การศึกษาพระธรรมวินัย...ต้องเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก

 
พุทธรักษา
วันที่  10 ก.ย. 2551
หมายเลข  9817
อ่าน  1,072

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๓๔ บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ท่านอาจารย์ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่เพียงเพื่อให้สัตว์โลกบรรลุคุณธรรม เป็นเพียงพระโสดาบันแต่ให้ถึงกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์เลยทีเดียว ซึ่งการที่จะบรรลุคุณธรรมที่จะทำให้สงบทั้งปวง แล้วก็ปรินิพพานได้นั้นก็ด้วยหนทางเดียวเท่านั้นค่ะคือ การเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแล้วก็ละกิเลส เป็นขั้นๆ

เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความเหนียวแน่นของโลภมูลจิต และสราคะจิตว่ามีประเภทต่างๆ กัน ผู้ที่เป็นปุถุชนก็เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นกามาสวะได้ ที่เป็นทิฏฐาสวะได้เวลาผู้นั้นบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ดับทิฏฐาสวะก็ยังเป็นบุคคลที่มีกามาสวะ ภวาสวะและอวิชชาสวะ ท่านก็ระลึกรู้ต่อไปอีกจนกว่าจะเป็นพระสกทาคามีบุคคล จนเมื่อบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็หมดกามาสวะ ทิฏฐาสวะ แต่ยังมีภวาสวะและอวิชชาสวะ เมื่อเจริญสติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์กามาสวะ ทิฏฐาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ก็ดับเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้นะคะว่า ถ้าท่านเจริญสติ ท่านจะระลึกรู้ลักษณะของจิตเหล่านี้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าสิ่งใดเกิดขึ้น คือจิตประเภทไหนเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยยังมีอยู่ จิตประเภทนั้นก็ต้องเกิดอีก อย่างเช่น ทิฏฐาสวะ ยังไม่หมด

เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังจะต้องมี ทิฏฐาสวะเกิดขึ้น ปรากฏเป็น "โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์" ให้จิตสำเหนียก (คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้ง เป็นวิปัสสนาญาณในแต่ละขั้น ตามลำดับ)

"ปัญญา" ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่าจะดับทิฏฐาสวะได้ (คือ ปัญญาที่เกิดกับโสดาปัตติมัคคจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ซึ่งสามารถดับทิฏฐาสวะได้ทั้งหมด) และบรรลุอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่เมื่อยังมีปัจจัยของจิตประเภทอื่นเกิดขึ้น จิตประเภทนั้นก็เกิดขึ้นได้ ยังมีข้อสงสัยไหมคะ

คุณเอนก เมื่อคราวที่แล้ว อาจารย์ได้กรุณาอธิบายถึงความหมายของคำว่าเห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูปเฉพาะข้อ ๒ ๓ ๔ หมายความว่าเมื่อไปยึดมั่นเอานามขันธ์ทั้ง ๔ คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่าเป็นตนเลยเข้าใจว่า ตนนั่นแหละมีรูป หรืออะไรเช่นนี้ทีนี้ นามขันธ์ ๔ ทั้งหมดนะครับ

คือ ข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ คือ เอานามทั้งนั้นมาเป็นตน ทีนี้บางท่าน อธิบายว่าการที่จะต้องพิจารณาเฉพาะนาม อย่างนี้นะครับก็เพราะว่า เมื่อตาเห็นสี ให้พิจารณาเฉพาะเห็นพิจารณาจิตเห็น อย่างนี้ถูกต้องไหมครับ

ท่านอาจารย์ เรื่องของสักกายทิฏฐิ ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่เพียง ๕ คือการยึดถือรูปเป็นตน เวทนาเป็นตน สัญญาเป็นตน สังขารเป็นตน และ วิญญาณเป็นตน เท่านั้นแต่ยังทรงจำแนกไปถึง ๒ ประการ คือขันธ์ละ ๔ อย่าง

ผู้เจริญสติ สามารถที่จะสำเหนียกรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิในขณะนั้น ว่าเป็นอย่างไร บางท่านที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูป ก็เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่ปรากเป็นรูปแต่สักกายทิฏฐิ ยังคงอยู่ที่นามขันธ์คือ ที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่กำลังพิจารณา ระลึกรู้นามขันธ์ใด เป็นต้นว่า จะระลึกรู้ลักษณะของวิญญาณขันธ์ ว่าเป็นนามธรรม แต่ไม่ได้พิจารณารูปขันธ์ ก็ยึดถือรูปขันธ์ว่า เป็นตัวตน

คุณเอนก ที่ท่านให้กำหนดเฉพาะ พิจารณาเฉพาะขันธ์

ท่านอาจารย์ ดิฉันขอข้อความในพระไตรปิฎกสักแห่งหนึ่ง ที่จะให้เจาะจงให้พิจารณาแต่เฉพาะนามธรรมทางตา ให้รู้แต่ลักษณะเห็น ไม่ใช่ให้รู้ลักษณะของสี ทางหูให้รู้แต่ลักษณะได้ยิน ไม่ใช่ให้รู้ลักษณะของเสียง ทางจมูก ให้รู้แต่ลักษณะได้กลิ่นไม่ให้รู้ลักษณะของกลิ่น ทางลิ้น ให้รู้แต่ลักษณะสภาพรู้รสไม่ให้รู้ ลักษณะของรส ทางกาย ให้รู้แต่ลักษณะสภาพรู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว แต่ไม่ให้รู้ลักษณะของรูป เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ขอพยัญชนะข้อความที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ซึ่งไม่มี

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์



ธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงแล้ว เป็นสัจธรรม ที่ทรงแสดงว่าเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง รู้ได้ยาก รู้ตาม เห็นตาม ได้ยากสงบ ประณีต ไม่อาจรู้ได้ ด้วยการตรึกละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิต จะรู้ได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
orawan.c
วันที่ 11 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 11 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 11 ก.ย. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 12 ก.ย. 2551

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาคุณปริศนาและทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noparat
วันที่ 16 ก.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 25 ก.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pamali
วันที่ 15 ก.ค. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ