำนี้ว่า ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ ฝ่ายทายกเท่านั้น

และขอถามต่อว่าจากพระสูตรนี้ค่ะเพราะท่านที่ยกพระสูตรตั้งกระทู้ยกมาไม่หมดพระสูตรนั้น ไปอ่านพบเข้าก็คิดสงสัยว่าที่เป็นตัวแดงน่ะค่ะว่าการทำบุญกับภิกษุทุศีล การที่เราจะอุทิศบุญให้ผู้ตาย ญาติเราจะไม่ได้รับผลบุญใช่หรือเปล่าค่ะและที่เป็นตัวน้ำเงินคือทำบุญกับภิกษุผู้มีศีล เราอุทิศให้ผู้ตายเขาจึงจะได้รับผลบุญ และคำว่า ปล้นฉันนั้นหมายถึงว่าเขาไม่ได้รับผลบุญที่อุทิศให้หรือเปล่าค่ะ ต้องขออภัยด้วยค่ะที่ชอบสงสัย เพราะอยากรู้ให้แจ่มแจ้งมากกว่าที่สงสัยอยู่ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็เป็นประโยชน์ที่ชาวพุทธจะต้องปฎิบัติตัวได้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์นะค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prachern.s
วันที่ 3 เม.ย. 2552

๑. ถูกต้องครับ ความยำเกรงในสงฆ์ ทำได้ยาก ยิ่งในยุคปัจจุบัน เห็นความประพฤติของภิกษุบุคคลที่ไม่เหมาะสม จะให้ยำเกรงท่านเหมือนพระอริยะจึงทำได้ยาก และเมื่อนิมนต์ท่านมารับ จิตเราหวั่นไหว คือเสียใจหรือดีใจก็ไม่ถึงสงฆ์เหมือนกัน

๒. ถ้าญาติผู้ล่วงลับไปแล้วไม่อนุโมทนา ชื่อว่า การอุทิศให้ไม่สำเร็จ ส่วนว่าปล้นก็คงจะทำนองนั้น เพราะผู้ทุศีลทำลายประโยชน์ของผู้ให้ทาน และญาติของผู้ให้ทาน แทนที่เขาจะได้บุญมากกลับได้บุญน้อย และไม่สำเร็จแก่ผู้ตายด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ